สอนเด็กให้ โตไปไม่โกง! สอนได้ตั้งแต่แรกเกิด ยัน 6 ขวบแรก
ประเทศไทย โปร่งใส กี่โมง?
คำถามนี้คงยากจะตอบ แต่… ไม่ยากเกินไปถ้าเราช่วยกันค่ะ
จะดีกว่าไหมคะ ถ้าเราหยุดพฤติกรรมโกงได้ ด้วยการสอนและปลูกฝังเด็กตั้งแต่เล็กๆ
และเขาก็เติบโตไปอย่างมีภูมิคุ้มกัน มีคุณธรรม จริยธรรม รู้จักผิด ชอบ ชั่ว ดี
สอนและปลูกฝังเด็กในวันนี้ = เราได้ช่วยกันทำให้สังคมมีความโปร่งใสมากขึ้นในอนาคต
และถ้าเราไม่สอนเขาตั้งแต่เด็ก แล้วมาสอนตอนโต ถึงเวลานั้นอาจไม่ทัน!
อีจันชวนคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง อ่านบทสัมภาษณ์ อาจารย์อลิสา รัญเสวะ หรือ อ.เกลล์ นักจิตวิทยาคลินิก เจ้าของเพจ จิตวิทยาเด็กและวัยรุ่นโดยนักจิตวิทยา ที่จะมาแนะแนวทางเลี้ยงลูกให้เติบโตเก่ง ดี และมีความสุขได้ด้วยตัวเอง และที่สำคัญ โตไปไม่โกง
เมื่อเอ่ยถึงคำว่า โกง การโกง หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่า เกี่ยวอะไรกับเด็ก แต่รู้ไหมคะว่า จริงๆ แล้วมนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมสัญชาตญาณเอาตัวรอด อยากชนะ ซึ่งสัญชาตญาณนี้จะพ่วงมาด้วยการหาวิธีในการรอดให้ได้ ชนะให้ได้ หรือโกงเพื่อรอด
อ.เกลล์ อธิบายและชวนทำความเข้าใจในประเด็นนี้อย่างแรก ว่า ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าทำไมถึงเรียกว่า โกง แล้วสิ่งนี้มีการพัฒนาการมาได้อย่างไร จริงๆ แล้วพื้นฐานชีวิตของมนุษย์ทุกคนพวกเราเกิดมาบนความชนะตั้งแต่เราเป็นสเปิร์ม เราชนะเราเลยเกิด เมื่อเราเกิดสิ่งที่เด็กทุกคนมีติดตัวมาเลยคือสัญชาตญาณการเอาตัวรอด เพราะฉะนั้นเราจะทำทุกอย่างเพื่อให้เรารอด เมื่อเด็กเกิดมาเขาจะเรียนรู้จากพ่อแม่ของเขา ว่าเขาจะรอดได้อย่างไร ซึ่งในระหว่างนี้ก็ต้องมีการเติบโตและเรียนรู้ และในความต้องรอดก็ประกอบกับการต้องชนะ
สังเกตตอนเราเป็นเด็กทำอะไรเราก็อยากชนะ เราไม่อยากแพ้ เด็กส่วนใหญ่ก็อยากชนะ เล่นเกมก็อยากชนะ แข่งกีฬาก็อยากชนะ ซึ่งความอยากชนะนี้มีมาจนถึงวัยผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นเมื่อความอยากเอาชนะก็เลยมาประกอบกับความเป็นมนุษย์ ถ้าเราอยากชนะระหว่างการเติบโตเราก็จะทำวิธีการทุกอย่างเพื่อให้เราชนะ ซึ่งบางอย่างมันก็เกินศักยภาพของเรา นั่นเลยทำให้เราต้องโกง ต้องมีเทคนิค ต้องไม่ทำตามกติกา ต้องไม่ทำตามกฎ ถ้าเราสังเกตมันมาจากตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งความอยากชนะไม่ผิด เพราะมันเป็นสัญชาตญาณของการเอาตัวรอด แต่ที่ผิดคือกระบวนการที่ได้มาซึ่งความชนะ ถ้ามันไม่ถูกต้องมันก็จะไปปลูกฝังให้เด็กเรียนรู้ว่าเขาทำได้
การตอบสนองจากผู้ใหญ่ เมื่อเด็กพยายามหาเทคนิค โกง เรื่องนี้อย่ามองข้าม!
