โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ธปท. ดูแลเงินเฟ้อควบคู่ไปกับเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินอย่างไร

ธนาคารแห่งประเทศไทย

เผยแพร่ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา • นิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์

ในปัจจุบัน คำว่า “เงินเฟ้อ” หมายถึง ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเพิ่มสูงขึ้นของระดับราคาเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น ความต้องการซื้อมากเกินกว่ากำลังการผลิต

หากย้อนกลับไปดูที่มาของคำศัพท์ เราจะเห็นความเชื่อมโยงกับนโยบายการเงินชัดเจนขึ้น เงินเฟ้อเป็นคำไทย มาจาก inflation ในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่าการเป่าลมเข้าไป นักเศรษฐศาสตร์ในอดีตใช้คำนี้เรียกเหตุการณ์ที่รัฐบาลผลิตเงินออกมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากเกินไป ทำให้คนมีเงินในมือเยอะขึ้นและนำเงินไปแย่งกันซื้อสินค้า ราคาสินค้าจึงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของเงินเฟ้อในอดีตที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์ใช้คำว่า inflation เรียกภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม

ตัดกลับมาที่เมืองไทย เมื่อคนทานอาหารมากเกินไปจนเกิดลมในกระเพาะมากขึ้น คนไทยเรียกว่าอาการท้องเฟ้อ การที่ผู้รู้ในอดีตแปล “inflation” เป็นภาษาไทยว่า “เงินเฟ้อ” จึงหมายถึง มีปริมาณเงิน (ลม) มากเกินไปในระบบเศรษฐกิจ (ท้อง) ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความหมายเริ่มแรกในภาษาอังกฤษนั่นเอง

ในอดีต การผลิตเงินเป็นงานของรัฐบาล ซึ่งมักมีแนวโน้มพิมพ์เงินออกมาใช้จ่ายมากเกินไป เพราะผู้พิมพ์เงินและผู้ใช้เงินเป็นองค์กรเดียวกัน ต่อมาเมื่อองค์ความรู้และระบบเศรษฐกิจพัฒนามากขึ้น หน้าที่ดูแลปริมาณเงินจึงถูกโอนให้หน่วยงานที่มีหน้าที่เฉพาะและเป็นอิสระในระดับหนึ่งจากรัฐบาล เรียกว่า ธนาคารกลาง ซึ่งเป็นผู้ดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลให้ปริมาณเงินเหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจ และทำหน้าที่อื่น ๆ อีกหลายด้านเพื่อดูแลให้ระบบการเงินดำเนินไปได้อย่างปกติและมีประสิทธิภาพ

ในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ตัวแปรสำคัญที่กำหนดปริมาณเงิน คือ อัตราดอกเบี้ย เพราะเป็นปัจจัยที่กระทบการตัดสินใจกู้เงินและออมเงินของธุรกิจและประชาชน โดยหากอัตราดอกเบี้ยต่ำลง ธุรกิจและประชาชนจะกู้เงินได้มากขึ้น ปริมาณเงินจะขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้น หากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ธุรกิจและประชาชนจะกู้เงินได้ลดลง ปริมาณเงินจะขยายตัวในอัตราที่น้อยลง ดังนั้น ธนาคารกลางส่วนใหญ่จึงใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินนโยบายการเงิน

กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อคืออะไร

ปัญหาสำคัญข้อหนึ่งของธนาคารกลาง คือ จะดูแลให้ปริมาณเงินให้ขยายตัวเท่าไรจึงจะพอดีกับภาวะเศรษฐกิจ อีกนัยหนึ่งคือ จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่เท่าไรดีจึงจะเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ คำถามนี้ไม่มีคำตอบตายตัว เพราะเศรษฐกิจไม่ได้อยู่กับที่ ขยายตัวเร็วบ้างช้าบ้าง ขึ้นอยู่กับบริบททางเศรษฐกิจในขณะนั้น

ในปี 2533 รัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศนิวซีแลนด์ได้คิดค้นวิธีการหนึ่งขึ้นมา เรียกว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (inflation targeting framework) ซึ่งต่อมาวิธีการนี้ใช้ได้ผลดี จึงเป็นต้นแบบให้ธนาคารกลางอื่น ๆ นำมาใช้ตาม รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้นำกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมาใช้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2543

