ธปท.ชี้ tariff ทำเศรษฐกิจชะลอยาวถึงต้นปีหน้า
กรุงเทพฯ 9 ก.ค. – ธปท.ชี้ tariff ทำเศรษฐกิจชะลอยาวถึงต้นปีหน้า กระทบส่งออกครึ่งหลังปีนี้ -4% ส่วนปีหน้า -2% ปัดตอบหากไทยโดนเก็บภาษีสูงสุด 36% แต่จะเป็น shock สำคัญที่สุด ระบุดอกเบี้ยนโยบายอยู่ระดับผ่อนคลาย-เหมาะสม แต่พร้อมปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ยันจับตาใกล้ชิด
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยยายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานแถลง Monetary Policy Forum 2/2568 ถึง กรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ ส่งจดหมายถึงไทยประกาศเลื่อนบังคับใช้การเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้จาก 9 ก.ค.68 เป็นวันที่ 1 ส.ค.68 เรียกเก็บภาษีไทยในอัตราสูงสุด 36% นั้น ตลาดการเงินโลกมีการคาดการณ์ในส่วนนี้ไว้ระดับหนึ่ง จึงไม่ได้ปรับตัวรุนแรง รวมทั้งตลาดการเงินไทยด้วยเช่นกัน จึงต้องติดตามความชัดเจนในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม มองว่ายังมีช่วงเวลาของการเจรจา
สำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง สะท้อนจากเครื่องชี้ไตรมาส 1 และ 2 ที่ออกมา แต่ระยะข้างหน้ายังคงมีความท้าทายหลายด้าน ทั้งมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ที่กระทบการส่งออกและการลงทุน โดยประเมินว่าส่งออกครึ่งหลังของปี 2568 จะติดลบ 4% และต่อเนื่องไปจนถึงปี 2569 ที่จะติดลบ 2% อีกทั้งการท่องเที่ยวที่เติบโตช้ากว่าที่คาด ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้จะกระทบกับการบริโภคยาวไปถึงปีหน้า ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ได้รวบรวมปัจจัยดังกล่าวไว้ในการประชุมเพื่อกำหนดแนวโน้มนโยบายแล้ว ทั้งนี้ มาตรการภาษีสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ไม่แรงและเร็วแบบช่วงโควิด (shock) แต่จะส่งผลระยะยาวในภาคการส่งออกไปยังสหรัฐฯ รวมทั้งขึ้นอยู่กับการปรับตัวของภาคธุรกิจด้วย
ทั้งนี้ นโยบายทางการเงิน มองว่าควรจะผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า ดังนั้น กนง. จึงพร้อมที่จะปรับนโยบายเพิ่มเติมหากมีความเสี่ยงชัดเจนเพิ่มสูงขึ้น
ส่วนข้อเสนอของไทยต่อสหรัฐนั้น ต้องดูความชัดเจนในรายละเอียด โดยเฉพาะการลดภาษีนำเข้าเพิ่มเติม จะกระทบภาคการผลิตแค่ไหน หากเป็นสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศและยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ก็จะกระทบน้อยลง
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธปท. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ได้ส่งหนังสือไปยังรัฐบาล ถึงสิ่งที่ควรให้ความสำคัญทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเห็นตรงกันว่าต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าต่างประเทศทะลักเข้าไทยเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นรายย่อย SMEs ที่มีสัดส่วนการจ้างงานจำนวนมาก โดยให้ความสำคัญกับมาตรฐานการนำเข้าสินค้า การทุ่มตลาด แพลตฟอร์มการนำเข้าสินค้า ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้นที่ต้องเร่งดำเนินการ
ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองในประเทศ มองว่าอาจส่งผลกระทบต่องบประมาณที่อาจล่าช้า มีประสบการเมืองสองปีที่แล้ว ส่งผลต่อการใช้จ่ายต่อเนื่องในการลงทุนภาคเอกชน
ด้านนายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า จากการประชุม กนง.ที่ผ่านมา ได้ประเมินสถานการณ์การจากการขึ้นกำแพงภาษีสหรัฐฯ ไว้ในหลายด้าน การถูกเรียกเก็บภาษีการนำเข้า 18% อยู่บนสมมติฐานที่พอจะเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าประเทศไทยจะถูกเรียกเก็บภาษี ในอัตราเท่าใดหรือจะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ (technical recessione หรือไม่ แต่การเติบโตเศรษฐกิจไทย ครึ่งหลัง ปี 68 จะชะลอตัวลงแน่นอน จึงปรับลดประมาณการณ์ GDP ปี 69 จะขยายตัวที่ 1.7% ซึ่งถือว่าเป็นการขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ
ทั้งนี้ การถูกเรียกเก็บภาษีจะกระทบภาคการส่งออกแค่บางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งถือว่ามีสัดส่วน 40% ที่ถูกเป็นอัตราภาษีระดับเท่ากันทั้งโลก เนื่องจากบางรายกลุ่มอุตสาหกรรมเช่นอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นส่วนยานยนต์ถูกเรียกเก็บภาษีในระดับ 25% ไปตั้งแต่ต้นแล้ว
สำหรับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำและต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย มองว่าไม่ได้เกิดจากประชาชนชะลอการบริโภค ไม่ได้เกิดภาวะเงินฝืด แต่เกิดจากราคาพลังงานและ ราคาอาหารสดที่ปรับลดลง
ส่วนค่าเงินบาท ยอมรับว่าแข็งค่าขึ้นแต่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค และอยู่ในระดับกลางเมื่อเทียบกับภูมิภาค ซึ่ง ธปท. ยังคงติดตามอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ธปท. ดูแลนโยบายการเงินไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมองว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย และเอื้อต่อการขยายตัวได้ แต่ก็พร้อมที่จะปรับดอกเบี้ยถ้าหากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงไป.-516-สำนักข่าวไทย