อ.เกลล์ : โดยส่วนใหญ่การตอบสนองของพ่อแม่ ก็ตอบสนองออกไปแบบไม่รู้ตัว เมื่อลูกพยายามหาเทคนิคโกงเพื่อชนะ นี่คือสิ่งที่เด็กทำอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้เป็นห่วงหรือกังวลแล้วเราไปตอบสนองผิด ไม่ว่าจะเป็นการหัวเราะเวลาลูกโกง เพราะตอนเด็กๆ มันอาจจะดูน่ารัก รู้สึกว่าทำไมเด็กถึงคิดแบบนี้ได้ แล้วพ่อแม่ก็หัวเราะขำ ซึ่งการขำนี้ถือเป็นการอนุญาตให้เขาโกง ด้วยความรู้สึกที่ดีด้วย หรือการสอนเขาไม่เป็นแต่ไปดุเขา กระบวนการสอนที่ไม่ได้ปลูกฝัง การดุเขา ตำหนิเขา มันไม่ใช่การสอนที่ดีเช่นกัน เพราะมันก็ทำให้เขารู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ชอบ อย่างนั้นก็จะไม่ทำให้พ่อแม่เห็น และเวลาที่เด็กโกงเราไม่ควรไปถามลูกเราว่าทำไมโกง เราควรจะถามตัวเองว่าทำไมเราสอนเขาไม่ให้โกงไม่ได้ ทำไมเขาไม่ทำตามกติกาเราควรตั้งคำถามกับตัวเอง ซึ่งเราเป็นพ่อแม่ที่มีหน้าที่โดยชอบธรรมในการสอนเขาให้ไม่โกง เพราะฉะนั้นการโกงมันเริ่มขึ้นตั้งแต่ตัวเล็กๆ ธรรมชาติของมนุษย์ หนึ่งต้องรอด สองอยากชนะ เมื่อพ่อแม่ไม่ได้สนใจจะสอน เด็กก็ปรับตัวเองว่ากระบวนการไหนก็ได้ที่ฉันจะชนะ จริงๆ แล้วการโกงเป็นสิ่งที่ต้องสอนตั้งแต่ในวัยเด็ก
หยุดพฤติกรรมโกง ในวัยเด็ก ควรเริ่มตั้งแต่ตอนไหน?
อ.เกลล์ : ตั้งแต่แรกคลอดจนถึง 6 ปีแรก คนที่จะกำหนดคุณธรรมจริยธรรมคือที่บ้าน เพราะคนที่เขาแคร์ที่สุดคือที่บ้าน เพราะฉะนั้นเราต้องใช้สิทธิอันนี้ในการบอกเขาว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ อะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ นั่นเป็นหน้าที่สำหรับพ่อแม่ที่จะต้องสอน ผู้เลี้ยงจะต้องมีกระบวนการที่ถูกต้องในการสอนเด็ก ทัศนคติของผู้เลี้ยงที่ดีที่ถูกต้อง การตอบสนองที่ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่น การที่เขาจะทำอะไรสักอย่างเพื่อไปสู่เป้าหมายที่สำเร็จ เราต้องบอกเขาว่าเราไม่ได้มองที่ผลลัพธ์ แต่เรามองดูที่กระบวนการวิธีการที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ได้มาซึ่งความสำเร็จนั้น
