ไทยจะเป็น อาร์เจนตินาแห่งวงการ AI หรือไม่ จากร่ำรวยสู่ร่วงโรย
ความก้าวหน้าของไมโครชิปที่จำนวนทรานซิสเตอร์เพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัวในทุกสองปีในช่วงหลายสิบปีมาแล้ว ทำให้มีระบบดิจิทัลที่ทำงานสารพัดรอบตัวเราในวันนี้ ดิจิทัลกลายเป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้
แต่วันนี้ LLM ซึ่งเป็นหัวใจของ AI ก้าวหน้าเร็วกว่าไมโครชิปมากๆ ก้าวหน้าขึ้น 2 เท่าทุก 7 เดือน อีก 5 ปีข้างหน้า AI จะสามารถทำงานเสร็จในเวลาแค่เป็นชั่วโมง ในงานที่คนใช้เวลาแรมเดือนจึงจะทำสำเร็จได้
เล่ากันว่ามีประเทศหนึ่งที่ละเลยใส่ใจ Disruption ในยุคของไมโครชิป ได้ทำให้ประเทศที่เคยร่ำรวย ตกลงมาเป็นประเทศรายได้ปานกลาง
ซึ่งอาจเป็นบทเรียนสำหรับบ้านเราว่า ถ้าละเลยไม่ใส่ใจจริงจังกับการตระเตรียมผู้คนให้พร้อมสำหรับการทำงานกับ AI ในอนาคต อะไรบ้างที่อาจจะเกิดขึ้นกับบ้านเรา
“อาร์เจนตินา” เป็นที่รู้จักกันดีในวงการฟุตบอล มีซอฟต์พาว์เวอร์เรื่องฟุตบอล ในช่วงทศวรรษ 1980-1990 ที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลที่ใครๆ ในโลกต่างพากันตระเตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างจริงจัง
บ้านเราเองมีการประกาศปีแห่งสารสนเทศไทย มีแผนกลยุทธ์ไอที มีหลายองค์กรที่มีชื่อย่อแปลกๆ เกิดขึ้นมากมาย มีการปรับปรุงการเรียนการสอนให้ครอบคลุมเรื่องดิจิทัลอย่างจริงจังและกระทำอย่างกว้างขวาง
ส่งผลให้อย่างน้อยวันนี้มีบริการ 5G ที่ไม่น้อยหน้าใคร ตอนโควิดระบาดก็ยังเล่าเรียน ยังดูแลรักษาพยาบาลผ่าน 5G กันได้
แต่อาร์เจนตินาในวันนั้นกลับเน้นการศึกษาแบบดั้งเดิม เน้นเรื่องการเกษตรและศิลปศาสตร์ เด็กๆ ได้เล่าเรียนทักษะที่ล้าสมัย แทนที่จะได้เรียนทักษะสำหรับอนาคต
คะแนน PISA เฉลี่ยเลยตกมาอยู่ในอันดับ 65 ของโลกในหลายปีต่อมา การลงทุนจากต่างประเทศไม่ขยับขึ้นมาที่ไฮเทค ยังคงอยู่กับอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่เน้นใช้ทรัพยากรธรรมชาติ มากกว่าที่จะเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง
อาร์เจนตินาเดินหน้าบนความเชื่อของฝ่ายการเมืองในเรื่องประชานิยมที่ดูแลเกษตรกรดั่งเดิมอย่างเต็มที่ และมั่นใจมากเกินไปในรายได้จากทรัพย์ในดินสินในน้ำ
อาร์เจนตินาจึงเดินบนเส้นทางที่แตกต่างไปจากเพื่อนบ้านคือ ชิลี ทำให้สัดส่วน GDP ของอุตสาหกรรมไฮเทคมีแค่ไม่ถึง 0.7 % ในขณะที่ชิลีไปอยู่ที่อยู่ 1.5%. ยิ่งถ้าเป็นไอร์แลนด์ ที่แม้จะมีประชากรน้อยกว่ามาก แต่เตรียมตัวได้ดีกว่าจนมีสัดส่วน GDP ไฮเทคถึง 25%
บุคลากรไฮเทคกว่า 5 แสนคนในอาร์เจนตินาย้ายออกจากไปทำงานในบ้านเมืองอื่นที่มีโอกาสมากกว่า คนเก่งไม่อยู่ คนอยู่ไม่เก่ง แม้แต่บริษัท Start Up ที่บังเอิญเกิดขึ้นในประเทศในช่วงเวลานั้นก็ต้องไปเติบโตในต่างประเทศ เพราะทั้งขาดระบบนิเวศที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโต และมีการกีดกันจากผู้ประกอบการรายใหญ่
เมื่อบุคลากรที่เหลืออยู่ไม่มีความพร้อมในเรื่องไฮเทคด้านดิจิทัล อุตสาหกรรมไฮเทคเลยไปอยู่ประเทศข้างเคียงกันเกือบหมด บัณฑิตจบใหม่ตกงานกันมากมาย เสียค่าเล่าเรียนไปแล้ว กู้เรียนไปแล้ว แต่ไม่ได้งานที่จะได้เงินมาจ่ายหนี้สินที่กู้มาเล่าเรียนเสียอีก
ในที่สุดเพื่อนบ้านชิลีเปลี่ยนจากประเทศรายได้ปานกลางที่อีกนิดเดียวจะเป็นประเทศรายได้สูง ในขณะที่อาร์เจนตินาตกจากประเทศรายได้สูงมาเป็นรายได้ปานกลาง ในอดีตอาร์เจนตินา เคยมีรายได้มากกว่าฝรั่งเศส
ความไม่จริงจังในการรับมือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสำคัญ นโยบายประชานิยมที่ไม่ได้เน้นการยกระดับขีดความสามารถของผู้คน และการยึดมั่นเกินไปกับทรัพย์ในดินสินในน้ำ ทำให้อาร์เจนตินากลายเป็นประเทศรายได้ปานกลางตราบเท่าทุกวันนี้
บทเรียนจากอาร์เจนตินา นอกเหนือไปจากเรื่องประชานิยมและทรัพย์ในดินสินในน้ำแล้ว การตระเตรียมรับมือ Disruption เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง แม้ว่าเราเคยทำได้ในยุคแห่งการพลิกโฉมทางดิจิทัล
แต่วันนี้ไม่มีความชัดเจนเทียบเท่ากับที่เราเคยทำแล้วประสบความสำเร็จบ้างในการรับมือ Disruption จากดิจิทัล วันนี้เราเตรียมรับมือ Disruption จาก AI ได้อย่างมีประสิทธิผลแค่ไหน?
ถ้าเรามีนโยบายประชานิยมที่ไม่ได้มุ่งเติมเต็มขีดความสามารถของผู้คน ถ้าเราเชื่อมั่นในการท่องเที่ยวแบบเดิมๆ ถ้าเราเชื่อมั่นเรื่องในน้ำมีปลาในนามีข้าว และเราพูด AI โดยไม่ได้เติมเต็มขีดความสามารถ AI ให้กับผู้คนอย่างจริงจังวันหน้าเราจะเป็น อาร์เจนตินาแห่งวงการ AI หรือไม่?.