12 ปี MAT ARCHER และเบื้องหลัง 5P ที่ใช้ชุบชีวิตอวนประมงเหลือทิ้งให้เป็นสารพัดสินค้า
จากข้อมูลโดย มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation) ระบุว่าต่อเดือนมีอวนสำหรับการประมงถูกทิ้งและกลายเป็นขยะพลาสติกกว่า700,000 กิโลกรัมต่อเดือน อีกทั้งตัวอวนเองยังมาใช้เวลาย่อยสลายนานกว่า 600 ปี
ดังนั้นคำถามที่น่าสนใจคือ พลาสติกทรงตาข่ายเหล่านี้จะถูกจัดการแบบไหน จะเป็นยังไงต่อ
“ที่ผ่านมาอวนที่ถูกใช้งานแล้ว หากไม่กลายเป็นขยะใต้ทะเล ก็ถูกนำไปกั้นคอกเลี้ยงสัตว์หรือมุงหลังคารถบรรทุก”
มรรษพล สร้อยสังวาลย์ เจ้าของแบรนด์ MAT ARCHER อธิบาย หลังครั้งหนึ่งเคยตระเวนถามชาวบ้านในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บ้านเกิดของเขา จนเกิดเป็นคำถามขึ้นมาในใจว่า เราจะเพิ่มมูลค่าให้สิ่งนี้ได้ไหม
ด้วยความรักในการออกแบบ และทดลอง ผนวกกับแนวทางของแบรนด์ MAT ARCHER ที่นำเสนอดีไซน์และฟังก์ชั่นการใช้งาน จึงเกิดเป็นไอเดียนำอวนมาใช้ทำกระเป๋าในคอลเลกชั่นต่างๆ ซึ่งนอกจากจะได้สินค้าที่แปลกใหม่ ยังช่วยให้แบรนด์เจาะลูกค้ากลุ่มใหม่ พาไปเจอกับลักษณะธุรกิจแบบใหม่ที่เคยไม่นึกถึง อย่างการทำของชำร่วยให้กับองค์กรต่างๆ
Capital ชวนเจ้าของแบรนด์ MAT ARCHER มาพูดคุยในคอลัมน์ 5 P ตอนนี้นับตั้งแต่วันที่อวนประมงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ จนสามารถเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีแนวคิดและไอเดียเพื่อสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกันได้
Product
การทดลองเพื่อให้ทั้งสินค้าและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น
ก่อนหน้านี้ เราก็เป็นแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการเลือกวัสดุที่มีคุณภาพ การออกแบบที่มันสวยงาม ใช้งานได้จริง ดังนั้นสินค้าของแบรนด์จึงจะไม่ผูกติดกับคำว่ากระเป๋า แต่จะขยายเป็นอย่างอื่นต่อได้ ด้วยวัสดุที่มีคุณภาพ”
มรรษพลเล่าถึงตัวตนของ MAT ARCHER ที่ในปัจจุบัน คนมักมองว่าเป็นแบรนด์กระเป๋าที่ผลิตสินค้าด้วยวัสดุรีไซเคิลเป็นหลัก ทั้งที่ความเป็นจริงเขามองว่าตัวแบรนด์เองให้ความสำคัญเรื่องวัสดุ ดีไซน์ และฟังก์ชั่นการใช้งานมากกว่า
