วิทัยฉลุยผู้ว่าธปท.ใหม่ ลุ้นสุดท้าย‘ภาษีทรัมป์’
ไม่พลิก! ครม.เคาะชื่อ “วิทัย รัตนากร” นั่งผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ “พิชัย” อวย 2 รายชื่อสุดท้ายดีทั้งคู่ แต่ปัญหาเศรษฐกิจเยอะต้องเอาคนมีความรู้หลากหลาย “เผ่าภูมิ” แย้มอยากเห็น “ปล่อยสินเชื่อ-อัตราแลกเปลี่ยน” ขุนคลังดีเดย์ชงข้อเสนอภาษีสหรัฐ 23 ก.ค. หวังได้ต่ำกว่า 20% “ภูมิธรรม” โยนเผือกร้อน รมว.การคลัง ปมตัดงบท้องถิ่น 4.2 หมื่นล้าน
เมื่อวันอังคารที่ 22 ก.ค.2568 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งนายวิทัย รัตนากร ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อทดแทนนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. ที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 30 ก.ย.2568 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2568 เป็นต้นไป โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) จะได้ขอให้สำนักงานองคมนตรีนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
ด้านนายพิชัยกล่าวว่า การพิจารณาแต่งตั้งเป็นไปตามขั้นตอนปกติ โดยยืนยันว่าที่ผ่านมาการทำงานระหว่ากระทรวงการคลังและ ธปท.เป็นไปด้วยดีมาโดยตลอด มีการปรับเข้าหากัน และทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยต้องยอมรับว่า 2 รายชื่อสุดท้ายมีดีทั้งคู่ เพียงแต่ว่าคนหนึ่งรู้เรื่องภายใน ธปท.ได้ดี คุณสมบัติเหมาะสมมากๆ ส่วนอีกคนมีความรู้ที่หลากหลาย แต่ปัจจุบันปัญหาของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างเยอะ ปัญหาหลากหลาย ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่อาจทำงานยากนั้น เชื่อว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะ ธปท.ทำงานอย่างมีหลักการ และทุกคนทำงานด้วยหลักการทั้งนั้น คิดว่าทุกอย่างไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
ส่วนกรณีนักเศรษฐศาสตร์แสดงความกังวลว่านายวิทัยอาจถูกการเมืองชี้นำและกดดันการทำงานนั้น นายพิชัยยืนยันว่า ไม่มีการกดดันอยู่แล้ว การทำงานที่ผ่านมามีการพูดคุยกันด้วยเหตุและผลมาโดยตลอด ไม่ว่าผู้ว่าการ ธปท.จะเป็นใครเข้ามา เมื่อนายวิทัยเข้ามาทำงานในฐานะผู้ว่าการ ธปท.แล้ว ก็ต้องรับผิดชอบองค์กร รับผิดชอบงานของตัวเอง ดังนั้นจึงต้องมีความเป็นอิสระในเรื่องแนวคิดและในเรื่องการทำงาน สิ่งเดียวที่กระทรวงการคลังหวังคือ การทำงานระหว่างนโยบายการคลัง ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่ หากนโยบายการเงินเข้าใจซึ่งกันและกัน ก็เชื่อว่าจะสามารถเห็นนโยบายการเงินที่ปรับให้สอดคล้องได้ โดยยังมีความเป็นอิสระทางความคิด แต่ทั้งหมดยังเดินหน้าไปด้วยกันได้ แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว
ถามถึงการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดแรกของนายวิทัย ในฐานะผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ ซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังว่าจะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงนั้น นายพิชัยยืนยันว่า ตรงนี้เป็นหน้าที่การพิจารณาของ กนง. ไม่อยากให้ไปคิดล่วงหน้าแทนใคร แต่เชื่อว่าจะประมวลเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ผ่านมา และเหตุการณ์ปัจจุบัน เช่น นโยบายภาษีของสหรัฐ เป็นต้น เพื่อกำหนดนโยบายการเงินที่เหมาะสม
สำหรับกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง ตอบรับกับข่าวการแต่งตั้งผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ โดยนักลงทุนกังวลว่ากำไรของธนาคารพาณิชย์จะปรับตัวลดลงนั้น นายพิชัยสวนว่า กำไรแบงก์จะลดลง คิดแบบนั้นแล้วหรือ จริงๆ ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์คงเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจดี ผลประกอบการก็ดี
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นการให้ความสำคัญมากขึ้นคือ เรื่องการปล่อยสินเชื่อลงสู่ระบบ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่ผ่านมาอาจเห็นเกณฑ์ที่เข้มและแข็งเกินไป เพราะมีการยึดเรื่องเสถียรภาพจนสถาบันการเงินไม่เปิดรับความเสี่ยงเลย จนทำให้สินเชื่อไม่ลงสู่ระบบ แบบนี้ถือเป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ที่มองว่าต้องพิจารณาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งฝ่ายที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้ต้องดูด้วยความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน หรืออะไรต่างๆ ที่ต้องดูให้อยู่ในระดับสมดุล
