การจัดการแหล่งท่องเที่ยว Dark Tourism เพื่อส่งต่อความรู้และเยียวยาชุมชน
การท่องเที่ยวในที่ที่เคยเกิดเหตุโศกนาฏกรรม หรือที่เรียกว่า dark tourism ได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น เพราะความต้องการสำรวจหรือเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ความตื่นเต้นที่ได้สัมผัสประสบการณ์ที่ต่างจากแหล่งท่องเที่ยวทั่วไป หรือกระแสบนสื่อสังคมออนไลน์ก็ตาม
เว็บไซต์ dark-tourism.com ประมาณการว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีสถานที่ท่องเที่ยวแบบ dark tourism มากกว่า 900 แห่งจากทั้งหมด 112 ประเทศ แต่ละแห่งมีจุดประสงค์ต่างกันไป
อาทิ พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานสันติภาพฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น สร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมสันติภาพและย้ำเตือนถึงการสูญเสียจากระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่สอง
หรือพิพิธภัณฑ์ค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ ประเทศโปแลนด์ ถูกเก็บรักษาไว้เพื่อรำลึกถึงชาวยิวที่ถูกทรมานและเสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่สอง
ส่วนในประเทศไทยก็มีสถานที่อย่างสุสานทหารสัมพันธมิตรและช่องเขาขาด จังหวัดกาญจนบุรี ที่ทำหน้าที่อนสรณ์สถานรำลึกถึงเชลยศึกที่เสียชีวิตจากการถูกบังคับสร้างทางรถไฟสายมรณะ และสวนอนุสรณ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา ที่สร้างเพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิตจากคลื่นสึนามิเมื่อปี พ.ศ. 2547 เป็นต้น
ย้อนไปเมื่อปี ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539) Malcolm Foley และ J. John Lennon แสดงความเห็นผ่านบทความวิชาการที่ริเริ่มใช้คำว่า dark tourism เป็นครั้งแรก ชื่อ “JFK and Dark Tourism: A Fascination with Assassination” ไว้ว่า
การท่องเที่ยว dark tourism ควรเป็นการไปเยือนสถานที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์เศร้าสลด ความรุนแรง หรือความสูญเสีย เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ทำความเข้าใจความซับซ้อนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
และตั้งคำถามต่อข้อมูลที่เรารับรู้กับสิ่งที่ปรากฏอยู่ ณ ที่แห่งนั้น เพื่อการตระหนักรู้และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกันซ้ำรอยหรือถูกลืมเลือนหายไป ไม่ใช่มุ่งหวังเพียงแค่ความบันเทิงเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำและความขัดแย้งอันแสนเจ็บปวด ก็เป็นธรรมดาที่เหตุการณ์ที่อยู่เบื้องหลัง dark tourism เหล่านั้นจะถูกเล่าและตีความแตกต่างกันไปและอาจซับซ้อนกว่าเดิม จะด้วยข้อเท็จจริงหรืออคติก็ตาม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีประเด็นอ่อนไหวหรือเชื่อมโยงกับอำนาจในมิติอื่น ๆ ทั้งการเมือง วัฒนธรรม หรือผลประโยชน์
การเล่าเรื่องในแหล่งท่องเที่ยวเชิง dark tourism ก็อาจถูกกำกับหรือกดดันให้สอดคล้องไปกับแนวคิดและความต้องการของแหล่งอำนาจแต่ละแหล่ง สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้สถานที่เหล่านี้ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน บิดเบือน หรือมีบางส่วนถูกลบเลือนหายไป ยังความเข้าใจผิดสู่สาธารณชน
