เสถียรภาพการเมืองไทย-สงครามการค้าฉุดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค มิ.ย ลดลงต่อเนื่อง ต่ำสุดรอบ 28 เดือน
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนมิ.ย. 68 อยู่ที่ระดับ 52.7 ปรับตัวลดลงจากเดือนพ.ค. ที่ระดับ 54.2 โดยเป็นการปรับตัวลดลงในทุกรายการ ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 28 เดือนนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 66 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของรัฐบาลและการเมืองของไทยและสงครามการค้าจากนโยบาย Trump 2.0 และรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ต้นปีมาแล้ว 2 ครั้งรวม 0.5% อยู่ที่ 1.75% แต่ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้าและการเข้าถึงสินเชื่อลำบาก
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 46.7 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 50.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 60.9
การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า และค่าครองชีพสูง ตลอดจนปัญหาสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญหลักที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง คือ ดัชนีสถานการณ์ทางการเมืองที่ต่ำสุดในรอบ 28-29 เดือน ซึ่งในช่วงที่หอการค้าไทยทำการสำรวจ นายกรัฐมนตรียังไม่ได้ถูกสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ แต่ทุกคนมองปัจจัยจากเรื่องความขัดแย้งไทย-กัมพูชา และการถอนตัวออกจากรัฐบาลของพรรคภูมิใจไทย อย่างไรก็ดี ในช่วงที่สำรวจนี้ยังไม่รวมเรื่องที่สหรัฐฯ ประกาศคงภาษีไทยที่อัตรา 36% ซึ่งแรงกระแทกของสงครามการค้าน่าจะอยู่ในการสำรวจครั้งหน้า เนื่องจากสหรัฐฯ จะเก็บภาษีในวันที่ 1 ส.ค.
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค มาจากการที่ประชาชนมองว่า การหางานทำได้ยากขึ้น และเศรษฐกิจไม่ดี และยังมองภาพในอนาคต 6 เดือนข้างหน้า ว่าเศรษฐกิจจะไม่ฟื้น สะท้อนว่าทิศทางเศรษฐกิจจากตอนนี้ไปถึงไตรมาส 4/68 ยังไม่มีสัญญาณดี และรายได้ในกระเป๋าจะลดน้อยลง ดังนั้น ประชาชนจะมีการซื้อสินค้าคงทนถาวรลดน้อยลง ทั้งรถและบ้าน รวมทั้งการท่องเที่ยวน่าจะลดลงด้วย ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.57 แสนล้านบาท ก็ยังไม่ลงในระบบเศรษฐกิจเต็มที่
"คนมองว่า เงินที่หาได้ในกระเป๋าจะไม่เท่าค่าครองชีพ สะท้อนจากดัชนีค่าครองชีพต่ำสุดในรอบ 30 เดือน ทำให้คนมีการระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย สัญญาณความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังไม่เห็นสัญญาณฟื้น โดยความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 28 เดือน และความเชื่อมั่นหอการค้าไทยต่ำสุดในรอบ 30 เดือน หรือเกือบ 3 ปี" นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยมีอยู่ 2 ปัจจัย คือ
1. สงครามการค้า
สำหรับประเด็นเรื่องสงครามการค้า ยังไม่รู้จะจบอย่างไร ไทยจะเสียภาษีเท่าไร แต่สิ่งสำคัญคือนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีความตั้งใจที่จะเปิดช่องทางเจรจากับไทยให้ถึงที่สุด เพราะถ้าเขาต้องการเก็บภาษีตามเดิมก็คงจะไม่เลื่อนเป็นวันที่ 1 ส.ค.
