“กสทช.” เอาจริงสร้างภาคีเครือข่าย ต้านเสนอความรุนแรง-ข้อมูลบิดเบือน
ในยุคที่สื่อต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือด เพื่อให้ได้เรทติ้งสูงเพื่อดึงดูดรายได้จากเม็ดเงินโฆษณา ส่งผลให้การนำเสนอเนื้อหาของข่าว หรือรายการอาจหมิ่นเหม่ต่อจรรยาบรรณและวิชาชีพ รวมถึงอาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างสังคมได้
สำนักงาน กสทช.ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ก็หลีกเลี่ยงการตรวจสอบให้ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องดูแลผู้ผลิตรายการในช่องให้ผลิตเนื้อหาให้อยู่ในกรอบชองกฎหมายและวิชาชีพ
ล่าสุด กสทช. จึงได้ประชุมหารือเพื่อสร้างภาคีเครือข่ายในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการนำเสนอเนื้อหารายการบนพื้นฐานจริยธรรมและต่อต้านการนำเสนอความรุนแรง ข้อมูลบิดเบือนในสื่อเพื่อปกป้องสิทธิพลเมือง โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคการเมือง ภาควิชาชีพสื่อมวลชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และผู้ประกอบกิจการสื่อ เพื่อสร้างเครือข่ายรณรงค์ต่อต้านการนำเสนอความรุนแรงและข้อมูลบิดเบือนในสื่อก่อนประชาชนจะชินชาและเกิดผลร้ายต่อสังคมยิ่งกว่าเดิม
“พิรงรอง รามสูต” กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ บอกว่า การแข่งขันกันสูง ทำให้ผู้ผลิตสื่อจำนวนหนึ่งพยายามหาทางอยู่รอดด้วยการดึงเรตติ้ง นำเสนอเนื้อหาที่มีความรุนแรง เล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของคนจนอาจละเลยความถูกต้องของข้อมูล ประเด็นทางจริยธรรมและสร้างความเคยชินให้กับผู้ชม ซึ่งเป็นการลดคุณค่าของข่าวและลดทอนพื้นที่ในการนำเสนอข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
"ที่ผ่านมาแม้ผู้ประกอบกิจการบางรายถูกร้องเรียนหรือถูกลงโทษตามกฎหมายเป็นประจำแต่ก็ยังมีการกระทำผิดอยู่เสมอ แม้ กสทช. จะมีสถานะเป็นองค์กรกำกับดูแล แต่ก็มิอาจดำเนินการแก้ปัญหานี้โดยลำพัง เพราะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในภาพกว้างและหลากหลายมิติ จึงได้เชิญผู้เกี่ยวข้องที่มีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหามาแลกเปลี่ยนร่วมกัน เพื่อหาแนวทางความเป็นไปได้ในการรณรงค์และต่อต้านความรุนแรงในสื่อ ตลอดจนปัญหาข่าวปลอม ข้อมูลบิดเบือนดังที่ปรากฏเป็นปัญหาในปัจจุบัน" กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ระบุ
อย่างไรก็ตาม ทางผู้เข้าร่วมประชุมต่างนำเสนอแนวทางและความเห็นที่หลากหลาย โดยในส่วนของมุมของสื่อ นั้น ทาง “ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์” ผู้อำนวยการบริหาร สถาบันอิศรา “เดียว วรตั้งตระกูล” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ช่อง One31 และ “เสถียร วิริยะพรรณพงศา” ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTV HD36 ได้มีความคิดเห็นตรงกันว่า ทาง กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการให้คุณให้โทษโดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง และเปิดเผยข้อมูลการกระทำผิดให้สาธารณชนได้รับทราบ อีกทั้งยังควรเพิ่มการสนับสนุนแก่สื่อที่นำเสนอเนื้อหาอย่างมีจริยธรรมด้วย นอกจากนี้ กลไกในการรับเรื่องร้องเรียนทั้งของหน่วยงานของรัฐ และกลไกการกำกับดูแลกันเองควรเปิดช่องทาง ที่เข้าถึงและดำเนินการได้ง่าย รวมถึงสามารถติดตามข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
ขณะที่ตัวแทนจากภาคการเมือง“ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์” รองประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร บอกว่า การนำเสนอข่าวควรเป็นพื้นที่แห่งข้อเท็จจริง ไม่ใช่เวทีตัดสินชีวิตคน นอกจากนี้ การขยี้ข่าวไม่ได้เป็นเพียงปัญหาทางจริยธรรม แต่คือการละเมิดสิทธิของผู้ที่ปรากฏในข่าว ทั้งในฐานะแหล่งข่าว ผู้ถูกกล่าวถึง หรือแม้แต่ญาติของผู้เสียหายที่ไม่มีโอกาสปกป้องตนเองในพื้นที่สื่อ