ตัวอย่างในไทยที่สะท้อนกรณีดังกล่าว คืออนุสาวรีย์รูปกระสุนปืนบริเวณสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ที่สร้างเพื่อรำลึกเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับชาวมลายูมุสลิมตำบลดุซงญอเมื่อปี พ.ศ. 2491 จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 400 คน ที่ฝ่ายรัฐมองว่า
นี่คือสัญลักษณ์ของชัยชนะในการปราบกบฏมลายูมุสลิม สวนทางกับคนในพื้นที่บางส่วนที่มองเหตุการณ์นั้นในฐานะ “การลุกขึ้นต่อสู้” กับอำนาจรัฐของชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่
ส่วนในอินโดนีเซีย ก็มีพิพิธภัณฑ์แห่งการทรยศของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย ที่ฝ่ายรัฐสร้างขึ้นเพื่อเล่าเรื่องความโหดร้ายของพรรคคอมมิวนิสต์ที่สังหารนายพล 7 คนและพยายามรัฐประหารเมื่อปี ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508) และฉลองความสำเร็จของการกวาดล้างขบวนการคอมมิวนิสต์ของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต
แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกว้างล้างดังกล่าว กลับมองสถานที่แห่งนี้ในฐานะสัญลักษณ์ของการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ ทั้งการจับกุม ทรมานร่างกาย และสังหารประชาชนกว่า 2 ล้านคน
จากทั้งสองตัวอย่างทำให้เห็นว่า สถานที่ท่องเที่ยวเชิง dark tourism ต่างมีอำนาจและความเป็นการเมืองของมันกำหนดทิศทางเรื่องเล่าและเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นบนสถานที่เหล่านั้น
ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยสมานรอยแยกของสังคม และไม่ชำระข้อเท็จจริงอย่างเป็นธรรมแล้ว ยังสุ่มเสี่ยงที่จะสร้างบาดแผลซ้ำแก่เหยื่อ และผลิตซ้ำความเกลียดชังวนเวียนไม่รู้จบ
แล้วเราจะบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว dark tourism ให้สามารถส่งต่อความรู้ บทเรียน และเยียวยาชุมชนที่เคยผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากการครอบงำของอำนาจ ความเกลียดชัง และอคติได้อย่างไร?
เราขอแนะนำโดยแบ่งเป็นมิติต่าง ๆ ดังนี้
ในมิติของนักท่องเที่ยวหรือผู้นิยมชมชอบเรื่องราวโศกนาฏกรรมและความขัดแย้ง ควรเปิดมุมมองให้กว้างและลึกขึ้น ขยันตั้งข้อสงสัยและค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม ระวังไหวกับความเปราะบางทางอารมณ์ของผู้ที่เคยร่วมเหตุการณ์ และเปิดใจรับฟังประสบการณ์จากคนในพื้นที่หรือผู้ที่ผ่านเหตุการณ์โดยตรง
เพื่อให้การท่องเที่ยวเชิง dark tourism มีประโยชน์และความหมาย มากกว่าการเข้าไปซึมซับอารมณ์ความรู้สึกอย่างผิวเผินที่อาจเคลือบแฝงด้วยอคติหรือความเกลียดชังอย่างล้นเกินได้
ในมิติของผู้คนและชุมชนที่ผ่านเหตุการณ์ใน dark tourism ควรเปิดให้แหล่งท่องเที่ยวประเภทนี้เป็นพื้นที่ที่พวกเขาได้บอกเล่าประสบการณ์ ความทรงจำ และความเจ็บปวดของตนเอง รวมถึงวิธีฟื้นตัวจากความเจ็บปวดด้วยเสียงของพวกเขาเอง โดยปราศจากอำนาจใดมากำกับ
เพื่อเป็นบทเรียนแก่สาธารณชน และโอกาสให้พวกเขาได้เยียวยาบาดแผล ชดเชยความสูญเสีย และรู้สึกถึงคุณค่า/ความสำคัญของตนเอง ผ่านการแบ่งปันและบอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้นด้วย
ส่วนในมิติเศรษฐกิจที่สำคัญไม่แพ้กัน ต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของผู้คนและชุมชนเจ้าของพื้นที่ รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากเหตุการณ์และความสูญเสียอย่างแท้จริง
ไม่ให้ถูกซ้ำเติมจากเข้ามาเก็บเกี่ยวหรือจัดสรรผลประโยชน์อย่างไม่สมดุลของบรรดาเอกชนรายใหญ่ กลุ่มอิทธิพล หรือรัฐส่วนกลาง โดยที่ฝ่ายแรกไม่ได้อะไรกลับมาเลย หรือได้รับเพียงน้อยนิด