คุณธรรมจริยธรรม ในการจะสอนเขาในเรื่องนี้ จะต้องรู้มารยาท กฎกติกา เราจะสอนที่บ้านเราจะไม่ปล่อยให้เด็กไปเรียนรู้ที่โรงเรียน เพราะการปล่อยให้เด็กไปเรียนรู้ตอนโตมันไม่ฝังเข้าไปในจิตวิญญาณแล้ว แต่มันจะทำตามกฎของสังคมเท่านั้นเอง แต่เมื่อทำตามกฎของสังคมถ้าสังคมนั้นกฎไม่กระชับ ไม่เด็ดขาด เด็กก็สามารถออกไปนอกกฎได้ เพราะมันไม่ได้อยู่ในจิตใจของเขา ไม่ได้อยู่ในจิตวิญญาณของเขา เพราะฉะนั้นมันควรจะเกิดขึ้นที่บ้าน เกิดขึ้นตั้งแต่ขวบแรก
“การที่พ่อแม่เป็นต้นแบบให้ลูก เป็นต้นแบบอย่างเดียวไม่ได้ แต่คุณต้องสอนวิธีการ กระบวนการว่าต้องทำอย่างไรให้เขาด้วย”
ดังนั้นในช่วงขวบแรก เหมาะสมที่จะปลูกฝังที่สุด สอนเขาว่าทุกอย่างต้องทำตามขั้นตอน 1 2 3 4 ลูกต้องทำตามขั้นตอน คุณเห็นอะไรไหม เพราะว่าการโกงคือการไม่ทำตามขั้นตอนไง และกฎกติกาต้องมี ซึ่งมันเริ่มที่บ้าน กฎสำหรับเด็กหนึ่งขวบ ปีแรก ช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด ถึงเวลากินนมถือขวดนมเอง ถึงเวลาเปลี่ยนแพมเพิร์สให้ลูกยกขาขึ้น จะต้องทำอะไรด้วยตัวเองง่ายๆ ลูกก็ต้องทำ ให้เขามีส่วนร่วมกับชีวิตของเขาในการดูแลตัวเองให้ได้มากที่สุด สามารถเริ่มขึ้นจากกิจวัตรประจำวันได้เลย ในการสอนลูกเรื่องกฎกติกา มารยาท คุณธรรมจริยธรรม
“ แค่ไม่ทำตามกฎคือโกงนะคะ ความโกงเราไม่ใช่ต้องไปโกงประเทศ ไม่ต้องไปโกงคนอื่น แต่การไม่ทำตามกฎนั่นคือโกงแล้ว การไม่ทำตามกติกาคือการไม่เคารพสังคมแล้ว”
อ.เกลล์ : จริงๆ แล้วการป้องกันปัญหาในประเทศไทยที่ดีที่สุดไม่ใช่เริ่มที่โรงเรียน ไม่ใช่เริ่มที่สังคมแต่เริ่มที่บ้าน เราต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กก่อนเมื่อเราบอกว่าอย่า เขาก็จะทำ เมื่อเราบอกว่าไม่เขาก็จะทำ เมื่อเราบอกว่าไม่เขาก็จะใช่ เขาจะอยู่ฝั่งตรงข้ามเสมอ ซึ่งนั่นก็เป็นธรรมชาติของเด็กเหมือนกัน ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติอย่างนี้เราอย่าไปสอนลูกว่าอย่าโกง แต่เราต้องสอนลูกว่าแม่มีกติกาแบบนี้ ลูกต้องทำตามกติกา เมื่อเขาทำตามกติกาเราก็จะชมเขา แต่เมื่อเขาไม่ทำตามกติกาเราจะไม่ข้ามและไม่ไฮไลท์ว่านี่คือการโกง เราอย่าพูดว่านี่คือการโกงเพราะถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราบอกว่าอย่าโกงนี่คือการโกง เด็กจะรู้สึกว่าน่าสนใจ เพราะฉะนั้นเมื่อเขาโกงเราจะไม่ให้ข้ามแต่เราบอกว่าเราจะมาเล่นใหม่กันอีกรอบโดยกระบวนการ 1 2 3 4 แล้วเราก็ต้องจริงจังแต่ไม่ได้ดุ
แบบนี้จะซีเรียสเกินไปไหม?