นายพิชัยยังกล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจาภาษีนำเข้ากับสหรัฐว่า สหรัฐได้เห็นข้อเสนอของไทยไปแล้วกว่า 90% ยืนยันว่ารัฐบาลได้พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้การเจรจาบรรลุผลสำเร็จ โดยคาดว่าภายในวันที่ 23 ก.ค.จะยื่นข้อเสนอสุดท้ายเรียบร้อย และหวังว่าไทยจะได้ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าจากสหรัฐในอัตราที่ใกล้เคียงกับภูมิภาค ส่วนจะได้ภาษีอัตราเท่าใดนั้น เกือบทุกประเทศไม่มีใครได้ภาษีอัตราเดียว
“ถามว่าเราจะได้อัตราภาษีต่ำกว่า 20% ไหม ส่วนตัวผมก็หวังอย่างนั้น เพราะเราก็ให้ไปเกือบหมดแล้ว และถ้าลองเอาใจผมไปใส่ทางสหรัฐ ผมก็คงมองเป็นภูมิภาค” นายพิชัยกล่าว
นายพิชัยยังกล่าวถึงกรณีที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 ว่าเป็นการดำเนินการปกติ มีเหตุและผลชัดเจนอยู่
นายเผ่าภูมิกล่าวในเรื่องนี้ว่า เป็นการปรับเปลี่ยนในรายละเอียดในเชิงเทคนิคเท่านั้น ไม่ได้มีนัยสำคัญอะไร เป็นการปรับเพื่อให้ตรงตามเกณฑ์ต่างๆ และไม่ได้ปรับเพื่อรองรับผลกระทบจากภาษีสหรัฐ
ส่วนนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย รักษาราชการแทนนายกฯ กล่าวถึงกระแสข่าวที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ งบประมาณ 1.57 แสนล้านบาท จะทบทวนงบของท้องถิ่น 4.2 หมื่นล้านบาทว่า เป็นเรื่องของคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่นายพิชัยเป็นประธาน
เมื่อถามว่า หากท้องถิ่นถูกตัดงบทั้งหมดจะไม่สูญเสียกำลังใจใช่หรือไม่ เพราะให้ไปกระจายอำนาจแต่ไม่มีงบประมาณ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ก็เป็นหน้าที่ของผู้รับผิดชอบที่จะต้องหาทรัพยากรให้ไปทำงาน
ถามว่า สาเหตุที่ริบงบดังกล่าว มีสาเหตุมาจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยมีหนังสือเตือนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาก่อนใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่ทราบ เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวถึงการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 10/2568 งบประมาณ 1.57 แสนล้านบาท โดยจะทบทวนงบของท้องถิ่น 4.2 หมื่นล้านบาท ว่ายังไม่มีข้อสรุปออกมา ซึ่งในวัน 1-2 วันจะประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง เรื่องนี้ขอให้รอฟังคำชี้แจงจากนายพิชัย
ด้านนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า เห็นตามหน้าข่าวว่าอาจริบงบบางส่วนคืนจาก มท. ซึ่งอาจมีข้อสงสัยที่เกิดขึ้นได้ว่าเป็นงบประมาณที่พรรคภูมิใจไทยตั้งไว้แต่เดิม ซึ่งไม่อยากให้เป็นประเด็นเรื่องการเมืองที่เอาคืนกัน ถ้ามีการริบคืนกันจริงๆ ก็อยากให้ไปดูในรายละเอียดที่มาที่ไปของงบประมาณเป็นอย่างไร โดยเราก็จะร่วมตรวจสอบต่อไป
“ไม่อยากจะให้เป็นงบที่ไปใช้ในการลงพื้นที่ เพื่อเตรียมสู่การเลือกตั้งในครั้งหน้า เพราะฉะนั้น พรรคประชาชนก็ดำเนินการติดตามมาโดยตลอด ไม่ว่าจะการเปลี่ยนงบหรือโยกงบอย่างไร”
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวว่า งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.57 แสนล้านบาทมีความเร่งรีบ ซึ่งจะเปิดช่องให้นักการเมืองสามารถเข้ามาแทรกแซงได้ง่าย นอกจากนี้ รัฐบาลมีปัญหายังไม่ทราบผลการเจรจาภาษีสหรัฐ จึงควรชะลอการใช้เงินตามโครงการนี้ไว้ จนเลยวันที่ 1 ส.ค.ไปก่อน เผื่อเอาไว้ หากมีความจำเป็นหลังต้องเยียวยาจากผลเจรจาดังกล่าว
วันเดียวกัน นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.แรงงาน กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการ (ไตรภาคี) เพื่อพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเพิ่มเติม หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีมติให้ปรับขึ้นในพื้นที่ กทม.และต่างจังหวัดในบางกิจการว่า ค่าแรง 400 บาทเพิ่งปรับขึ้นไป คงไม่เร็วขนาดนั้นที่จะปรับขึ้นอีก ปกติจะขึ้นปีละครั้ง แต่ปีนี้ขึ้นไปแล้ว 2 รอบ ซึ่งถ้าจะมีการประชุมเรื่องค่าแรงคงจะเป็นปีหน้าเลย.