“ตอนแรกไม่ได้เริ่มจากวัสดุรีไซเคิลด้วย ผมนึกถึงวัสดุที่ตอบสนองการใช้งาน เบา ทำความสะอาดง่าย พยายามลองหาอะไรแปลกใหม่มาใช้กับสินค้าของเรา บางทีเห็นผ้าไนลอนที่ผิวสัมผัสเหมือนถุงพลาสติกก็เอามาทดลอง มาทำไปเรื่อย จนมาเจอกับวัสดุรีไซเคิลเราก็ค่อยๆ ลองนำมาปรับใช้
“สำหรับผมวัสดุพวกนี้บางชิ้นมันอยู่ในคุณภาพที่ดีมากๆ ที่สำคัญคือมันมีเรื่องราว มีการเดินทางของตัววัสดุมันเอง ผมเลยรู้สึกว่าของพวกนี้แม้มันจะเก่า ถูกใช้งานแล้ว แต่มันมีเอกลักษณ์ในตัวของมันเองอยู่ เลยคิดว่าน่าจะนำมาเพิ่มมูลค่า (upcycling) ได้
เมื่อถามถึงเหตุผลที่ต้องใช้อวนสำหรับการประมง เขาอธิบายว่าได้ไอเดียจากช่วงที่กลับไปประจวบคีรีขันธ์อันเป็นบ้านเกิด และเห็นชาวประมงทิ้งอวนพวกนี้เป็นจำนวนมาก
“ผมเป็นคนประจวบคีรีขันธ์ เป็นลูกทะเล สิ่งหนึ่งที่เห็นมาตลอดคืออวนที่ชาวประมงเขาใช้กัน คือที่ผ่านมาจะเห็นเป็นเรื่องปกติเลย กับการที่เขามักจะกองสุมกันเอาไว้ จนวันหนึ่งผมดันไปเอะใจว่า อวนพวกนี้พอมันใช้หาปลาไม่ได้แล้ว จะเอาไปทำอะไรต่อ ก็เลยเดินไปถามชาวประมงแถวนั้น เขาก็บอกว่ารอขายเป็นขยะพลาสติก เอาไปกั้นคอกเลี้ยงสัตว์หรือมุงหลังคารถบรรทุก
“แต่มุมมองของผมตอนนั้นกลับรู้สึกว่า มันสามารถทำและเพิ่มมูลค่าได้มากกว่านี้ เพราะถึงจะผ่านการใช้งานแล้ว แต่ด้วยความที่เป็นพลาสติก มันยังสวยอยู่เลย จึงเกิดเป็นไอเดียว่า หรือจะลองเอามาใช้ทำกระเป๋าของแบรนด์เราดี”
การปรับเปลี่ยนของแบรนด์เช่นนี้ เขาไล่เรียงว่าเกิดขึ้นอยู่ตลอด MAT ARCHER ทำมา 12 ปีแล้ว ซึ่งระหว่างทาง เขาก็ปรับวัสดุที่ใช้ให้เข้ากับตัวตนในเวลานั้นๆ จากตอนแรกใช้ผ้าและหนังสัตว์ ก็เริ่มใช้ยางรถบรรทุก และพัฒนาเป็นอวนในปัจจุบัน
“อวนที่ผมเอามาใช้ ไม่ใช่อวนใต้ทะเล อวนแบบนั้นมันสกปรกเกินไป แต่ผมจะไปขอชาวประมงที่เขาจะเปลี่ยนไปใช้อันใหม่แทน เพราะมันซ่อม มันปะชุนเยอะจนใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพแล้ว
“ดังนั้นสิ่งที่ทำอยู่ก็เลยถือเป็นการลดโอกาสที่อวนจะหลุดร่วงลงทะเล เพราะที่ผ่านมาวันดีคืนดีอวนก็อาจถูกคลื่นซัด กลายเป็นขยะใต้ทะเลได้”
ดีไซน์ให้น่าใช้
แม้วัสดุจะเป็นตัวชูโรง แต่สิ่งสำคัญที่มรรษพลไม่ละเลยคือการออกแบบ
“อวนมันค่อนข้างดิบ เป็นอุปกรณ์ใช้จับปลา แต่เราทำระเป๋าในลักษณะ casual wear ใช้ได้ทุกโอกาส เพียงแต่สุภาพหน่อย ไม่โฉ่งฉ่าง ซึ่งกว่าจะหาดีไซน์ได้ก็ค่อยๆ ปรับมาเรื่อยๆ ให้มันเข้ามา”
