มหาอำนาจจีน “เรียนภาษาไทย” ไปทำไม ตั้งแต่เมื่อ 400 กว่าปีก่อน
มหาอำนาจจีน “เรียนภาษาไทย” ไปทำไม ตั้งแต่เมื่อ 400 กว่าปีก่อน
แม้เมืองไทยจะมีโรงเรียนจีนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แต่ผู้ที่เรียนเกือบทั้งหมดคือคนจีนในเมืองไทย คนไทยเพิ่งสนใจและเรียนภาษาจีน เมื่อจีนเริ่มมีแววจะเป็น “มหาอำนาจ” และภาษาจีนตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ แต่ในประเทศจีน “เรียนภาษาไทย” กันตั้งแต่เมื่อ 400 กว่าปีก่อนแล้ว
พ.ศ. 1948 จักรพรรดิหย่งเล่อ ทรงเปิดให้มีการค้าทางทะเลและสนับสนุนกองเรือสู่ทะเลจีนใต้ ทำให้มีมิตรประเทศต่างๆ ส่งเครื่องราชบรรณาการแก่จีน ต่อมาใน พ.ศ. 1950 พระองค์ทรงจัดตั้ง “หอสี่ทิศ (ซื่ออี๋กว่าน)” ให้เป็นสถานที่สอนภาษาต่างๆ โดยจัดตั้งเป็น หอสันสกฤต, หออิสลาม, หอทิเบต ฯลฯ เพื่อรองรับการแปลราชสาส์น และบรรณาการของแต่ละประเทศ
ทว่า พ.ศ. 2040 เมื่อราชสำนักอยุธยาถวายบรรณาการไปยังประเทศจีน กลับไม่มีขุนนางคนใดแปลภาษาไทยได้ จึงมีหนังสือราชการไปยังกวางตุ้ง (เมืองท่าที่ทูตบรรณาการจากสยามใช้) ให้หาผู้เข้าใจภาษาไทยมาแปลราชสาส์นที่ปักกิ่ง และใน พ.ศ. 2058 ได้ขอให้เลือกทูตอยุธยา 1-2 คน ไว้เข้าฝึกสอนภาษาไทยในหออยุธยา
พ.ศ. 2120 พระราชสาส์นจากอยุธยาฉบับภาษาไทยมีจำนวนมากขึ้น จักรพรรดิว่านลี่ จึงรับสั่งให้เพิ่ม “หออยุธยา” (พ.ศ. 2122) สำหรับสอนภาษาไทย โดยผู้สอนเป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่มีความรู้ทั้งภาษาฮั่นและภาษาไทย
นอกจากนี้ในรัชกาลของพระองค์ ในหนังสือบันทึกชีวประวัติของจักรพรรดิว่านลี่ยังบันทึกว่า ออกหมื่นยวน-ผู้สอนคนหนึ่งในหออยุธยา และคณะทูต ได้แต่ง “หนังสือแปลของหออยุธยา” ที่มี 3,550 ตัวอักษร มีคำศัพท์ที่ออกเสียงประหลาดเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่ามี “แบบเรียนภาษาไทย” สำหรับใช้ในการแปลตั้งแต่ราชวงศ์หมิง
หนังสือแปลของหออยุธยาข้างต้น แบ่งเนื้อหาออกเป็น 18 หมวด เช่น ดาราศาสตร์, ฤดูกาล, บุคคล, ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม, พระราชวังและบ้านเรือน ฯลฯ ปัจจุบันฉบับที่สมบูรณ์ที่สุดคือฉบับคัดลอกในหอสมุดเบอร์ลิน เยอรมนี แต่เนื้อหาถูกตัดออกบางส่วน จึงเหลือเพียง 789 ตัวอักษร
นั่นคือจุดเริ่มของการเรียน “ภาษาไทย” ของคนจีน ส่วนปัจจุบัน จีนเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ศึกษาภาษาไทยมากที่สุด และมีขนาดการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยใหญ่ที่สุดในต่างประเทศ
คลิกอ่านเพิ่ม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง
Mr.Juncai Li, พัชรินทร์ บูรณะกร. “ประวัติพัฒนาการของแบบเรียนภาษาไทยในสาธารณรัฐประชาชนจีน” ใน ,
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กรกฎาคม 2568.
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : มหาอำนาจจีน “เรียนภาษาไทย” ไปทำไม ตั้งแต่เมื่อ 400 กว่าปีก่อน
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com