อ.เกลล์ : การจะซีเรียสหรือไม่ซีเรียสมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระบวนการ แต่มันขึ้นอยู่กับการตอบรับของเรา ถ้าจะเลี้ยงให้ลูกสบายเลี้ยงไปได้เลย แล้วก็สบายวันนี้แต่ต่อไปคนที่จะไม่สบายคือเรา สุดท้ายปัญหานั้นก็จะวนมาสู่ความขัดแย้ง เมื่อถึงเวลาที่เราไม่ได้สอนเขาเรายืดหยุ่นกับเขา เมื่อเขาต้องไปโรงเรียนเราจะทะเลาะกับลูกชัดเจน บรรยากาศการสอนก็สำคัญถ้าคุณสอน เป็นโค้ชที่อบอุ่น อ่อนโยน ชัดเจน ใจดี มันจะมีความเครียดตรงไหน กับการที่เราจะส่งยิ้มให้ลูกแล้วบอกว่าเดี๋ยวแม่จะสอนหนูอาบน้ำนะ กลับกันถ้าเราไม่สอนเลย แล้ววันหนึ่งลูกไม่ยอมอาบน้ำ ไม่รับผิดชอบตัวเอง แล้วเราทะเลาะกับลูก ความเครียดมันเกิดขึ้นตอนทะเลาะกันต่างหาก แล้วพ่อแม่ก็จะมาตั้งคำถามว่าทำไมเขาไม่ทำ และถ้ามาถามกับนักจิตวิทยา ก็จะถามกลับว่าแล้วทำไมคุณไม่สอน เพราะสอนตอน 6 ขวบมันก็ช้าไปแล้ว
“พ่อแม่อาจจะต้องปรับทัศนคติใหม่ เข้าใจว่าแต่ละคนเส้นทางของการมีลูกแตกต่างกัน ไม่ว่าเหตุผลอะไรก็ตามที่คุณจะมีเขาแต่สิ่งหนึ่งที่เป็นหน้าที่ของคุณคือการสอนเขา ไม่ได้สอนให้ตัวเราแต่สอนเพื่อให้เด็กคนนี้มีชีวิตอยู่ได้เมื่อเราไม่อยู่แล้ว”
เรื่องที่หลายคนมองว่าเล็ก อย่างการลอกข้อสอบ ถือเป็นการโกงไหม แล้วมันส่งผลต่อการใช้ชีวิตในการเติบโตของเด็กไหม?
อ.เกลล์ : การลอกข้อสอบเป็นประเด็นการโกงที่เด็กๆ เริ่มทำกัน ถามว่ามันส่งผลกับอดีตหรือปัจจุบันอย่างไร ก็คือปัจจุบันที่เขาเรียนรู้มันจะเป็นบทเรียนของเขา และถ้ามันรอดมาได้ เช่น โกงข้อสอบแล้วรอดได้ เขาก็เรียนรู้ที่จะทำมันอีก แล้วก็จะทำมันเก่งขึ้น จากเรื่องเล็กก็จะกลายเป็นสิ่งที่ใหญ่ขึ้น เพราะเขารู้สึกว่าไม่มีใครจับได้ไม่มีใครรู้และเขาสามารถทำได้ และสมมุติเขาสอบแล้วเขาผ่าน การผ่านนั้นถือว่าเป็นการยอมรับจากสังคมโดยการไม่สนใจกระบวนการว่าผ่านมาได้อย่างไร ก็ยิ่งทำให้เด็กคนนี้เรียนรู้ว่าฉันโกงได้ เพราะฉะนั้นฉันจะทำทุกอย่างเพื่อให้ฉันสำเร็จโดยไม่สนใจกระบวนการที่ถูกต้อง
พ่อแม่หลายคนอาจจะกังวล ว่าเราเลี้ยงลูกมาดีแล้ว ลูกจะอยู่ในสังคม แล้วจะถูกโกงไหม?