วิธีการคือ รัฐบาลกับธนาคารกลางร่วมกันกำหนดตัวเลขเงินเฟ้อขึ้นมาเป็นเป้าหมาย แล้วประกาศให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน จากนั้นให้ธนาคารกลางมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน (operational independence) เพื่อบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อดังกล่าว โดยธนาคารกลางต้องมีความโปร่งใสอธิบายได้ว่าตัดสินใจดำเนินนโยบายอย่างไร ด้วยเหตุผลอะไร

ข้อดี ของการมีเป้าหมายเงินเฟ้อ คือ ถ้าทุกคนเชื่อมั่นในตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าว ประชาชนและธุรกิจจะตัดสินใจดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างราบรื่น เช่น หากเชื่อมั่นว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ประชาชนจะตัดสินใจออมเงิน ใช้จ่าย และต่อรองค่าจ้างแบบหนึ่ง ธุรกิจจะตัดสินใจกู้เงิน ลงทุน สั่งซื้อวัตถุดิบมาผลิต และตั้งราคาสินค้าแบบหนึ่ง เรียกว่าธนาคารกลางสามารถยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อเอาไว้ได้

ในทางกลับกัน หากทุกคนไม่เชื่อมั่นแต่คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้น ราคาสินค้าจะแพงขึ้น ประชาชนอาจจะตัดสินใจไม่ออมเงิน แล้วเร่งซื้อสินค้ามากักตุนไว้ ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นอีก รวมไปถึงเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มขึ้น ด้านนักธุรกิจอาจจะเร่งขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนและเงินเฟ้อที่คาดว่าจะสูงขึ้น นั่นคือสถานการณ์ที่ธนาคารกลางไม่สามารถยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อเอาไว้ได้ ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่องยาวนาน

ทั้งนี้ ประชาชนจะมีความเชื่อมั่นมากเพียงใด ขึ้นอยู่กับผลงานในอดีตของธนาคารกลางว่าสามารถดูแลเงินเฟ้อให้บรรลุเป้าหมายได้เพียงใด และขึ้นอยู่กับศิลปะการสื่อสารเพื่อให้ประชาชนเข้าใจสาเหตุของเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริงด้วย

เป้าหมายเงินเฟ้อมีทั้งแบบจุดและแบบช่วง

ในกลุ่มประเทศที่ใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ บางแห่งประกาศเป้าหมายเงินเฟ้อแบบเป็นจุด (point) ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อังกฤษ นิวซีแลนด์ สวีเดน และญี่ปุ่น บางแห่งประกาศเป้าหมายแบบเป็นช่วง (range) ส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทย อินโดนีเซีย อินเดีย ชิลี และเม็กซิโก

เป้าหมายเงินเฟ้อแบบเป็นจุดมีข้อดีคือ เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา แต่ข้อด้อยคือ มีโอกาสน้อยมากที่เงินเฟ้อจริงจะเท่ากับเป้าหมายที่ประกาศไว้ อาจจะสูงกว่าหรือต่ำกว่าขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งธนาคารกลางต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ หากสาธารณชนมีความรู้ในระดับดีและเข้าใจว่าเงินเฟ้อจริงไม่อาจเท่ากับเป้าหมายได้ตลอดเวลา ก็จะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่น

ส่วนข้อดีของเป้าหมายเงินเฟ้อแบบเป็นช่วงคือ ช่วยให้ธนาคารกลางมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการดำเนินนโยบายการเงิน ขณะที่ยังยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนให้อยู่ในระดับต่ำได้ เป้าหมายเงินเฟ้อแบบเป็นช่วงสามารถรองรับความผันผวนระยะสั้นของเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง และความยืดหยุ่นที่มากขึ้นนี้ ช่วยให้ธนาคารกลางสามารถให้น้ำหนักกับเป้าหมายอื่น ๆ ได้ด้วย

ไทยใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น

เศรษฐกิจไทยมีขนาดเล็กและเปิดกว้าง มีความเชื่อมโยงกับต่างประเทศสูงทั้งการค้าและบริการ ความผันผวนจากต่างประเทศจึงกระทบต่อเงินเฟ้อของไทยได้มาก โดยเฉพาะราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ เงินเฟ้อไทยยังมีหมวดอาหารในสัดส่วนสูง ทำให้ความผันผวนของดินฟ้าอากาศกระทบต่อเงินเฟ้อได้มาก เช่น ราคาผักผลไม้หรือราคาเนื้อหมู การที่เงินเฟ้อไทยมีโอกาสเปลี่ยนแปลงบ่อยจากปัจจัยด้านอุปทานดังกล่าว ทำให้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบช่วงเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยมากกว่า ซึ่งล่าสุด ไทยใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3%

ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (flexible inflation targeting) ซึ่งมี 3 เป้าหมาย ได้แก่ เงินเฟ้อ การเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยเน้นดูแลอัตราเงินเฟ้อที่ระยะปานกลาง ทำให้นโยบายการเงินมีความยืดหยุ่นเพราะไม่จำเป็นต้องรักษาอัตราเงินเฟ้อระยะสั้นให้อยู่ในกรอบตลอดเวลา แต่สามารถรักษาสมดุลระหว่างการดูแลอัตราเงินเฟ้อ การส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน และการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินได้

สาเหตุที่ธนาคารกลางไม่ควรใช้เงินเฟ้อเพียงอย่างเดียวในการตัดสินนโยบายการเงิน เพราะว่าอัตราดอกเบี้ยมีความเชื่อมโยงกับกลไกหลายอย่างในระบบเศรษฐกิจ จึงต้องพิจารณาปัจจัยให้รอบด้าน ดังตัวอย่างวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐฯ เมื่อปี 2551 โดยในช่วงปี 2543-2547 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ในระดับต่ำมากเพื่อดูแลเศรษฐกิจ หลังฟองสบู่หุ้นบริษัทอินเทอร์เน็ต (dot-com bubble) แตกในปี 2543 และเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 ในปี 2544 ขณะนั้นเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำจึงไม่เป็นข้อจำกัดในการลดอัตราดอกเบี้ย แต่เมื่อ Fed คงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำนานเกินไปจนถึงปี 2547 ทำให้ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ก่อตัวขึ้น เกิดสินเชื่อสำหรับคนที่มีความเสี่ยงสูงให้กู้ซื้อบ้านได้ (เรียกว่า sub-prime mortgage) เพราะสถาบันการเงินต้องการหาผลตอบแทนสูงขึ้นในช่วงดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงมีการออกตราสารที่ซับซ้อนเพื่อระดมทุนมาปล่อยสินเชื่อบ้านเพิ่มเติม ทำให้ราคาบ้านพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง และในที่สุดเมื่อผู้กู้ไม่สามารถผ่อนชำระสินเชื่อบ้านต่อไปได้ ฟองสบู่จึงแตกลง เกิดเป็นวิกฤตการเงินขึ้น บทเรียนดังกล่าวจึงเตือนใจว่านโยบายการเงินต้องพิจารณาปัจจัยที่รอบด้านทั้งเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน ตลอดจนชั่งน้ำหนักทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

กฎหมายไทยกำหนดให้ภายในเดือนธันวาคมของทุกปี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของ ธปท. จะร่วมกันตกลงเป้าหมายเงินเฟ้อล่วงหน้าสำหรับปีถัดไป และส่งให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อจึงเป็นกระบวนการที่ทำร่วมกันระหว่างรัฐบาลและ ธปท. ขณะที่ กนง. มีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินให้บรรลุเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ นอกจากนี้ กฎหมายกำหนดไว้ด้วยว่า กนง. ต้องส่งรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีเป็นประจำทุก 6 เดือน กนง. จึงไม่ได้เป็นอิสระโดยสิ้นเชิงจากรัฐบาล แต่ทำงานร่วมกันตามบทบาทที่กำหนดไว้เพื่อดูแลเศรษฐกิจไทย

เมื่อเงินเฟ้อหลุด จากกรอบเป้าหมาย ธปท. ทำอย่างไร

ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอยู่เสมอตามเหตุปัจจัย และหลายครั้งที่ออกนอกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี กนง. และทีมงานเจ้าหน้าที่ ธปท. จะพอทราบทิศทางของเงินเฟ้อล่วงหน้าอยู่แล้ว จากการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อใน 8 ไตรมาสข้างหน้า ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกต่าง ๆ และผลจากแบบจำลองทางเศรษฐมิติ