เขายกตัวอย่างสินค้าว่าในบางคอลเลกชั่นก็ออกแบบให้กระเป๋าเป้หนึ่งใบ ใช้งานได้ 3 รูปแบบ หรือในคอลเลกชั่น Seause ที่หลายคนรู้จัก ก็ถอดแยกออกมาเป็นกระเป๋า 2 ใบได้
“ต่อมาในแง่ความแข็งแรง คนชอบถามว่า เอาขยะเก่ามาใช้งานจะไม่พังเหรอ ต้องบอกว่าปกติแล้ว พลาสติกที่มาทำอวน อายุการย่อยสลายจะอยู่ที่ 600 ปี แต่ที่เราเห็นมันขาดเป็นช่วงๆ มันเกิดจาการที่มันถูกลากดึงหรือกระชากแรงมากๆ ดังนั้นอวนมันเป็นเส้นใยที่พันกันหลายๆ เส้น จึงแข็งแรงมาก ในด้านการใช้งานไม่ได้มีปัญหาเลย แม้สีจะไม่สม่ำเสมอ”
เขาเล่าว่าความยากของการนำอวนมาใช้ทำกระเป๋าคือการตัดเย็บ เพราะเทียบกับผ้านั้น ผ้าย่อมทำได้ง่ายกว่า ไม่ว่าจะต้องการขนาดเท่าไหร่ ก็นำมาขึง ตัดทีเดียวได้หลายชิ้นเลย แต่อวนต้องทำชิ้นต่อชิ้น เพราะแต่ละส่วนมีปม มีส่วนที่มันชำรุดไม่เหมือนกัน
จากปกติตัดผ้าครั้งเดียวอาจได้กระเป๋า 100 ใบ มันกลายเป็นว่าการเปลี่ยนตัดอวน อาจได้กระเป๋าแค่ 1 ใบแทน
“คงเป็นความท้าทายส่วนตัวของผมเอง ที่คิดว่าเราจะพัฒนาวัสดุแบบนี้ไปได้ขนาดไหน จะทำให้คนเข้าใจในสิ่งที่กำลังทำอยู่ได้หรือเปล่า ถ้าพูดในแง่เหตุผลและธุรกิจ อาจจะดูเป็นวิธีการที่ไม่ค่อยคุ้มเท่าไหร่หากเทียบกับทางเลือกอื่นๆ แต่เพราะคำว่าท้าทายและความแปลกใหม่ เลยทำให้เราอยากลองทำต่อไปเรื่อยๆ”
Price & Promotion
ถ้าทุกตัวเลขมีเหตุผล
จะราคาไหน ลูกค้าก็ยอมรับได้
แม้จะมาพร้อมไอเดียที่ชัดเจน ดีไซน์ที่สวยงาม แต่หากประเมินในแง่ของราคานั้น สินค้าของ MAT ARCHER ก็กลายอีกประเด็นสำคัญที่มักเห็นตามโซเชียลมีเดียที่บ้างก็บอกว่าสูงเกินไป บ้างก็ตั้งคำถามว่าวัสดุรีไซเคิลต้องมีราคาเท่าไหร่กันแน่
มรรษพลพยายามอธิบายแต่ละประเด็นอย่างตรงไปตรงมา โดยสิ่งหนึ่งที่สังเกตได้จากทุกคำตอบของเขาคือ เขาได้ตั้งตัวเลขราคาและกลุ่มลูกค้าเอาไว้อย่างชัดเจน ครบถ้วน
“เรื่องราคา ส่วนตัวผมพยายามกำหนดให้เหมาะสมกับทั้งสินค้าของเราและกลุ่มลูกค้าที่เราต้องการขาย Mat Archer ทุกวันนี้เราอยากพาไปต่างประเทศ เป็นแบรนด์ที่คนรู้จักในฐานะ global brand ที่มาจากไทย เราจึงตั้งราคาที่รู้สึกว่าเหมาะสมสำหรับทั้งคนไทยและต่างชาติ แต่ขณะเดียวกันคนไทยเองก็มีโอกาสได้มาสัมผัส ได้มาดูสินค้าในช็อปของเรา
