โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ สามัคคีกลุ่มจีน 5 ภาษา ช่วยเหลือจีนยากไร้ในสยาม
โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ หลักฐานความสามัคคีกลุ่มชาวจีน 5 ภาษา ช่วยเหลือชาวจีนยากไร้ในสยามยุครัชกาลที่ 5
แม้ชาวจีนที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาสร้างตัวในสยามจะมีชีวิตที่สุขสบาย แต่พวกเขาไม่เคยลืมบ้านเกิดเมืองนอน และเมื่อชาวจีนด้วยกันที่อพยพเข้ามาภายหลังประสบความยากลำบาก พวกเขาก็พร้อมช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ปรากฏหลักฐานเป็นโรงพยาบาลเก่าแก่ย่านเยาวราช ที่ยืนหยัดผ่านกาลเวลามากว่าร้อยปี
หนังสือ “ประวัติจีนกรุงสยาม A History of the Thai-Chinese” เล่มที่ 3 ยุคก่อร่างสร้างประเทศไทย (สำนักพิมพ์มติชน) โดย เจฟฟรี ซุน และพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร หนังสือที่เล่าเรื่องราวของชาวจีนในสยามได้ครบครันมากที่สุดเล่มหนึ่ง กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ว่า
ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เทียบช่วงเวลาในสยามแล้วอยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ผู้คนบนแผ่นดินจีนต่างตกระกำลำบาก วิถีชีวิตความเป็นอยู่ล้วนได้รับผลกระทบจากการแทรกแซงเข้ามาหาผลประโยชน์ของจักรวรรดิต่างชาติผ่านสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ชาวจีนจำนวนมากจึงตัดสินใจอพยพสู่ต่างแดน
การอพยพระลอกนี้ส่งผลให้สังคมจีนโพ้นทะเลดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไป เพราะพวกเขาพกความขมขื่นเกลียดชังต่างชาติออกมาด้วย
ชาวจีนในสยามไม่ว่าจะเป็นเจ้าสัว พ่อค้า แรงงาน และไม่ว่าจะเป็นกลุ่มจีนภาษาใด เมื่อได้รับรู้เรื่องราวที่เพื่อนร่วมชาติต้องเผชิญในแผ่นดินจีนแล้วต่างก็โกรธเคืองไปด้วย
จุดนี้เองที่ทำให้จากเดิมชาวจีนแต่ละกลุ่มภาษาผูกพันกันเฉพาะพวกของตน ก็เริ่มเกิดการพูดคุยไปในทิศทางเดียวกันว่า “ชาวจีนเอ๋ย จงหยุดชิงดีชิงเด่นแข่งกันหาเงินให้มากขึ้นและมากขึ้น แต่จงรู้จักนำความเจ็บปวดและความทุกข์ของผู้อื่นมาใส่ใจตน”
พ.ศ. 2442 เกิดโรคระบาดในกรุงเทพฯ ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก รวมทั้งคนในชุมชนจีนที่อยู่กันอย่างแออัด แต่คนจีนไม่นิยมเผาศพ เพราะถือว่าร่างกายเป็นของผู้บังเกิดเกล้า ไม่ควรเผาทำลาย ชาวจีนหลายคนจึงร่วมกันบริจาคเงินก่อสร้างสุสานสาธารณะ บางคนบริจาค 1 ตำลึง หรือ 4 บาท บางคนมีฐานะก็บริจาคถึง 50 ชั่ง หรือ 4,000 บาท รวมแล้วมีผู้ร่วมบริจาคเงินกว่า 700 คน
เมื่อรวบรวมเงินได้จำนวนหนึ่งแล้วก็นำไปจัดซื้อที่นาบริเวณตำบลวัดดอน ในอำเภอบ้านทวาย เพื่อทำเป็นป่าช้าจีนสาธารณะ โดยไม่เกี่ยงกลุ่มภาษา ต่างจากป่าช้าจีนเดิมที่บริการเฉพาะคนในกลุ่มภาษาเดียวกัน เช่น ป่าช้ากวางตุ้ง ป่าช้าจีนแคะ
“โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ” สามัคคีกลุ่มจีน 5 ภาษา
พ.ศ. 2446 ผู้นำชุมชนจีนต่างกลุ่มภาษาในสยาม จำนวน 6 คน ได้ร่วมมือกันระดมทุนจัดซื้อที่ดิน เพื่อสร้าง โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ ในย่านเยาวราช มีจุดมุ่งหมายคือช่วยเหลือเพื่อนชาวจีนอพยพผู้ยากไร้ ที่เดินทางเข้ามาหางานทำในสยาม ด้วยสำนึกในอัตลักษณ์ “จีนช่วยจีน”
ชาวจีนโพ้นทะเลทั้ง 6 คน ประกอบด้วย
เล้ากี้ปิง หรือพระยาภักดีภัทรากร (โอ่วจิว อุทกภาชน์) ชาวแต้จิ๋ว
อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน เจ้าสัวค้าไม้ผู้ใจบุญชาวจีนแคะ บรรพบุรุษตระกูล “ล่ำซำ” มหาเศรษฐีหมื่นล้านของเมืองไทย
เตียเกี้ยงซำ หรือพระโสภณเพชรรัตน์ ชาวจีนแต้จิ๋ว บุตรของเตียอูเต็ง (อากรเต็ง)
หว่องห่างเจ๊า (เฮ้งเฮ่งจิว) ชาวจีนกวางตุ้ง
กอฮุยเจี๊ยะ ชาวจีนแต้จิ๋ว บุตรของกอม้าหัว เจ้าสัวโรงสีข้าวรายใหญ่
เล้าชองมิ้น ชาวจีนฮกเกี้ยน ผู้ชื่อไทยคือ มิ้น เลาหเศรษฐี ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาโชฎึกราชเศรษฐี
เจ้าสัวทั้ง 6 บริจาคทรัพย์ส่วนตัวและเรี่ยไรจากชุมชนชาวจีนในสยาม ทั้งกลุ่มจีนแต้จิ๋ว จีนแคะ จีนกวางตุ้ง จีนไหหลำ และจีนฮกเกี้ยน เพื่อใช้ก่อสร้างโรงพยาบาล โดยใช้เงินทั้งสิ้นราว 160,000 บาท กระทั่งแล้วเสร็จในอีก 2 ปีถัดมา คือ พ.ศ. 2448
หนึ่งในจุดเด่นของโรงพยาบาลแห่งนี้คือ ตรงซุ้มประตูมีป้ายคติพจน์ขนาดใหญ่เขียนว่า “ใส่ใจ จดจำความเจ็บปวด ทรมานของผู้อื่น” แสดงให้เห็นถึงความเอื้ออาทรของชาวจีนในพระนคร ที่มีต่อเพื่อนร่วมเชื้อชาติผู้หนีร้อนมาพึ่งเย็น
รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชุมชนชาวจีนในสยามอย่างยิ่ง พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2448 และในวันนั้นทรงบริจาคเงินให้โรงพยาบาลจำนวน 8,000 บาท อีกด้วย
โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2448 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 5 และยังคงดำเนินงานมาถึงปัจจุบัน โดยมีชาวไทยเชื้อสายจีนให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
อ่านเพิ่มเติม :
- “เตียอูเต็ง” จับกังรับจ้างชาวจีน สู่เจ้าสัวใหญ่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นสกุลใด?
- “อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน” เจ้าสัวค้าไม้ผู้ใจบุญ ต้นตระกูล “ล่ำซำ” มหาเศรษฐีหมื่นล้านของเมืองไทย
- “ยี่กอฮง” เจ้าสัวจีนในสยาม ผู้ได้รับบรรดาศักดิ์ขุนนางจีนระดับสูงสุดจากพระนางซูสีไทเฮา
- “มาถ่องเจ็ง” เจ้าสัวจีนกวางตุ้งยุครัชกาลที่ 5 บรรพบุรุษกลุ่มมาบุญครองและฟาร์มโชคชัย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร, สมชาย จิว และนิรันดร นาคสุริยันต์ แปลและเรียบเรียง. ประวัติศาสตร์จีนกรุงสยาม เล่มที่ 3 ยุคก่อร่างสร้างประเทศไทย. กรุงเทพฯ: มติชน, 2568
สั่งซื้อหนังสือชุดนี้ที่เว็บไซต์สำนักพิมพ์มติชน ได้ที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กรกฎาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ สามัคคีกลุ่มจีน 5 ภาษา ช่วยเหลือจีนยากไร้ในสยาม
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com