สิ่งที่ กนง. ให้ความสำคัญ คือ สาเหตุที่เงินเฟ้อออกนอกกรอบเป้าหมาย เพราะจะเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ประกอบการตัดสินใจเรื่องนโยบายการเงิน ไม่ใช่การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายทันทีตามข้อมูลเงินเฟ้อที่ออกมาล่าสุด ยกตัวอย่างในปี 2565 ที่เงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สาเหตุของเงินเฟ้อมาจากด้านอุปทาน คือ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมากหลังรัสเซียเริ่มบุกยูเครนในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าเงินเฟ้อจากปัจจัยด้านอุปทานดังกล่าวจะมีผลเพียงชั่วคราว จึงยังไม่ได้รีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในทันที แต่รอให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด 19 อย่างเต็มที่ก่อน และเริ่มทยอยขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2565 โดยขึ้นเพียงครั้งละ 0.25% เท่านั้น เพื่อดูแลเงินเฟ้อที่เริ่มส่งผ่านมาบ้างจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในด้านอุปทาน รวมทั้งช่วยยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชน ซึ่งแตกต่างจาก Fed ที่เร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยขึ้นครั้งละ 0.50% บ้าง หรือครั้งละ 0.75% บ้าง เนื่องจากเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีปัจจัยด้านอุปสงค์ร่วมด้วย เช่น ความต้องการสินค้าและบริการที่สูงขึ้นหลังเปิดเมืองจากวิกฤตโควิด 19 หรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการแจกเงินให้กับประชาชน

เพื่อค้นหาสาเหตุว่าเงินเฟ้อว่ามีที่มาจากปัจจัยด้านอุปสงค์หรือปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ ทีมงานของ ธปท. จะวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกอย่างเต็มที่ เพื่อทำความเข้าใจภาวะและแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อ เช่น การดู “อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน” (core inflation) ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่หักหมวดราคาพลังงานและหมวดราคาอาหารสดออกไป เนื่องจากสองหมวดดังกล่าวมีความผันผวนสูงจากปัจจัยด้านอุปทาน ดังนั้น อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจึงสะท้อนแรงกดดันจากด้านอุปสงค์ได้ดีกว่า หรือการดู “เครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อ” ซึ่งสะท้อนปัจจัยพื้นฐานของเงินเฟ้อ (underlying inflation) อาทิ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักหมวดค่าเช่าที่อยู่อาศัยและหักผลของมาตรการภาครัฐออกไป เช่น การลดค่าน้ำประปา ค่าโดยสาร

เมื่อทราบที่มาที่ไปแล้ว ธปท. จะสื่อสารภาวะและแนวโน้มของเงินเฟ้อให้สาธารณชนทราบผ่านทุกช่องทาง และเพื่อแสดงความรับผิดชอบอย่างเปิดเผย หากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา หรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า ออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะเขียน “จดหมายเปิดผนึก” ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบด้วยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลเงินเฟ้อ โดยจะชี้แจงถึง (1) สาเหตุของการเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย (2) แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อนำอัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมาย และ (3) ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย และ กนง. จะเขียนจดหมายเปิดผนึกอีกครั้ง ทุก 6 เดือน หากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยตามแนวทางข้างต้นยังคงอยู่นอกกรอบเป้าหมาย

การดำเนินนโยบายแบบผสมผสาน : เพราะ ธปท. ไม่ได้มีเพียงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ธปท. ตระหนักถึงข้อจำกัดของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ส่งผลต่อทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง (blunt tool) หากมีปัญหาหลายด้านจะไม่สามารถแบกรับภาระในการแก้ปัญหาได้พร้อมกัน เพราะการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ปัญหาที่จุดหนึ่งมากเกินไป อาจนำไปสู่การสะสมความเสี่ยงในภาคส่วนอื่นได้ ดังนั้นธปท. จึงนำเครื่องมือเชิงนโยบายอื่น ๆ มาใช้ร่วมกัน เรียกว่า กรอบการดำเนินนโยบายแบบผสมผสาน (Integrated Policy Framework: IPF) เพื่อให้บรรลุทั้ง 3 เป้าหมาย คือ เสถียรภาพด้านราคา การเติบโตของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงิน ไปพร้อมกัน