“เราเจอมากับตัวเลย อย่างเวลาจะสื่อสารผ่าน TikTok ที่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่จะคอมเมนต์มาตลอดว่าสินค้าราคาแพงไป ซึ่งสำหรับผมมองว่าไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ทั้งตัวแบรนด์และเขา อาจเป็นเพราะวันนี้เขายังไม่ใช่กลุ่มลูกค้าของเรา แต่ผมก็เชื่อว่าอย่างน้อย เขาก็ได้รู้จัก MAT ARCHER ได้รู้ว่าเราเป็นใคร ทำสินค้าแบบไหน หากวันหนึ่งเขามีกำลังซื้อ หรือเริ่มสนใจสินค้าประเภทนี้ เราจะกลายเป็นชื่อแรกๆ ที่เขานึกถึง”
อีกสิ่งที่ต้องทำควบคู่กับการตั้งราคาให้เหมาะสม คือการสื่อสารถึงกระบวนการ เขาเล่าว่าในช่วงแรกลูกค้าไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากระเป๋าผลิตจากอวน ซึ่งขัดกับจุดประสงค์ของเขาที่อยากบอกเล่าเรื่องนี้ให้กลุ่มลูกค้าได้รู้
“ผมว่าสำคัญที่สุดคือต้องสื่อสารให้เป็น ผมเคยเห็นบางแบรนด์มีสินค้าดีมาก แต่คนไม่เข้าใจ ไม่รู้จัก เพราะเขาไม่ได้เล่าว่าแบรนด์เขาคืออะไร มีข้อดียังไง ที่สำคัญคืออย่ากลัวว่าคนจะไม่ค่อยเข้าใจ”
เขาใช้สื่อออนไลน์เล่าเรื่องราว เล่าที่มาที่ไป ว่าสิ่งที่จะได้ซื้อคืออวน คือพลาสติกที่กำลังจะถูกขายเป็นขยะ แต่แบรนด์นำกลับมาใช้ซ้ำและเพิ่มมูลค่า กลายเป็นวัสดุรีไซเคิล เขายังเล่าไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นว่าอวนที่ได้มาเอามาจากไหน หน้าตาเป็นยังไง ตัดเย็บแบบไหน และผ่านกระบวนการอะไรบ้าง จนกลายเป็นกระเป๋า ให้ลูกค้าเห็นกระบวนการ
“ที่ต้องมาเล่าแบบนี้เพราะผมรู้ว่ายังมีลูกค้าจำนวนหนึ่งที่เขาสนใจและให้ความสำคัญกับเรื่องวัสดุรีไซเคิล และสิ่งแวดล้อม MAT ARCHER เลยอยากจะมาจับกลุ่มลูกค้าในตลาดตรงนี้
“ถามว่าทุกคนให้คุณค่ากับสิ่งนี้ทั้งหมดไหม คงไม่ การทำสื่อย่อมมีความเห็นทั้งเชิงบวกเชิงลบอยู่แล้ว แต่อย่างน้อยที่สุดคือ เขาได้รู้จัก ได้เห็นสินค้าของเรา จนวันหนึ่งถ้าเขาเข้าใจ เขาเริ่มคิดแบบเดียวกัน เขาอาจจะกลายมาเป็นลูกค้าเราในอนาคตได้”
Place
อีกหนึ่งเป้าหมายธุรกิจ
ที่หวังพาบ้านเกิดและองค์กรท้องถิ่นโตไปด้วยกัน
นอกจากไอเดียเพื่อสิ่งแวดล้อมและสินค้าที่มีคุณภาพแล้วนั้น แนวทางในการดำเนินธุรกิจของ MAT ARCHER ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ในการกระจายรายได้สู่ต่างจังหวัดและองค์กรส่วนท้องถิ่น
