เปิด 7 ภารกิจร้อน ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ ปั้มเศรษฐกิจไทยฟื้น
ปัญหาของเศรษฐกิจไทยตลอดหลายปีผ่านมา ประสบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลาย ๆ ด้านพร้อม ๆ กัน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาสังคมตามมาอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประชาชนในระดับรากหญ้า มักจะพูดอยู่เสมอ ว่า “เศรษฐกิจไม่ดี” หรือ “ไม่มีเงินติดกระเป๋า” นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบันปี 2568 นานเกือบ 8 ปี ที่ทุกอย่างดูเหมือนจะดีขึ้นแล้ว
แต่ในทุกครั้งที่เกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก หรือใหญ่ เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน จนเกิดเรื่อง “ภาษีทรัมป์” ล้วนมีผลกระทบกับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทำให้ภาระหนักตกอยู่ที่การบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลมาตลอดทุกยุคทุกสมัย แม้ว่า จะมีความพยายามทุ่มเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มากเพียงใดก็ตาม
ดังนั้น การแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ขุนคลัง “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง จะเสอนชื่อ ผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่ ให้ ครม. พิจารณา ถือเป็นเรื่องสำคัญและต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
“ทีมเศรษฐกิจอีจัน” ได้รวบรวมปัญหา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่ ต้องเร่งดำเนินการมีทั้งหมด 7 ภารกิจที่ท้าทายในการเข้ามาแก้ไขปัญหา และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับรัฐบาล โดยไม่มองต่างมุม หรือยืนอยู่คนละฝั่ง คนละแนวความคิดอีกต่อไป หลังจากเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับมรสุมอย่างหนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
1.ปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่งทุบสถิติ
เปิดข้อมูลจาก ธปท. หนี้สินครัวเรือน ณ ไตรมาส 1/2568 มีจำนวน 16,351,063 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 87.4% ต่อจีดีพี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (1/2567) ที่หนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 16,370,438 ล้านบาท หรือคิดเป็น 90.7% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี เพราะหนี้ครัวเรือนปรับตัวเลข แต่ในความเป็นจริงหนี้ที่ลดลงนั้น มาจาก การหดตัวของสินเชื่อที่สถาบันการเงินปล่อยกู้ลดลง เนื่องจากสถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ตามภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงมากขึ้น จากรายได้ของประชาชนที่ลดลงแต่รายจ่ายเพิ่ม จำนวนการทำงานนอกเวลาลดลง หรือโอที ทำให้ยอดหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะการก่อหนี้ใหม่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ หากพิจารณาในรายละเอียด พบว่า เงินกู้ยืมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ มีจำนวนมากที่สุด 5,644,036 ล้านบาท รองลงมาเป็น สินเชื่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มีจำนวน 1,589,033 ล้านบาท สินเชื่อส่วนบุคคลอื่น 4,636,443 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพ มีจำนวน 2,919,756 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อครัวเรือนประเภทอื่น ๆ ชะลอลงทั้งหมด
โดยสินเชื่อที่ลดลงมากที่สุดเป็นรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล
2.สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ติดลบ
สาเหตุที่ทำให้เศษฐกิจไทยมีปัญหา และเปราะบางอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีหลายสาเหตุ ทั้งการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ให้มีความแข็งแกร่งมากและมีกำไรสูง ขณะที่ ภาคประชาชนต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยที่สูงและแพง ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์ชะลอการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบเนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยง ภาคประชาชนมีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง
