โอกาสและความท้าทาย ในการทำธุรกิจสินแร่ในเมียนมา
ช่วงที่ผ่านมา ได้มีเพื่อนๆ ที่เป็นแฟนคลับได้เข้ามาสอบถามผม เรื่องของการทำธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายสินแร่จากประเทศเมียนมา นำเข้ามาผ่านแดนจากไทยไปยังประเทศที่สามกันหลายราย บางท่านก็เพียงแต่อยากซื้อมา-ขายไป บางท่านก็ถึงกับอยากจะเข้าไปดำเนินการเปิดเหมืองเองเลยก็มี ซึ่งก็ไม่แปลกหรอกครับที่จะมีคนสนใจ เพราะว่ามูลค่าของการซื้อ-ขายแต่ละครั้ง จำนวนเงินค่อนข้างจะเย้ายวนใจมากๆ แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ได้แต่แนะนำไปว่า การซื้อ-การขายสินแร่นั้น ต้องมีความเข้าใจในบริบทของธุรกิจนี้ให้ดี ใช่ว่าใครๆ ก็สามารถทำได้ เพราะถ้ามันง่าย ทุกคนก็เป็นอภิมหาเศรษฐีกันหมดแล้วครับ
ก่อนอื่นผมต้องบอกว่า ทุกคนต่างก็ล้วนทราบกันเป็นอย่างดีว่า ประเทศเมียนมาเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินแร่ที่ทั้งเป็นแร่ธาตุทั่วๆ ไป อัญมณี และแร่หนักที่หายาก HREEs (Heavy Rare Earth Elements) ทำให้เป็นเป้าหมายที่น่าสนใจ สำหรับนักลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจในภาคส่วนนี้ของเมียนมานั้น มีความซับซ้อนซึ่งมีทั้งโอกาสและความท้าทาย ที่สำคัญที่นักลงทุนที่จะเข้าไปลงทุน ควรจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
สำหรับการที่จะดำเนินการซื้อมา-ขายไป ก่อนอื่นต้องเข้าใจในห่วงโซ่ของธุรกิจ (Business Chain) ให้ถ่องแท้เสียก่อน ซึ่งธุรกิจดังกล่าวนี้มีผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่หลายขั้น เริ่มจากกลุ่มที่ 1 ผู้ผลิต (เจ้าของเหมืองแร่) กลุ่มที่ 2 พ่อค้าคนกลาง กลุ่มที่ 3 ผู้ดำเนินการขนส่ง (โลจิสติกส์) กลุ่มที่ 4 ผู้นำเข้าจากทางฝั่งชายแดนไทย และกลุ่มที่ 5 ผู้ซื้อตัวจริงจากประเทศที่สาม
เรามาดูกันตั้งแต่เริ่มต้นจากกลุ่มที่ 1 ผู้ผลิตหรือเจ้าของเหมือง ซึ่งส่วนใหญ่ที่ทำเหมืองแร่จะมีสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มนายทุนจากต่างประเทศ (ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่จากสาธารณรัฐประชาชนจีน) หรือไม่ก็เป็นบริษัทใหญ่ในท้องถิ่น แน่นอนว่ามักจะเป็นบริษัทที่กำลังทรัพย์สูงมาก ต้องอย่าลืมว่าคนรวยในประเทศเมียนมา มักจะเป็นคนรวยจริง เพราะที่ประเทศเมียนมา การกู้ยืมเงินจากธนาคารหรือการระดมทุนจากตลาดทุนนั้น แทบจะเป็นศูนย์เลยครับ ส่วนใหญ่เขาจะใช้เงินสดมาดำเนินธุรกิจกันครับ
ดังนั้นกลุ่มนี้เขาจะมีคู่ค้าที่เป็นกลุ่มที่ 5 อยู่ก่อนแล้ว เขาจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเสาะหาตลาดอีกครับ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มรายย่อย ที่อาศัยเครื่องไม้เครื่องมือธรรมดาๆ ไม่มีเครื่องจักรกลมากมายนักในการทำเหมืองแร่ กลุ่มนี้เขาก็จะขายผ่านกลุ่มที่ 2 หรือพ่อค้าคนกลางเป็นส่วนใหญ่
ส่วนกลุ่มที่ 2 พ่อค้าคนกลาง ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทของชาวจีน-เมียนมา เท่าที่ผมรู้จักก็มีหลายบริษัท กลุ่มนี้จะเป็นผู้รวบรวมแร่ธาตุต่างๆ และขายส่งมาทางชายแดนไทย หรือบางส่วนก็ขายให้พ่อค้าชายแดนจีน ซึ่งเขาจะมีความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจทั้งบนดินและใต้ดินมาก แต่ไม่ต้องกังวลนะครับ คนทำธุรกิจเหล่านี้ ส่วนใหญ่ถ้าเป็นบุคคลที่มีตัวมีตน เขาจะดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์เสมอครับ คนที่ถูกหลอกลวง ส่วนใหญ่จะไปทำธุรกิจกับกลุ่มคนที่ไม่มีตัวตนนั่นแหละครับ
กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มบริษัทขนส่งสินค้า ที่เขามีเส้นสายกับกลุ่มที่ 2 เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีความสามารถในการประสานกับทางราชการเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกทางทะเลและทางรถยนต์ เช่น ศุลกากรตามด่านชายแดน และกลุ่มผู้มีค่าคุ้มครองทั้งหลาย ดังนั้นบทบาทของกลุ่มนี้ จะเป็นผู้ที่สามารถนำสินค้ามาส่งถึงมือท่านได้ ณ จุดหมายปลายทางที่เราต้องการครับ
