ดีป้าเร่งเครื่อง “ทุเรียนดิจิทัล” ขยายผลสู่ 10,000 ชาวสวนทั่วประเทศ
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ผนึกกำลังภาครัฐ เอกชน และสมาคมวิชาชีพ ขยายผล “โครงการ OTOD ทุเรียนดิจิทัล” ส่งเสริมชาวสวนไทยกว่า 10,000 ราย ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลในการจดบันทึกและติดตามกระบวนการเพาะปลูก เสริมคุณสมบัติเชิงสิ่งแวดล้อมด้วยระบบติดตามคาร์บอนฟุตพรินต์ เดินหน้ายกระดับสู่เกษตรอัจฉริยะเต็มรูปแบบ
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า พร้อมด้วยตัวแทนจากกรมส่งเสริมการเกษตร ส.ป.ก. สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย และบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงแนวทางการขยายโครงการ “One Tambon One Digital: OTOD ทุเรียนดิจิทัล”
นายณัฐพล เผยว่า โครงการเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2567 โดยมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรประยุกต์ใช้แอปพลิเคชันดิจิทัลที่พัฒนาโดยสตาร์ทอัพไทยซึ่งผ่านการรับรอง dSURE ในการบันทึกข้อมูลการเพาะปลูก จัดการคุณภาพผลผลิต และขอรับรองมาตรฐาน GAP โดยช่วงที่ผ่านมา ช่วยลดต้นทุนการผลิตรวมกว่า 180 ล้านบาท และเพิ่มมูลค่าทุเรียนกว่า 1,280 ล้านบาท
ปีนี้ ดีป้าเดินหน้าขยายผลโดยเพิ่มความสามารถแอปพลิเคชันให้ครอบคลุม “Greenhouse Gas Information” หรือข้อมูลการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านระบบดิจิทัล เพื่อรองรับการจัดเก็บคาร์บอนฟุตพรินต์ ต่อยอดสู่ Big Data ด้านการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ พร้อมเปิดให้เกษตรกรเลือกใช้แอปพลิเคชันจากหลากหลายผู้ให้บริการ
โครงการยังได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่น กรมส่งเสริมการเกษตรที่ช่วยคัดเลือกเกษตรกร สมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ที่สนับสนุนมาตรฐาน dSURE และ บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า ที่ขยายช่องทางจัดจำหน่ายทุเรียนทั้งในและต่างประเทศ
ดีป้าตั้งเป้ายกระดับเกษตรกรทุเรียน 10,000 รายทั่วประเทศ พร้อมส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี IoT บริหารจัดการน้ำอัจฉริยะในสวนทุเรียน โดยติดตั้งเซนเซอร์ควบคุมการรดน้ำผ่านแอปมือถือ ทั้งแบบตั้งเวลาและอัตโนมัติจากข้อมูลความชื้นและอุณหภูมิ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน
อีกหนึ่งแรงจูงใจสำคัญคือ “คูปองดิจิทัล” สำหรับเกษตรกรที่จดบันทึกข้อมูลต่อเนื่อง จำนวน 500 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท ใช้แลกซื้อบริการดิจิทัลในบัญชีบริการดิจิทัลของดีป้า
ทั้งนี้ ดีป้าประเมินว่า โครงการ OTOD ทุเรียนดิจิทัลในระยะถัดไปจะช่วยลดต้นทุนรวมได้ราว 1,700 ล้านบาท และเพิ่มมูลค่าทุเรียนกว่า 11,700 ล้านบาท ถือเป็นก้าวสำคัญสู่การสร้างเกษตรอัจฉริยะของไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของทุเรียนไทยในเวทีโลก
“เรามุ่งสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่เกษตรกรใช้ได้จริง ขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และคืนความเป็นผู้นำให้ทุเรียนไทยในตลาดอาเซียนอีกครั้ง” ผู้อำนวยการใหญ่ดีป้า กล่าวทิ้งท้าย