ส่วนผู้ที่เหมาะสมจะมาทำหน้าที่บริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว dark tourism นั้น สำหรับผู้เขียนแล้ว ก็คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดชุมชนและประชาชนในพื้นที่ และมีแนวโน้มที่จะเข้าใจบริบท ความเปราะบาง และความอ่อนไหวจากเหตุโศกนาฏกรรมเหล่านั้นมากกว่ารัฐส่วนกลาง
โจทย์ใหญ่ก็คือ จะมีกระบวนการหรือวิธีการใดที่จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการแหล่งท่องเที่ยวเหล่านั้น ให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ปราศจากอคติ
อีกทั้งยังสร้างพลังบวกให้แก่ทั้งนักท่องเที่ยวและชุมชน มากกว่าเป็นเพียง “สวนสนุก” เพื่อสนองความตื่นเต้น เร้าอารมณ์โศกเศร้า หรือเลยเถิดไปจนปลุกกระแสความเกลียดชัง
คำแนะนำที่พอจะให้ได้ก็คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องออกแบบการท่องเที่ยวร่วมกับชุมชน ช่วยสร้างสรรค์กิจกรรมที่เคารพความทรงจำ มุ่งกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวให้แก่คนในท้องถิ่นอย่างเป็นธรรม
รักษาสมดุลระหว่างการส่งเสริมท่องเที่ยวกับการอนุรักษ์ รวมถึงการเลือกนำเสนอเนื้อหาที่สะท้อนแง่มุมที่หลากหลาย ช่วยผลักดันความทรงจำท้องถิ่นไปสู่ความเข้าใจของสาธารณะ
ตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งคือ เมืองริกูเซ็นตากาตะ ประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในเมืองที่ถูกสึนามิถล่มเมื่อปี ค.ศ. 2011 (2554) ที่ทางเทศบาลเมืองได้ฟื้นฟูเมืองพร้อมกับจัดให้มี dark tourism ในพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเรียนรู้ถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้น
พร้อมทั้งทำความเข้าใจความตาย ความเจ็บปวด และการฟื้นฟูจิตใจของผู้ประสบภัย โดยมีบรรดาผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นมาเป็นผู้ให้ข้อมูลด้วยตนเอง
ส่วนอีกตัวอย่างที่แม้จะไม่ใช่เรื่องของการท่องเที่ยวโดยตรงคือ เมืองมาลาวี ประเทศฟิลิปปินส์ ที่หลังจากเผชิญสงครามระหว่างกองทัพฟิลิปปินส์กับกลุ่มผู้ก่อการร้ายเครือข่ายกลุ่มรัฐอิสลาม เมื่อปี ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) ที่ส่งผลให้ประชาชนกว่า 1 ล้านคนต้องไร้ที่อยู่ และโครงสร้างพื้นฐานและระบบเศรษฐกิจของเมืองถูกทำลาย
รัฐบาลท้องถิ่นก็จัดการวางแผนและออกแบบแนวทางฟื้นฟูเมืองร่วมกับชุมชน จัดให้มีการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คน พร้อมกับฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยทุกอย่างดำเนินไปอย่างระมัดระวังและอยู่ภายใต้ความเคารพต่อคุณค่าทางวัฒนธรรมดั้งเดิม ขณะที่รัฐบาลส่วนกลางทำหน้าที่ฝ่ายสนับสนุน
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้เห็นว่าการให้อำนาจท้องถิ่นในการจัดการและกำหนดแนวทางฟื้นฟูพื้นที่โศกนาฏกรรมตั้งแต่การวางงบประมาณ การตัดสินใจ การสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการดูแลความหมายของสถานที่ จึงเป็นหัวใจสำคัญของการทำให้ dark tourism กระจายผลประโยชน์สู่ชุมชนอย่างเป็นธรรม ไม่กลายเป็นการแสวงประโยชน์เพียงด้านเดียว
และนั่นจะเป็นหนทางที่จะทำให้ dark tourism มีศักยภาพในการส่งเสริมการเรียนรู้ การฟื้นฟู และเชื่อมโยงความทรงจำของผู้คนจากอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างสังคมที่เข้าใจคุณค่าของชีวิตและหลีกเลี่ยงไม่ให้ประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดซ้ำรอยอีกครั้ง.