"เราจำเป็นต้องตั้งคำถามกับสิทธิประโยชน์ที่สื่อได้รับจากการอ้างตนว่าเป็น รายการข่าว ทั้งที่ลักษณะการนำเสนอแทบไม่ต่างจากรายการบันเทิง หากรายการข่าวใดใช้ชีวิตของผู้อื่นเป็นวัตถุดิบหลัก สร้างเนื้อหาแบบดราม่าเพื่อเรียกเรตติ้ง รายการนั้นไม่ควรถูกนับว่าเป็น ข่าว อีกต่อไป ควรถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่รายการบันเทิง และต้องเข้าสู่หลักเกณฑ์เดียวกับการใช้เรื่องจริงในงานละคร ได้แก่ การขออนุญาต การจ่ายค่าลิขสิทธิ์เรื่องราว และการชดเชยผู้ให้สัมภาษณ์ในกรณีที่มีการเผยแพร่ซ้ำเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ" ธัญวัจน์ กล่าว
อย่างไรก็ตามในภาคของหน่วยงานรัฐที่ต้องทำหน้าที่เกี่ยวกับสิทธิของเด็กนั้น ทาง “โอภาส ภูครองนาค” ผู้อำนวยการกลุ่มสื่อสารองค์กร กรมกิจการเด็กและเยาวชน บอกว่า จุดเริ่มต้นของการละเมิดสิทธิเด็ก บางทีมีที่มาจากอินฟลูเอนเซอร์หรือประชาชน ที่ไปพบเห็นการกระทำที่เข้าข่าย แล้วถ่ายภาพ ถ่ายวีดิโอมาเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยที่อาจไม่ได้ตระหนักว่า สิ่งที่โพสต์ไปแล้ว หรือสื่อกระแสหลักนำมาเสนอสู่สาธารณะ จะกลายเป็น digital footprint ที่ตอกย้ำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเด็กอย่างไม่รู้จบ
“เคยมีผู้ผลิตรายการหลายรายมาขอคำปรึกษาจาก พม. เกี่ยวกับการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเด็ก และได้ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในเรื่องการปกปิดข้อมูลส่วนบุคคลของเด็ก จึงเชื่อว่าปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กโดยสื่อ น่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น หากมีการประสานการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน”
ขณะที่ภาคนักวิชาการ “วรัชญ์ ครุจิต” อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ นิด้า บอกว่า ในอุตสาหกรรมต้องหาจุดสมดุลระหว่างการหารายได้และการกำกับดูแล รวมทั้งหาโมเดลทางธุรกิจที่เอื้อต่อการประกอบกิจการสื่ออย่างมีจริยธรรม นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมบทบาทของภาคประชาชนให้เข้มแข็งด้วย
อย่างไรก็ตาม ทาง สำนักกำกับผัง เนื้อหารายการ และพัฒนาผู้ประกาศในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช. ได้นำเสนอผลการวิเคราะห์สถิติรับเรื่องร้องเรียนและการตรวจสอบพบกรณีการนำเสนอข่าวที่มีความรุนแรงว่า ประเด็นที่พบบ่อยจากเรื่องร้องเรียน ได้แก่ การจำลองเหตุการณ์โดยใช้ภาพกราฟฟิกแบบ Immersive การนำเสนอคลิปเหตุการณ์ความรุนแรงแล้ววนภาพเหตุการณ์ซ้ำ ๆ การใช้ภาษาเร้าอารมณ์ การนำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง การเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก การละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว การสัมภาษณ์บุคคลที่ไม่พร้อมให้สัมภาษณ์ และการนำเสนอภาพศพ
ส่วนประเภทข่าวที่ถูกร้องเรียนมาก ได้แก่ ข่าวที่เกี่ยวข้องกับเด็กและครอบครัว ข่าวโศกนาฏกรรม ข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ ข่าวที่นำมาจากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ และข่าวความเชื่อทางไสยศาสตร์
สุดท้ายแล้ว สำนักงาน กสทช.จะรวบรวมประเด็นข้อมูลที่มีการอภิปราย เพื่อนำไปกำหนดทิศทางในการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ ขับเคลื่อนประเด็นนี้ในสังคม พร้อมวงภาคีผู้เข้าร่วม เพื่อผลักดันการต่อต้านเนื้อหาที่รุนแรงและข้อมูลบิดเบือนในสื่ออย่างต่อเนื่องต่อไป.
จิราวัฒน์ จารุพันธ์