ตั้งคำถามกลางศึกเลือกตั้ง ยูทูบเบอร์วัย 16 งง ‘เจแปนนิสเฟิร์สท์’ ทำไมถึงกลายเป็นการเลือกปฏิบัติ?
ประกาศแล้ว ผลการเลือกตั้งวุฒิสภาของญี่ปุ่น ซึ่งมีการลงคะแนนเสียงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ได้เพียง 39 ที่นั่ง ขณะที่พรรคโคเมโตะ (Komeito) ได้อีก 8 ที่นั่ง รวมพรรคร่วมรัฐบาลทำได้แค่ 47 ที่นั่ง ต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่วางไว้ที่ 50 ที่นั่งเพื่อรักษาเสียงข้างมากในสภาสูง
ท่ามกลางกระแสร่วมรัฐบาลที่สั่นคลอน มีอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในการหาเสียง นั่นคือแนวคิด‘เจแปนนิสเฟิร์สท์’ (日本人ファースト) หรือนโยบายที่ให้ความสำคัญกับคนญี่ปุ่นก่อนในด้านต่าง ๆ เช่น สวัสดิการ แรงงาน หรือความมั่นคง ที่ถูกผลักดันโดยพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดบางพรรคอย่างจริงจัง และกลายเป็นประเด็นถกเถียงทั้งในสภาและบนโลกโซเชียล
หนึ่งในเสียงที่ออกมาแสดงความเห็นคือ ‘ยูตะบง’ ยูทูบเบอร์วัย 16 ปี ซึ่งโพสต์ภาพตัวเองในสีหน้าเคร่งขรึม กำหมัดแน่น พร้อมข้อความว่า “เห็นมีคนบอกว่า ‘เจแปนนิสเฟิร์สท์คือการเลือกปฏิบัติ’ แต่ที่นี่คือญี่ปุ่นแท้ ๆ แล้วการให้คนญี่ปุ่นมาก่อนมันถึงเป็นการเลือกปฏิบัติตรงไหนล่ะ?”
เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า “ผมเองก็จะได้ไปเลือกตั้งเมื่ออายุครบ 18 และอยากเลือกคนที่มีแนวคิดแบบเจแปนนิสเฟิร์สท์ เพราะถ้าไม่อย่างนั้น ญี่ปุ่นอาจไม่ใช่ญี่ปุ่นอีกต่อไป มันน่ากลัวนะครับ ผมอยากปกป้องญี่ปุ่น!!!”
หลังโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป มีชาวเน็ตจำนวนมากร่วมแสดงความเห็น เช่น
- ยูตะบงลงสมัครเลยสิ!
- จริง ๆ แล้วควรมีการถกกันว่า ‘เจแปนนิสเฟิร์สท์’ หมายถึงอะไรแน่ด้วยซ้ำ
- นายกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เท่มากเลยนะ
- นายน่าจะเป็นนักการเมืองได้เลยนะ
การแสดงความเห็นของยูตะบงในครั้งนี้ สะท้อนภาพของเยาวชนญี่ปุ่นที่เริ่มตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่ญี่ปุ่นมีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง กำหนดอายุบรรลุนิติภาวะใหม่ให้เป็น 18 ปี จากเดิมที่ 20 ปี ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มมีบทบาทในกระบวนการเลือกตั้งและการกำหนดทิศทางประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ
สรุปเนื้อหาจาก : x.com/yutabon_youtube, nikkansports, nhk