ตัวอย่างเช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทยในแต่ละช่วงเวลา อาจสูงกว่าหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐฯ ได้ เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศจึงอาจไหลเข้าหรือไหลออกจำนวนมากในบางจังหวะและกระทบต่อค่าเงินบาทในระยะสั้น ทั้งนี้ ประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ (managed float) หากค่าเงินบาทผันผวนมากเกินไป ธปท. สามารถเข้าไปดูแลค่าเงินบาทได้โดยการซื้อขายเงินตราต่างประเทศด้วยทุนสำรองที่มีอยู่ หรืออาจมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท เป็นต้น

อีกตัวอย่างหนึ่ง ในช่วงปี 2558-2561 ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องที่ 1.50% เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ แต่เริ่มเห็นสัญญาณของฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์และหนี้ครัวเรือน ธปท. จึงได้ใช้มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential measure) ซึ่งมีผลเฉพาะจุด โดยไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยสูงซึ่งอาจมีผล กระทบในวงกว้าง เช่น การออกมาตรการ LTV สำหรับการกู้ซื้อบ้านสัญญาที่สองขึ้นไป เพื่อดูแลความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ หรือการจำกัดให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท กู้สินเชื่อส่วนบุคคลได้ไม่เกิน 1.5 เท่าของเงินเดือนและกู้ได้ไม่เกิน 3 บริษัท เพื่อดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือน

หรือในช่วงวิกฤตโควิด 19 ธปท. ลดอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 0.50% การจะลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอีกอาจไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจเพิ่มเติม แต่อาจสร้างปัญหาเงินเฟ้อและเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต ธปท. จึงได้ใช้มาตรการทางการเงิน (financial measure) ที่ตรงจุดและตอบโจทย์ เช่น การร่วมกับรัฐบาลออกพระราชกำหนดเพื่อพักชำระหนี้ชั่วคราวและการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) หรือการออกมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ มาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ฯลฯ ซึ่งสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้กับประชาชนและภาคธุรกิจได้อย่างตรงจุดในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด 19

การดำเนินนโยบายแบบผสมผสานทำให้แต่ละเครื่องมือไม่ต้องรับภาระมากเกินไป และสามารถใช้นโยบายในจุดที่เหมาะสมที่สุดได้ในแต่ละสถานการณ์ แนวทางนี้สอดคล้องกับสิ่งที่องค์กรระหว่างประเทศทั้ง IMF และ BIS แนะนำ ทั้งนี้ ภายใต้ความไม่แน่นอนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต ธปท. จะติดตามความเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ เศรษฐกิจ และระบบการเงินอย่างต่อเนื่อง และพร้อมปรับนโยบายให้เหมาะสมกับแนวโน้มและความเสี่ยงในระยะข้างหน้าต่อไป

Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

วิดีโอแนะนำ

ข่าว ไอที ธุรกิจ อื่น ๆ

NSL Foods ทุ่ม 800 ล้านบาท สร้างโรงงานใหม่ ดันกำลังผลิตแซนวิช โกยรายได้โต 16%

กรุงเทพธุรกิจ

รถไฟฯ รวมพลังจิตอาสา Big Cleaning Day ที่หยุดรถแม่พวก จ.แพร่ ต้อนรับ “วิ่ง-ป่า-ลาบ 68” เฉลิมพระเกียรติ เดือนมหามงคล

สยามรัฐ

“MAJOR × OMODA & JAECOO” ชวนคอหนัง ออกเดินทางแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ลุ้นบินโอซาก้า! สัมผัสประสบการณ์สุดมันส์ในโลกภาพยนตร์

สยามรัฐ

NIA เปิดมหกรรมนวัตกรรมและเครือข่ายสตาร์ตอัป “SITE 2025” หนุนไทยสู่ศูนย์กลางนวัตกรรมโลก “Global Innovation Partnership”

สยามรัฐ

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 30 มิ.ย. – 4 ก.ค. 68)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ส่งออกเม็ดพลาสติก Polyethylene (PE) ไทย ปี 2025 คาดว่าจะลดลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ข่าวและบทความยอดนิยม

Loading...