นอกจากนี้ กรณีที่ ธปท.ไม่ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ เมื่อเทียบกับคู่แข่งทางการค้า ทำให้เงินบาทแข็งค่าและอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว ในบางครั้ง เพียงระยะเวลา 1 เดือน เงินบาทอ่อน หรือแข็งเกินว่า 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นี่คือ ต้นเหตุประการอีกหนึ่ง ทำให้เศรษฐกิจไทยย่ำแย่ เนื่องจากกลไกการทำงานของธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ทำงานอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ จากการตัวเลขปล่อยสินเชื่อที่ลดลง ณ เดือนพ.ค.2568 โดยในช่วงระหว่างปี 2568 -2562 รวม 7 ปี พบว่า เงินให้กู้ยืมแก่ภาคธุรกิจ และประชาชนไม่เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มลดลง (หรือเรียกว่า ไม่ได้เติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ) โดยช่วงเวลา 2568-2562 รวม 7 ปี เงินให้กู้ยิมหรือสินเชื่อทั้งระบบเป็นเงิน 12.8 , 13.10, 13.17, 13.19, 12.60, 12.25 และ 11.79 ล้านล้านบาท ตามลำดับ
จากข้อมูลดังกล่าว เห็นได้ว่า เงินให้กู้ยืมหรือการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไม่เพิ่มขึ้น หรือไม่ได้เติมเงินเข้าระบบเศรษฐกิจนั่นเอง จนเป็นเหตุให้ภาคธุรกิจและประชาชนยากลำบาก เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แต่ก็ไม่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจ ไม่อาจทำหน้าที่ในการผลิตให้เต็มกำลังผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับสินเชื่อหดตัว เหตุเกิดจากธนาคารไม่ปล่อยกู้ เนื่องจากสถาบันการเงินระมัดระวังความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้สูง และยังกังวลว่า ในอนาคตสินเชื่อที่ปล่อยไปนั้น จะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทำให้สินเชื่อช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และยังสอดคล้องกับตัวเลขการลงทุนเอกชนขยายตัวต่ำมากไม่ถึง 1% ในปี 2568
โดยสินเชื่อธุรกิจภาพรวมติดลบ โดย -0.4% แบ่งเป็นสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี 3.1% ขณะที่สินเชื่อธุรกิจรายย่อยติดลบทั้งหมด โดยสินเชื่อเอสเอ็มอี -3.4% ขณะที่สินเชื่ออุปโภค-บริโภคหดตัวที่ -0.5% แบ่งเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย อยู่ที่ 2.5% รถยนต์ -10.1% บัตรเครดิต -3.2% และส่วนบุคคล -0.1%
3.เงินเฟ้อต่ำ ขณะที่ดอกเบี้ยสูง
นโยบายการเงิน ธปท.ที่ว่างเป้าหมายอัตรางเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1-3% แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในระบบเศรษฐกิจ เงินเฟ้อของประเทศไทย อยู่ในระดับต่ำมากและยังต่ำกว่าเป้าของ ธปท. โดยเงินเฟ้อทั่วในปี2568 อยู่ที่ 0.5% และปี2569 ยังคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะอยู่ที่ 0.8% ก็ยังห่างไกลจากเป้าหมายที่ว่างไว้
แม้ว่า อัตราเงินเฟ้อยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด แต่ ธปท. ยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่หวังเก็บกระสุนไว้ใช้ในยามจำเป็น โดยไม่ลดอัตราดอกเบี้ยลง จากเดิมที่อยู่ในระดับสูง 2.50% เมื่อปี2567 แต่ถูกกระแสการเมืองที่ร้อนแรงกดดัน และประเด็นเงินเฟ้อ ที่อยู่ระดับต่ำกว่าเป้าหมาย ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยลงถึง 3 ครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน เริ่มตั้งแต่ ปลายปี2567 ต่อเนื่องถึงปี2568 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. อยู่ที่ 1.75% แต่ก็ยังไม่ได้มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อย่างใด
4.การรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท
การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องสำคัญ ในภาวะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเรียกเก็บภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้ ยังไม่มีข้อสรุปว่า ไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีส่งออกไปสหรัฐฯ ในอัตราใด และสินค้าที่สหรัฐฯ ส่งมายังประเทศไทย จะเสียภาษีในอัตรา 0% หรือไม่ ดังนั้น การรักษาเสถียรภาพให้กับค่าเงินบาท จึงเป็นสิ่งที่สำคัญทั้งสินค้าส่งออกและนำเข้าจากต่างประเทศ
หากค่าเงินบาท ผันผวนปรับขึ้นหรือลงอย่างเร็วรวด จะส่งผลให้ผู้ส่งอกและนำเข้า ต้องประสบกับการขาดทุน อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น บทบาทของ ธปท.ในการเข้าไปดูแลค่าเงินบาท จึงมีความสำคัญมาก แม้แต่ประเทศยักษ์ใหญ่ อย่างเช่น จีน ญี่ปุ่น ก็ใช้นโยบายค่าเงินอ่อนในการเพิ่มแต้มต่อให้กับการค้าและการแข่งขันของโลกเศรษฐกิจ
โดย ธปท. รายงานค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา เคลื่อนไหวผันผวนจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลก และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปี แข็งค่าขึ้นประมาณ 5.5% ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับภูมิภาค โดยค่าเงินบาท วันนี้ (21 ก.ค.) ปิดตลาดที่ระดับ32.38 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดือนม.ค.2568 ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 33.817 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ
5.หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) พุ่งทะยาน
ขณะเดียวกัน ในปีนี้ ยังเกิดแรงสั่นสะเทือนเกิดขึ้นกับสถาบันการเงิน จากตัวเลขหนี้ด้อยคุณภาพ หรือ เอ็นพีแอล ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรกปี 2568 มาอยู่ที่ 548,000 ล้านบาท คิดเป็น 2.9% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบ เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ที่อยู่ 2.78% ซึ่งหนี้ที่เพิ่มขึ้นสูงมากๆ มาจากสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อที่อยู่อาศัย
หากแยกตามประเภทสินเชื่อพบสินเชื่อบ้าน คิดเป็นสัดส่วน 34% สินเชื่อส่วนบุคคล 25% สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ 18% สินเชื่อรถยนต์ 10% สินเชื่อบัตรเครดิต 3% และอื่นๆ 10%
6.นโยบายการเงิน-การคลังต้องสอดคล้องกัน
ในช่วงที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า นโยบายเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาล โดยกระทรวงการคลังกับ ธปท.มักจะสวนทางกันจนเกิดความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นการบริโภคของประชาชน เพื่อให้เศรษฐกิจเกิดความคึกคัก ตามนโยบายของพรรคการเมือง เช่น โครงการเที่ยวไทยคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการ ม.33 เรารักกัน โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นต้น
ขณะที่ ธปท. กลับมีท่าที่นิ่งเฉย และมองว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจแต่อย่างใด โดยได้ขึงพลืด และคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะมาตรการ LTV ที่ถูกมองว่า เป็นตัวปัญหาและต่อให้เกิดฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้ง ๆ ที่สินเชื่อรวมทั้งระบบ ณ สิ้นเดือนธ.ค. 2567 ยอดเงินคงค้าง 18.16 ล้านล้านบาท เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีเพียง 2.699 ล้านล้านบาท หรือเพียง 14.86% แสดงให้เห็นว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัย ยังต้องการแรงกระตุ้นจากรัฐบาลและจาก ธปท. เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ยังเกี่ยวข้องกับธุรกิจอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งอิฐ หิน ปูน ทราย เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ตกแต่งบ้านอื่น ๆ อีกมากมาย
ดังนั้น มาตรการคุ้มเข้ม LTV ทำให้คนที่ต้องการมีบ้านหลังที่สอง มียากมากขึ้น ประกอบกับ การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้กู้ ไม่ใช่ควบคุมเฉพาะบ้านหลังที่สองเท่านั้น แต่ยังพิจารณาถึงคุณสมบัติอื่น ๆ เช่น ฐานะการเงินของผู้กู้เป็นอย่างไร เช่น มูลทรัพย์สุทธิของผู้กู้ มีทรัพย์สินปลอดภาระอื่นมีอะไรบ้าง ความสามารถชำระคืน ผู้ให้กู้จะพิจารณาอัตราส่วนการชำระเงินต่อรายได้ (Loan to Income) แหล่งที่มาของการชำระคืนเงินกู้ ความเพียงพอของเงินทุน ภาระหนี้รวมต่อส่วนของผู้กู้ และการกำหนดเงือนไขเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการให้กู้
ดังนั้น LTV จึงเป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ ข้อของการให้คะแนน (Credit Score) ของการปล่อยสินเชื่อ สุดท้าย ธปท. ก็ยอมผ่อนปรน ปลดมาตรการ LTV ลงเป็นการชั่วคราว
7.ธรรมาภิบาล
ท้ายที่สุดสิ่งที่ผู้ว่าการ ธปท. ต้องมีคือ “หลักธรรมาภิบาล” เพราะตำแหน่งนี้ ถือเป็นตำแหน่งสำคัญ และเป็นผู้กำหนดทิศทางนโยบายการเงินของประเทศที่ทุกสถาบันการเงินต้องทำตาม ดังนั้น การทำงานจึงมีความเป็น “อิสระ” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนทั้งประเทศ รวมถึงนักลงทุนต่างชาติที่กำลังตัดสินใจลงทุนกับไทย
โจทย์สำคัญแม้การแต่งตั้งผู้ว่าการ ธปท.ต้องผ่านการคัดเลือกคุณสมบัติที่ได้บัญญัติตามกฎหมาย แต่กว่าจะได้ชื่อที่เข้ารับตำแหน่งจริง “ผู้ว่าฯ ตัวจริง” ต้องผ่านขั้นตอนที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐบาล เพื่อพิจารณาอีกครั้ง ดังนั้น ข้อควรระวังคือ รัฐบาลจะต้องไม่นําการเมืองมาเกี่ยวข้อง และต้องสร้างความโปร่งใส เพื่อรักษาเสถียรภาพของการเป็นธนาคคารกลาง หากนโยบายการเงินสั่นคลอนตาม “รัฐบาล” การทำงานอาจถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องธรรมาภิบาลได้เช่นกัน
ดังนั้น ตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.ไม่ใช่แค่ คนที่ขึ้นคุมบังเหียนเท่านั้น แต่ต้องทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจพร้อมๆ กับดูแลสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวไทยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารและควบคุมทิศทางเศรษฐกิจให้อยู่รอดตลอดไป