กลุ่มที่ 4 คือกลุ่มพ่อค้าชายแดนจากฝั่งไทย ซึ่งกลุ่มนี้ก็มีความสำคัญไม่น้อยครับ เพราะเขาจะช่วยประสานงานต่างๆ ให้เราสามารถนำเข้าสินค้ามาส่งให้ถึงมือท่านเช่นกัน กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่ 5 คือผู้ซื้อจากประเทศที่สาม กลุ่มนี้ต้องมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้ามีสินค้าไม่มีผู้ซื้อที่แน่นอน การค้าคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ครับ
ความท้าทายของการซื้อมา-ขายไป ถ้าเราเป็นกลุ่มผู้ประสานงานการขาย เราต้องจัดสรรปันส่วนผลกำไรหรือส่วนต่างที่เกิดขึ้น ให้เป็นที่พอใจต่อทุกๆ ฝ่าย การค้าจึงจะเกิดได้อย่างยั่งยืนครับ เพราะถ้าเราไม่สามารถดำเนินการประสานงานได้ดี คงยากที่จะสำเร็จครับ นี่คือหัวใจในการทำธุรกิจที่มีมูลค่าสูงครับ
อย่างไรก็ตาม โอกาสในการดำเนินธุรกิจสินแร่ในประเทศเมียนมา ด้วยการดำเนินการเปิดเหมืองเองเลย เพื่อเป็นการตัด Supply Chain ให้สั้นลง เพื่อผลกำไรจะได้เต็มกอบเต็มกำ ก็อย่างที่ผมกล่าวมาในข้างต้นว่า ประเทศเมียนมามีทรัพยากรแร่ธาตุที่หลากหลายและมีปริมาณมาก ทั้งแร่โลหะและอโลหะ อาทิเช่น ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก ทังสเตน นิกเกิล พลอย หยก และถ่านหิน เป็นต้น
แหล่งสินแร่เหล่านี้กระจายอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้นเราต้องรู้ก่อนว่า เราจะทำการซื้อ-ขายสินแร่ชนิดใดบ้าง เพราะแต่ละชนิดจะมีอยู่กระจัดกระจายกันออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐฉาน รัฐกะฉิ่น และภาคตะนาวศรี ซึ่งหลายพื้นที่ยังไม่ได้สำรวจและพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ นี่เป็นโอกาสสำคัญสำหรับบริษัทต่างชาติ ที่มีเทคโนโลยีและเงินทุนในการสำรวจ เพื่อพัฒนาแหล่งแร่ใหม่ๆ
นอกจากนี้รัฐบาลเมียนมาเอง ก็ได้พยายามปฏิรูปกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการออก กฎหมายการลงทุนต่างชาติ (Foreign Investment Law) และ กฎหมายเหมืองแร่ (Mining Law) ฉบับปรับปรุง เพื่อดึงดูดและอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนต่างชาติมากขึ้น การลงทุนในภาคสินแร่ยังสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน เช่น การสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่น การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ห่างไกล
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศเมียนมาจะมีศักยภาพสูง แต่การทำธุรกิจสินแร่ในประเทศเมียนมา ก็เผชิญกับความท้าทายหลายประการ
ประการแรกคือ ความไม่แน่นอนทางการเมืองและความมั่นคง ซึ่งหมายรวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ รวมถึงความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์ ประการที่สองคือ กรอบกฎหมายและระเบียบปฏิบัติ การดำเนินงานตามกฎหมาย หรือการขออนุญาตในการเข้าไปดำเนินธุรกิจ อาจใช้เวลานานและมีกระบวนการที่ซับซ้อน
ประการที่สามคือ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม การทำเหมืองแร่อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในพื้นที่ห่างไกลยังไม่พร้อม ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง ระบบไฟฟ้า หรือการสื่อสาร ซึ่งอาจเพิ่มต้นทุนและเวลาในการดำเนินงานอย่างมาก
ประการสุดท้ายคือ การแข่งขันในตลาด แม้ว่าจะมีศักยภาพสูง แต่ก็มีบริษัทต่างชาติและบริษัทท้องถิ่นจำนวนมาก ที่สนใจและได้เข้ามาลงทุนในภาคส่วนนี้แล้ว ทำให้นักลงทุนจากต่างชาติรายใหม่ที่จะเข้าไปสู่สนามแข่งขัน ต้องศึกษาคู่แข่งและสร้างความแตกต่างในการดำเนินธุรกิจให้ดี การทำการประเมินความเป็นไปได้ในการลงทุน (Feasibility study) จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งครับ