อ.เกลล์ : จะบอกว่าตอนนี้การถูกโกง ถูกหลอกลวง อยู่ใกล้ตัวเรามาก แต่ถ้าเราสังเกตดีๆ ทุกอย่างจากการถูกโกงมันมาจาก ความโลภ ความอยากได้ ดังนั้นเราก็ต้องสอนลูกเราด้วยว่า อย่าอยากได้ของคนอื่น และอีกหนึ่งอย่างที่ต้องปลูกฝังคือวิจารณญาณในเด็ก เราต้องให้ทักษะของการมีวิจารณญาณให้กับลูก เพื่อเมื่อมีอะไรเข้ามาในตัวเขา เขาจะได้คิดได้ คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ แยกแยะได้ ว่าควรทำหรือไม่ควรทำ ดีหรือไม่ดี สิ่งนี้เป็นเครื่องมือที่พ่อแม่ต้องสร้าง เพื่อไม่ให้คนอื่นมาโกง
อ.เกลล์ : ตามหลักการทางจิตวิทยาหลายคนอาจจะยังไม่รู้ เมื่อมนุษย์เรียนรู้จากสังคม เด็กเรียนรู้ทางด้านสังคม เขาจะมองไปที่สังคมแล้วเขาจะสังเกตคน ในกรณีที่มีข่าวโกงเต็มบ้านเต็มเมือง เราไม่ต้องกังวลว่าเขาจะเลียนแบบไหม แต่สิ่งสำคัญเลยที่ภาคสังคม ภาคส่วนเกี่ยวข้องจะต้องทำ คือทำให้การโกงนั้นได้รับบทลงโทษ สังเกตได้จากเมื่อเราเห็นข่าวใครได้รับรางวัล เราจะจำได้น้อยมาก แต่เมื่อมีข่าวว่าใครถูกลงโทษ มีข้อหา เราจะจำได้แม่น มีทฤษฎีการเรียนรู้ทางด้านสังคมบอกไว้ว่า ถ้ามีการถูกลงโทษคนจะเรียนรู้ในสิ่งนั้น ว่าถ้าทำแบบนี้แล้วจะถูกลงโทษ ไม่ว่าจะโกง 20 บาท หรือโกงเป็นแสนล้าน มันก็คือการโกงเท่ากัน ไม่เกี่ยวว่าจะโกงมากหรือโกงน้อย แต่มันคือพฤติกรรมการโกง
ความเห็นในมุมนักจิตวิทยา คิดว่า ประเทศไทยโปร่งใส กี่โมง ?
อ.เกลล์ : ถ้าเราดูแบบมวลรวมมันดูสิ้นหวัง แต่สำหรับตนที่ทำงานและได้เจอกับคนดีๆ หลายคน ตนมองว่าเหมือนตอนนี้เราเห็นน้ำในคลอง และรู้สึกว่าเป็นสีเทาไปหมดเลย มันไม่มีอะไรดีเลย เราก็สรุปมันอย่างนั้น แต่ตนมองว่าประเทศไทยโปร่งใสอยู่ โปร่งใสอยู่บนความไม่โปร่งใส มันมีคนที่โปร่งใสอยู่ มันมีคนซื่อสัตย์สุจริตอยู่ มันมีคนทำงานจริงอยู่ เพียงแต่คนเหล่านั้นยังไม่เป็นที่ประจักษ์
“ประเทศไทยโปร่งใส 100% ไม่ได้หรอกค่ะ พี่คิดว่าบนโลกนี้ก็ไม่มีที่ไหนโปร่งใส 100% แต่ก็คิดว่ามันไม่ควรดำกว่านี้ ถ้ามันจะไม่ดำกว่านี้เราต้องช่วยกันในทุกๆ มิติ ในบทบาทของผู้นำ บทบาทของสังคม บทบาทของการศึกษา บทบาทของเด็ก ทุกคนที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบ พี่ก็มองว่าเข้าทำงานกันมากขึ้นรับผิดชอบมากขึ้น และสิ่งที่สำคัญเลยคืออย่าปัดความรับผิดชอบไปให้สังคม เมื่อเราบอกว่าเรามีลูก คนที่ควรจะรับผิดชอบลูกคือพ่อกับแม่ ไม่ใช่รัฐบาล ไม่ใช่คนข้างนอก ไม่ใช่โรงเรียน ไม่ใช่ครู แต่คือพ่อแม่ต่างหาก เพียงแต่เราจะทำยังไงให้ความถูกต้องชอบธรรม จรรยาบรรณ จริยธรรม คุณธรรม ถ่ายทอดสืบต่อที่ลูกเราและทำให้ปัญหามันไม่วิกฤติ”
เราช่วยกันหยุดพฤติกรรมโกงได้ ด้วยการปลูกฝังจิตสำนึกดีให้เด็กๆ ให้ลูกๆ เพื่อในอนาคตจะได้เกิดสังคมของเจนใหม่ที่มีความคิด มีเหตุมีผล มีความโปร่งใสมากขึ้นค่ะ
บทสัมภาษณ์นี้ สนับสนุนโดย กองทุน ป.ป.ช.