ดังนั้น ถ้ามองเชิงบวกคือในการเจรจารอบแรกของไทย เขาเห็นประเด็นว่า ไทยสามารถพัฒนาการเจรจาในทางที่สหรัฐฯ ได้ประโยชน์ และไทยก็ได้ประโยชน์ที่จะไม่ต้องเสียภาษีในอัตราสูง แต่อาจเสียประโยชน์ในเรื่องการค้า เพื่อทำให้ไทยเกินดุลกับสหรัฐฯ น้อยลง
ทั้งนี้ มองว่าโอกาสที่ทีมไทยแลนด์จะเจรจาให้ภาษีการค้าต่ำลง น่าจะมีโอกาสมากกว่าเสียภาษี 36% และยังมองว่ามีโอกาสที่ไทยจะเจรจาได้เท่าเวียดนามที่ 20% และสิ่งสำคัญคือกระทรวงการคลังและทีมไทยแลนด์ ระบุว่า เราน่าจะมีการลดอัตราภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ หลายรายการ เพื่อเป็นการเปิดตลาดให้สหรัฐฯ เข้ามาได้ง่ายขึ้น โดยสินค้าที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ โดยหลัก ๆ มี 20 รายการ ที่มีวงเงินสูง
อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการที่ไทยลดภาษีนำเข้า คือ 1. สินค้านั้นจะมีการทดแทน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าวัตถุดิบ และเครื่องจักร ซึ่งสหรัฐฯ จะเข้ามาแข่งกับประเทศที่เรานำเข้าอย่างจีนและญี่ปุ่น เป็นการทดแทนตลาด 2. ต้องมองว่าอาจมีบางสินค้าที่เข้ามาทดแทนสินค้าไทย ซึ่งเป็นความกังวลของผู้ประกอบการ อาทิ สินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งจะทำให้มีการแข่งขันมากขึ้น ในส่วนนี้ทีมไทยแลนด์ต้องมีการพูดคุยกับภาคเอกชนด้วย
"หอการค้าไทย รอดูว่าอัตราภาษีจะเป็นอย่างไร ผลกระทบทางตรงคือเราส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ลดน้อยลงเท่าไรจากการขึ้นภาษี ส่วนผลกระทบทางอ้อม คือประเทศอื่น ๆ จะโดนเก็บภาษีเท่าไร ซึ่งเชื่อว่าน่าจะได้รู้พร้อมกันในวันที่ 1 ส.ค. นี้ ทำให้สามารถคำนวณได้ว่าประเทศอื่น ๆ ถ้าส่งสินค้าไปสหรัฐฯ ได้น้อยลง ไทยที่อยู่ในซัพพลายเชนจะได้รับผลกระทบเท่าไร" นายธนวรรธน์ กล่าว
ทั้งนี้ หอการค้าไทย ได้มีการประเมินในระดับหนึ่ง ซึ่งล่าสุดประเมินเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 1.7% คือกรณีที่ไทยโดนภาษี 25-36% ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องจับตาคือตัวเลขส่งออกในเดือนมิ.ย. 68 ถ้าประกาศออกมาว่าน้อยลงจะประเมินได้ชัดขึ้น รวมถึงตัวเลขส่งออกในเดือนก.ค. ด้วย
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ในกรณีที่ไทยเสียภาษี 25-36% ประเมินว่าจะกระทบเศรษฐกิจเรื่องการส่งออกประมาณ 2 แสนล้านบาท ประกอบกับเงื่อนไขที่การเมืองไม่นิ่ง และการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่เร็วพอ จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลง 1% หรือเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวต่ำกว่า 1% ในปีนี้ ดังนั้น ในภาพรวมถ้าไทยเสียภาษี 25-36% อาจจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยประมาณปีละ 4-6 แสนล้านบาท
2. สถานการณ์ทางการเมือง
หากเงื่อนไขการเมือง เป็นไปตามนี้ 1. รัฐบาลมีอำนาจเต็มในการเจรจา 2. งบประมาณแผ่นดินดำเนินการจนผ่านวาระ 3 และ 3. ไม่มีการยุบสภา จะทำให้รัฐบาลสามารถดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/68 ได้
"ในกรณีดังกล่าว จะมีงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.57 แสนล้านบาท ซึ่งก็ต้องดูอีกว่าเงินจะเข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วเท่าไร เพราะวงเงินที่หายไปจากการเจอภาษี งบกระตุ้นเศรษฐกิจแค่เข้าไปชดเชย ซึ่งถ้าชดเชยน้อย เศรษฐกิจไทยจะค่อย ๆ ซึมลง โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตต่ำกว่า 1.5% จะเกิดขึ้น ถ้าการเบิกจ่าย 1.57 แสนล้านบาททำได้ช้า และน้อยต่ำกว่า 30-35% ในไตรมาส 3/68 อย่างไรก้ดี ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลน่าจะเบิกจ่ายหมด 75-100% ซึ่งจากข้อเสนอแนะของภาคเอกชนก็มองว่าอยากให้รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเช่นกัน" นายธนวรรธน์ กล่าว
ส่วนความเสี่ยงอื่น ๆ ไม่น่าจะมีประเด็นมาก เช่น สงครามยูเครน-รัสเซีย อิสราเอลและฉนวนกาซา หรือความเสี่ยงเรื่องภัยพิบัติธรรมชาติ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถประเมินได้
"เรื่องนักท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้น มองว่ายังมีโอกาสที่จะมีนักท่องเที่ยว 35 ล้านคน เพราะครึ่งปีแรก 16 ล้านคน แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโตไม่เด่น และทรุดตัว ถ้านักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมา และถ้าทั้งโลกเจอสงครามการค้าในวันที่ 1 ส.ค. จะทำให้นักท่องเที่ยวลดลงในไตรมาส 4/68 ดังนั้น ฝากกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกระทรวงต่างประเทศที่จะช่วยโปรโมทต่อไป ทั้งนี้ ยังคงคาดว่าเศรษฐกิจไทยโตที่ 1.7%" นายธนวรรธน์ กล่าว
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO