‘เศรษฐพุฒิ’ แนะไทยเร่งเจรจาทรัมป์ หามาตรการเยียวยาผลกระทบ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ปัจจุบันเราเริ่มเห็นการเจรจาภาษีทรัมป์ของประเทศอื่นทยอยประกาศ สะท้อนถึงความสำคัญที่ประเทศไทยควรจะเจรจาให้จบ พร้อมกับควรจะมาตรการบรรเทาผลกระทบและมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบและมาตรการที่รองรับการปรับตัวในอนาคต
โดยมาตรการรองรับต่างๆนั้น มองว่าทุกฝ่ายต้องรวมกันทำงาน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนต้องหันหน้าเข้าหากัน ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ได้มีการหารือกับทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ควรจะทำเพื่อรองรับผลกระทบภาษีทรัมป์ โดยเฉพาะมาตราการระยะสั้น ที่เป็นการรองรับและเยียวยา สร้างศักยภาพในการแข่งขันต่างๆ
ส่วนทางด้านข้อเรียกร้อง ในเรื่องดอกเบี้ยและค่าเงิน เป็นสิ่งที่ ธปท.มีการให้ข้อหารือและชี้แจ้งไปก่อนหน้านี้ในการประชุมกนง. ทั้งเรื่องนโยบายการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดอกเบี้ยและเรื่องอื่นๆ
สำหรับการประเมินผลกระทบต่างๆ ของภาษีทรัมป์จะเป็นอย่างไร เราคงต้องรอรายละเอียดของการเจรจาที่ชัดเจนประกาศอย่างเป็นทางการก่อนว่าจบที่อัตราภาษีเท่าไหร่อย่างไร
“ประเทศอื่นที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ ตอนแรกยังโดนภาษีค่อนข้างสูง แต่หลังจากมีการเจรจาได้รับภาษีที่ลดลง ในส่วนของไทยก็ยังต้องรอติดตามผลการเจรจาภาษีทรัมป์รอบนี้ก่อนว่าจะเป็นอย่างไร”
ห่วงกระทบ3กลุ่มธุรกิจ
อย่าไงรก็ตาม มองว่าในเรื่อง สินค้าส่งผ่าน (Transshipment ) ในกรณีของเวียดนาม จะมีผล กระทบมากทั้งการค้าและการลงทุน โดยหลักๆกระทบ3 กลุ่ม คือ ผู้ส่งออกไปสหรัฐ ส่วนนี้ขึ้นกับการเจรจาอัตราภาษีทรัมป์เป็นหลัก แต่ในส่วนที่เป็นห่วงมาตลอด คือ สินค้าประเทศอื่นที่ทะลักเข้ามาในไทย เพราะไม่สามารถส่งไปที่สหรัฐได้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบ เช่น เสื้อผ้า ฟอร์นิเจอร์ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอีค่อนข้างมาก ที่ยังเปราะบางสูง
เมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่ที่ส่งออกไปสหรัฐ จะมีสัดส่วนของบริษัทข้ามชาติสูง ขณะที่ในเรื่องการเปิดตลาด มองว่าแต่ละประเทศควรพิจารณา ความเหมาะสมของตัวเอง
ส่วนในเรื่องปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอีและอื่นๆ เพราะ หลักเกณฑ์ ธปท.เข้มงวดนั้น มองว่า เราต้องมาสร้างความเข้าใจ ตอนนี้มีธุรกิจที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ เพราะมีความเสี่ยงสูง ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ วิธีที่จะแก้ไขเรื่องนี้อย่างตรงจุด คือเรื่องของความเสี่ยง สิ่งที่สำคัญจะเข้ามาช่วย คือ การค้ำประกันความเสี่ยง ผ่านกลไกบสย.หรือกลไก อื่นๆ ที่มาช่วยแบ่งเบาความเสี่ยงนี้ ทำให้คนที่มีความเสี่ยงสูงมีความสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น
“ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเกณฑ์ของธปท.ที่ไปทำให้ธุรกิจไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยสิ่งที่ต้องทบทวน คือ สัดส่วนในการค้ำประกันควรจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมหรือไม่ จากปกติที่40% ควรปรับเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ ตามความเสี่ยงต่างๆที่สูงขึ้น และปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะเรื่องของภาคการเงิน แต่ต้นตอของปัญหา คือ ขีดความสามารถของการแข่งขัน ดังนั้นการที่เราต้องปรับตัวเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้สูงขึ้นเป็นสิ่งที่จำเป็น หากธุรกิจสามารถปรับตัวและสามารถแข่งขันได้จริง ธนาคารก็พร้อมปล่อยสินเชื่อตามความเสี่ยง”
ห่วงนักลงทุนย้ายหนีไทยซบเวียดนาม-อินโด
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า หากไทยไม่สามารถเจรจาเงื่อนไขภาษีได้เทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย ส่งผลให้อัตราภาษีนำเข้าของไทยสูงกว่าคู่แข่ง
เชื่อไม่เป็นผลดีแน่ ทั้งต่อภาคการส่งออกในอนาคต และต่อการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เพราะสุดท้ายนักลงทุนไม่ได้มองแค่ตลาดภายในของประเทศเรา แต่นักลงทุนต้องการใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะธุรกิจในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ชิ้นส่วน หรือแม้แต่รถ EV จากจีน ที่กำลังอยู่ระหว่างการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ดังนั้นนักลงทุนเหล่านี้ อาจหันไปหาประเทศที่มีต้นทุนภาษีต่ำกว่าไทยได้
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าแม้สถานการณ์จะกดดัน แต่มอง่าไทยไม่จำเป็นต้องเดินตามรอยเวียดนามและอินโดนีเซียทุกอย่าง เพราะบริบทของแต่ละประเทศต่างกัน โดยเฉพาะภาคเกษตรของไทยที่เปราะบางกว่า และไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่ซับซ้อนกว่า การลดภาษีจึงต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเกษตรและ SME ที่ยังต้องพึ่งพามาตรการคุ้มครอง
ดังนั้นมองว่าเราอาจจะไม่ต้องลดเท่ากับเวียดนามหรืออินโดฯ แต่ต้องต่ำกว่าระดับ 36% ให้ได้ และหากอยู่ที่ระดับ 25-30% ก็ถือว่าเป็นไปได้สูง และยังพอแข่งขันได้
โดยประเทศไทยจำเป็นต้องหาจุดแข็งให้มากขึ้น เพราะในอดีตชี้ให้เห็นแล้วว่า แม้ค่าแรงเราแพง ค่าไฟก็แพง แต่คนก็ยังเลือกมาลงทุนในไทย เพราะหลายธุรกิจยังมองว่าประเทศไทยมีจุดแข็ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างความได้เปรียบได้ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง อุปกรณ์การแพทย์ รถ EV ที่พัฒนาเอง รวมถึงภาคอาหารแปรรูป และบริการสมัยใหม่ รวมถึงภาคบริการก็สำคัญมาก
“กลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ต้องได้รับการดูแลจากรัฐ ต้องมีมาตรการเยียวยาและช่วยให้เขาสามารถปรับตัวได้ พร้อม ๆ กับการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ และเชื่อ่าไทยยังไม่สายเกินไป ถ้ากล้าปรับและหาจุดยืนให้ชัด เราอาจจะเติบโตช้ากว่าประเทศที่ลดภาษีเร็วกว่า แต่เรายังมีโอกาสถ้าเรารู้ว่าจะแข่งด้วยอะไร จุดแข็งของเราคืออะไร แล้วหาทางปรับจุดอ่อนให้ได้ ประเทศไทยยังมีทางเลือกเสมอ”