แมลง"เลิฟบั๊ก" บุกกรุงโซล โลกร้อน-พัฒนาเมืองเร่งขยายถิ่นฐาน
ชาวกรุงโซลกำลังเผชิญกับการระบาดของแมลงที่เรียกว่า “เลิฟบั๊ก” อย่างหนัก ทั้งในเส้นทางเดินป่าและพื้นที่ในเมือง โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นจากภาวะโลกร้อน รวมถึงการพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่อง ทำให้แมลงจากแถบเขตร้อนสามารถขยายถิ่นสู่อากาศอบอุ่นทางตอนเหนือได้มากขึ้น
ภาพไวรัลที่แชร์กันในโซเชียลมีเดียเผยให้เห็นภูเขากเยยังซาน ในเมืองอินชอน ทางตะวันตกของกรุงโซล ซึ่งมีแมลงเลิฟบั๊กปกคลุมแน่นหนาในเส้นทางเดินป่าและจุดชมวิว โดยแมลงเหล่านี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Plecia longiforceps ได้รับฉายา “เลิฟบั๊ก” จากพฤติกรรมบินเกาะกันเป็นคู่ขณะผสมพันธุ์ ตัวผู้มักตายหลังผ่านไป 3-4 วัน ขณะที่ตัวเมียมีอายุอยู่ได้ราวหนึ่งสัปดาห์ ก่อนจะวางไข่หลายร้อยฟองในดินชื้น
แมลงชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในเขตกึ่งร้อนชื้นของจีนตอนใต้ ไต้หวัน และหมู่เกาะริวกิวของญี่ปุ่น โดยถูกพบในเกาหลีใต้ครั้งแรกเมื่อปี 2022 ระหว่างการระบาดครั้งใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า วิกฤตสภาพอากาศและการพัฒนาเมืองโดยรอบพื้นที่ภูเขา รวมถึงปรากฏการณ์เกาะความร้อน (urban heat island) ในกรุงโซล กำลังสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้แมลงเหล่านี้แพร่กระจาย
จำนวนคำร้องเรียนจากประชาชนต่อทางการโซลเพิ่มขึ้นจาก 4,418 ครั้งในปี 2023 เป็น 9,296 ครั้งในปีที่ผ่านมา ขณะที่เมืองอินชอนก็มีรายงานการระบาดมากกว่า 100 ครั้งในวันเดียว
การระบาดที่ขยายวงกว้างยังทำให้เกิดการถกเถียงถึงแนวทางจัดการแมลงชนิดนี้อย่างรุนแรง โดยทางการกรุงโซลออกแถลงการณ์เตือนว่า แม้แมลงเหล่านี้จะมีรูปร่างน่ารังเกียจ แต่ก็มีประโยชน์ทางนิเวศ โดยตัวอ่อนช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุในดิน และแมลงโตเต็มวัยช่วยผสมเกสรพืช พร้อมระบุว่าการใช้สารเคมีกำจัดแมลงอาจทำลายสิ่งมีชีวิตอื่นและส่งผลกระทบต่อมนุษย์
แม้เลิฟบั๊กจะไม่กัดและไม่เป็นพาหะนำโรค แต่ประชาชนจำนวนมากเริ่มหมดความอดทน จากผลสำรวจโดยสถาบันในกรุงโซลพบว่า 86% ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าแมลงชนิดนี้เป็นศัตรูพืช โดยจัดให้เป็นแมลงที่น่ารำคาญเป็นอันดับสาม รองจากแมลงสาบและตัวเรือด
ทางการแนะนำประชาชนให้ฉีดน้ำเพื่อไล่แมลงออกจากพื้นผิว หลีกเลี่ยงไฟสว่างภายนอกบ้าน และติดตั้งกับดักแสงหรือแผ่นกาว รวมถึงสวมเสื้อผ้าสีเข้มเมื่ออยู่นอกอาคาร เนื่องจากแมลงเหล่านี้ชอบสีสดและแสงสว่าง
ด้านนักวิจัยของรัฐบาลกำลังพัฒนาสารชีวภาพจากเชื้อราที่สามารถกำจัดตัวอ่อนของแมลงเลิฟบั๊กโดยไม่ทำลายสมดุลระบบนิเวศ พร้อมกันนี้ก็มีสัญญาณว่าธรรมชาติกำลังควบคุมจำนวนแมลงเหล่านี้อยู่เอง เมื่อพบว่านกบางชนิด เช่น นกกาเหว่าและนกกระจอก เริ่มกินแมลงชนิดนี้เป็นอาหาร ทำให้จำนวนลดลงในบางพื้นที่
อย่างไรก็ตาม การระบาดของเลิฟบั๊กมักอยู่ในช่วงสั้น โดยประชากรแมลงจะลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม เนื่องจากอายุขัยที่สั้นหลังระยะเวลาระบาดประมาณ 2 สัปดาห์