“ก่อนหน้านี้ ผมเคยเอาสินค้าไปขายตอนมีตลาดนัดในจังหวัด หรือตามตลาดร้านค้าชุมชน แต่ต้องยอมรับว่ายังตีตลาดลูกค้ากลุ่มนี้ยาก อาจเพราะด้วยรายได้และค่าครองชีพในพื้นที่ทำให้เขายังให้ความสำคัญกับปัจจัยสี่อยู่ และกระเป๋าของเราจึงเข้าถึงแค่คนบางกลุ่มเท่านั้น
“ดังนั้นผมจึงมองถึงการร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น เพราะทุกวันนี้มีหลายบริษัทที่ให้ความสำคัญกับวัสดุรีไซเคิล ดังนั้นเวลาเขาจะทำของชำร่วยภายในองค์กร เขาก็จะประสานงานกับเราให้ช่วยออกแบบและผลิตให้ ซึ่งผมมองว่าในอนาคตโมเดลธุรกิจตรงนี้มันอาจขยายเพิ่มเติมได้”
ไม่ว่าจะเป็นการคอลแล็บกับองค์กรต่างๆ หรือบางทีบางองค์กรจะมีสินค้าเหลือใช้ มีไวนิลที่ไม่ใช้งานแล้ว และให้โจทย์ว่าในนามของแบรนด์จะต่อยอดสิ่งเหล่านี้ยังไง
Purpose
ถึงจะยากกว่า เหนื่อยกว่า
แต่เทียบกับผลลัพธ์ที่ได้ ยังไงก็คุ้มค่า
ในวันนี้ MAT ARCHER มีเป้าหมายทางธุรกิจต่อจากนี้ยังไง มรรษพลเล่าอย่างตรงไปตรงมาว่า แม้จะยังไม่มีโร้ดแมปชัดเจนขนาดนั้น แต่ก็มองภาพคร่าวๆ ว่าคงดำเนินในแนวทางเช่นนี้ต่อไป เพราะปัจจุบันเขามองว่าการนำ MAT ARCHER และวัสดุรีไซเคิลต่างๆ มาเจอกัน ถือเป็นงานที่ ‘สนุก’ สำหรับเขา
“พูดกันตามตรงทุกวันนี้งานที่ทำอยู่ผมยังไม่รู้เลยว่าปลายทางจะเป็นสินค้าได้ไหม เป็นความท้าทายที่เราต้องลุ้นแต่ละขั้นตอนว่าถูกต้องไหม ผิดพลาดตรงไหน และสุดท้ายหน้าตาของสินค้าจะเป็นยังไง
“อีกอย่างคือพอทำมาเรื่อยๆ และมีช่องทางออนไลน์ ได้สื่อสารกับลูกค้า เขาก็เริ่มมีข้อเสนอแนะว่าทำไมไม่ลองทำแบบนั้นแบบนี้ ไม่ลองใช้วัสดุนี้ดู มันก็เป็นไอเดีย เป็นข้อมูลให้เราได้มาพัฒนาตัวแบรนด์ต่อ
“คือจะให้กลับไปใช้วัสดุทั่วไปเหมือนเดิมก็ทำได้ แต่มันไม่สนุก อีกอย่างเป้าหมายของเราไม่ใช่แค่การได้สินค้า แต่เป็นการสร้างแรงบันดาลใจและสื่อสารให้คนเห็นว่า สิ่งที่กำลังจะกลายเป็นขยะ มันมีแนวทางอีกมากมายที่จะนำกลับมาใช้หรือทำเป็นสินค้าที่มีมูลค่ามากกว่าเดิมได้
“หลังจากนี้ผมคงไม่ทำตัวให้หยุดนิ่ง พยายามเก็บวัสดุอื่นๆ มาเป็นไอเดีย รวมถึงหลังจากนี้อยากพัฒนาแบรนด์ให้ขยายไปต่างประเทศจริงจัง หลังจากนี้ก็คงจะไปออกงานประกวด ไปตั้งบูทแสดงสินค้าในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น”