จับตาแผ่นดินไหวถี่ทั่วเอเชีย ภูเขาไฟใต้น้ำเสี่ยงระเบิดหรือไม่? ไทยควรเฝ้าระวังแต่ไม่ตื่นตระหนก
ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นกรกฎาคมนี้ เกิดเหตุแผ่นดินไหวถี่ในหลายพื้นที่ของเอเชีย ทั้งในญี่ปุ่น หมู่เกาะนิโคบาร์ของอินเดีย รวมถึงอินโดนีเซีย เมียนมา และเวียดนาม สร้างความกังวลถึงความเสี่ยงต่อเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่และผลกระทบจากภูเขาไฟใต้น้ำในภูมิภาค
“ญี่ปุ่น” แผ่นดินไหวเกือบ 900 ครั้งใน 12 วัน
สำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 2 กรกฎาคม เกิดแผ่นดินไหวแบบกลุ่ม (Earthquake Swarm) ในบริเวณ หมู่เกาะโทการะ ทางตอนใต้ของประเทศ รวมแล้วกว่า 877 ครั้ง โดยในวันนี้ (2 ก.ค.) เวลา 15.26 น. ตามเวลาท้องถิ่น เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.5 แมกนิจูด ความลึก 10 กิโลเมตร ส่งผลให้ หมู่บ้านโทชิมะ จังหวัดคาโงชิมะ ได้รับผลกระทบ
แม้ยังไม่มีรายงานความเสียหายรุนแรง แต่รัฐบาลญี่ปุ่นได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังอาฟเตอร์ช็อก และได้เร่งปรับแผนรับมือ “แผ่นดินไหวขนาดใหญ่” ที่อาจเกิดขึ้นบริเวณ ร่องลึกนันไก (Nankai Trough) ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง
สำหรับ “ร่องลึกนันไก” เป็นแนวเปลือกโลกยาว 800 กิโลเมตร ที่มีแนวโน้มเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ทุก 100–200 ปี โดยครั้งล่าสุดเกิดเมื่อปี 2489 ล่าสุดรัฐบาลได้ปรับความน่าจะเป็นของการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในพื้นที่นี้ภายใน 30 ปี ข้างหน้า จาก 75% เป็น 82% พร้อมออกมาตรการใหม่ด้านการเตือนภัยและอพยพประชาชน
หมู่เกาะนิโคบาร์ – อินเดีย เกิดแผ่นดินไหว 54 ครั้งในรอบสัปดาห์ เสี่ยงภูเขาไฟใต้น้ำระเบิด
ขณะเดียวกัน กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยาไทย รายงานว่า ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา (26 มิ.ย. – 2 ก.ค.) บริเวณ หมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย เกิดแผ่นดินไหวแล้วถึง 54 ครั้ง ขนาดตั้งแต่ 3.4 – 4.8 แมกนิจูด โดยเฉพาะวันที่ 26 มิถุนายน เกิดมากที่สุดถึง 24 ครั้ง ภายในเวลาไม่ถึง 21 ชั่วโมง พื้นที่นี้อยู่ห่างจากชายฝั่ง 6 จังหวัดอันดามันของไทย ได้แก่ ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สตูล และภูเก็ต เพียง 470–480 กิโลเมตร
ด้านผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล โพสต์เตือนผ่านสื่อโซเชียลว่า มีความเป็นไปได้ที่ภูเขาไฟใต้น้ำในแนวเดียวกันจะระเบิด แต่ไม่มีใครสามารถระบุชี้ชัดได้ว่าจะเกิดเวลาใด โดยเมื่อมีแผ่นดินไหวถี่ ๆ ในบริเวณนั้นขนาด 4 ขึ้นไป อาจเกิดการเคลื่อนของแมกมาแต่ยังไม่ได้ชี้ชัดว่าจะต้องเกิดระเบิดจึงต้องจับตาใกล้ชิดต่อไป โดยล่าสุดเหตุสึนามิที่เกิดจากภูเขาไฟใต้น้ำระเบิดเมื่อปี 15 มกราคม 2565 เป็นภูเขาไฟใต้น้ำที่ตองกา ซึ่งภูเขาไฟใต้น้ำขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงในตองกาและอีกหลายประเทศ ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิสูง 20 เมตร ส่วนภูเขาไฟใต้น้ำในอันดามัน จุดที่เกิดการไหวถี่ ๆ ห่างจากพังงา 470-480 กิโลเมตร หากเกิดการระเบิดที่จุดนั้น อาจเกิดสึนามิระดับน่าห่วงได้ เพราะน้ำค่อนข้างลึก หากระเบิดแรงจะมีมวลน้ำจำนวนมากถูกผลักออกมาให้กลายเป็นคลื่น โดยอาจสูงมากกว่าตึก 3 ชั้นและอาจสูงมากสุดถึงตึก 7-8 ชั้น เนื่องจากอยู่ใกล้ไทยมากกว่าจุดที่เคยเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2547 คลื่นจึงอาจเข้าถึงฝั่งเร็วกว่านั้น ซึ่งในปี 2547 ประมาณ 2 ชั่วโมง ดังนั้นจึงต้องเตรียมตัวไว้ แต่ไม่ควรตื่นตระหนัก ทั้งการซ้อมเตือนภัย การซ้อมอพยพ เพื่อให้ทราบกรณีหากเกิดเหตุฉุกเฉินต้องดำเนินการอย่างไร และสามารถตรวจสอบดเส้นทางหนีภัยได้ และเตือนว่าอย่าเชื่อข่าวลือ และให้ติดตามข้อมูลจากหน่วยงานหรือ นักวิชาการที่เชื่อถือได้
อินโดนีเซีย-เมียนมา-เวียดนาม เกิดแผ่นดินไหวรายวัน
ในวันเดียวกัน (2 ก.ค.68) ยังมีรายงานแผ่นดินไหวอีกหลายจุดในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่
- อินโดนีเซีย: เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.8 บริเวณหมู่เกาะสุมาตราเหนือ ลึก 56 กม.
- เวียดนาม: แผ่นดินไหวขนาด 4.1 เวลา 01.41 น. ลึก 10 กม.
- เมียนมา: เกิดแผ่นดินไหว 2 ครั้งต่อเนื่อง โดยรุนแรงที่สุดขนาด 4.1 เวลา 02.01 น.
เหตุการณ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นถึง ความเคลื่อนไหวทางธรณีวิทยาที่ถี่และต่อเนื่อง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้
อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่มีรายงานเหตุรุนแรงในไทย แต่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงโดยเฉพาะชายฝั่งอันดามัน เตรียมความพร้อมอยู่เสมอ ทั้งการฝึกซ้อมอพยพ ตรวจสอบเส้นทางหนีภัย และติดตามข้อมูลจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ พร้อมหลีกเลี่ยงการแชร์ข่าวลือที่ไม่มีแหล่งอ้างอิง โดยเฉพาะข่าวลือเกี่ยวกับ “คำทำนายแผ่นดินไหวจากการ์ตูนญี่ปุ่น” ที่อ้างว่าจะเกิดแผ่นดินไหวในวันที่ 5 กรกฎาคม 2568 ซึ่งทางการญี่ปุ่นและนักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า ไม่สามารถทำนายวัน เวลา และขนาดของแผ่นดินไหวได้แม่นยำได้ขนาดนั้น
การเกิดแผ่นดินไหวถี่ในหลายประเทศถือเป็นสัญญาณที่ควรจับตาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งอันดามันของไทยที่อยู่ใกล้กับจุดศูนย์กลางความเคลื่อนไหว ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เตรียมตัวอย่างมีสติ ไม่ตื่นตระหนก และรับข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้เท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ยันสร้างอาคาร สตง. ตามแบบทุกขั้นตอน
- อันดามันแผ่นดินไหวถี่ อย่าเพิ่งตื่นตระหนก นักวิชาการชี้อาจเกิดจากแมกมาเคลื่อนตัว
- ตึกสตง.ถล่ม! ตร. แถลงส่งร่าง-ชิ้นส่วนให้ญาติแล้ว 93 ราย ยังยืนยันตัวตนไม่ได้ 2 ราย
- แผ่นดินไหวในทะเลต่อเนื่อง เตือน 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน ไม่ตื่นตระหนก แต่ต้องพร้อมรับมือ
- นายกฯ เผยผลสอบตึกสตง. พบก่อสร้างบกพร่อง - เตรียมส่ง DSI