“ทำเนียบขาว” ชี้ “เงินเฟ้อ” อยู่ในเกณฑ์ดี เมินภาษีทำของแพง “ผู้นำเข้าสหรัฐ” เร่งปรับตัว
เงินเฟ้อพื้นฐาน(Core inflation) ซึ่งไม่รวมราคาอาหาร และพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.9% โดยมีสินค้าในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ ของเล่น และเสื้อผ้า ซึ่งเป็นสินค้าที่มักได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากรปรับราคาขึ้นมากในเดือนมิ.ย. ในขณะที่ราคา “รถยนต์” ปรับตัวลดลงอย่างไม่คาดคิด
เมื่อเทียบเป็นรายเดือนจากพ.ค. ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 0.3% ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นรายเดือนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. ที่ผ่านมา และถือเป็นการ “หักหน้า” เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวที่กล่าวเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าในหมวดหลักเพิ่มขึ้น 0.23% ซึ่งอยู่ในระดับกลางของช่วงการเพิ่มขึ้นรายเดือนตลอดปีที่ผ่านมา ทั้งนี้บรรดานักเศรษฐศาสตร์กำลัง “เสียงแตก” ถึงภาษีศุลกากรจะส่งผลต่อราคาสินค้าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้ามากเพียงใด เนื่องจากนโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงไม่แน่นอน
ด้านเว็บไซต์ทำเนียบขาวเผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 15 ก.ค.68 ตามเวลาท้องถิ่น ระบุว่า ภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ เจ. ทรัมป์ อเมริกายังคงสามารถเอาชนะภาวะเงินเฟ้อได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ไบเดนได้ขึ้นราคาสินค้ามาหลายปี
“ข้อมูลเดือนมิ.ย.ยืนยันว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อรายปีต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นว่าราคาสินค้าอยู่ในเกณฑ์ดี”
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้อีกหนึ่งเดือน นับตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่เพียง 2.1% ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อนนับตั้งแต่รัฐบาลทรัมป์ชุดแรก ซึ่งราคาสินค้าอยู่ในระดับต่ำ และทรงตัว และยังคงต่ำกว่าหรือเท่ากับที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ทุกเดือน
การเติบโตของค่าจ้างยังคงแข็งแกร่งภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ ค่าจ้างจริงสำหรับพนักงานฝ่ายผลิตและที่ไม่ใช่ผู้ควบคุมดูแลเพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
“ราคาสำหรับชาวอเมริกันทั่วไป ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ราคารถยนต์ใหม่และมือสอง รวมถึงค่าโดยสารเครื่องบินที่ลดลงในเดือนที่แล้ว ขณะที่ดัชนีที่อยู่อาศัยรายปีลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบสี่ปี โดยราคาน้ำมันเบนซิน น้ำมันเตา สินค้าโภคภัณฑ์พลังงาน โรงแรม ค่าโดยสารเครื่องบิน ระบบขนส่งสาธารณะ และผักสด ล้วนลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว”
ด้านจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การเจรจากับสหรัฐยังต้องเดินหน้าต่อไป ขณะเดียวกันต้องมุ่งหาตลาดใหม่ผ่านการเฟ้นสินค้าที่เหมาะแต่ละตลาดเพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถเข้าถึงตลาดนั้นๆ ได้จริง ๆ และยังต้องเดินหน้าเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีหรือ เอฟทีเอ โดยเร่งหาข้อสรุปให้ได้เพื่อเป็นแต้มต่อการหาตลาดใหม่ เพราะการส่งออกมี 2 เรื่องที่สำคัญคือ ตลาดและสินค้า ซึ่งสองส่วนนี้ต้องสอดคล้องกัน
ส่วนการผลิตของไทยเบื้องต้นต้องลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ต้องลดปัจจัยการผลิตเช่น ปุ๋ย ให้ได้อย่างมีนัยสำคัญเพื่อให้ผู้ผลิตในประเทศมีช่วงกำไรที่เพิ่มขึ้น และชัดเจนเพื่อรับมือกับการค้าที่เปลี่ยนไปได้
ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก ประเทศสหรัฐ ระบุว่า สหรัฐนำเข้าสินค้าผ่านตู้คอนเทนเนอร์ในเดือนมิ.ย.2568 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 2,217,675 TEUs (หน่วยตู้คอนเทนเนอร์มาตรฐาน 20 ฟุต) เพิ่มขึ้น 1.8% จากเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาแต่ต่ำกว่าระดับของเดือนเดียวกันในปีก่อน เพิ่มขึ้น 3.5%
ส่วนการนำเข้าจากจีนในเดือนมิ.ย.ยังคงซบเซาเช่นกัน อยู่ที่ 639,300 TEUsเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง0.4% นับตั้งแต่สหรัฐกับจีนได้มีการพักสงบศึกทางการค้าเป็นระยะเวลา 90 วัน ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนพ.ค.2568 และกำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 10 ส.ค.2568 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง
ผลกระทบจากอัตราภาษีนำเข้าจากจีนที่สูงขึ้น และการยกเลิกข้อยกเว้น de minimis (การยกเว้นภาษีสำหรับสินค้ามูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์
สำหรับการนำเข้าของสหรัฐ จาก 10 ประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยได้แก่ เวียดนาม เพิ่มขึ้น 7.7% ตามด้วย อินโดนีเซีย 17.3% ไทย 8.6%และอิตาลี 9.0% เยอรมนี และไต้หวัน 2.6% เท่ากัน ด้านประเทศที่มีปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น เกาหลีใต้ ลดลง 12.5% และอินเดีย ลดลง 9.6% ส่วนญี่ปุ่น ลดลง 3.0%
อย่างไรก็ตาม การค้าทั่วโลกยังคงต้องเผชิญกับความตึงเครียดทั้งจากเรื่องอัตราภาษี และความไม่แน่นอนในการเจรจาการค้าก็ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการวางแผนด้านห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งการขนส่งผ่านทะเลแดงยังคงถูกรบกวน และสถานการณ์ถูกซ้ำเติมด้วยความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล ส่งผลให้ต้องเปลี่ยนเส้นทางขนส่งที่มีต้นทุนสูงขึ้น และใช้ระยะเวลานานขึ้น
สำหรับข้อคิดเห็นของ สคต.ชิคาโก ระบุว่า การนำเข้าสินค้าของสหรัฐ เพิ่มขึ้นในเดือนมิ.ย.สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการนำเข้าของสหรัฐ และผู้นำเข้าสหรัฐ เริ่มมีการปรับตัวกับห่วงโซ่อุปทานท่ามกลางความผันผวนทางการค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจัยด้านการเร่งการนำเข้าเพื่อเก็บเป็นสินค้าคงคลังในขณะที่อัตราภาษี 10% ยังคงมีผลบังคับใช้ก่อนการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีใหม่ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 ส.ค.2568
“การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สะท้อนถึงการปรับโครงสร้างทางการค้าโลก และห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจากธุรกิจสหรัฐกำลังตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงด้านภาษี และแรงกดดันด้านต้นทุน แม้ผู้นำเข้าสหรัฐ จะพยายามปรับห่วงโซ่อุปทานอย่างช้าๆ ภายใต้แรงกดดันจากภาษีที่ยังคงสูง และความพยายามกระจายแหล่งนำเข้า”
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทยด้วยอัตราภาษี 36% ทำให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันในตลาดสหรัฐเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่าง เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งมีอัตราภาษีที่ต่ำกว่า
โดย สินค้าส่งออกหลักของไทยในตลาดสหรัฐที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ 1. กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์ เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ เครื่องปรับอากาศ 2. กลุ่มยานยนต์ (ยางรถยนต์ ส่วนประกอบ และอุปกรณ์ยานยนต์) 3. กลุ่มอาหาร สินค้าเกษตร ข้าว อาหารกระป๋อง 4. เครื่องแต่งกาย 5. ยางธรรมชาติ
พิสูจน์อักษร….สุรีย์ ศิลาวงษ์