ครึ่งปีหลังหุ้นไทยฟื้น จัด 6 หุ้นปันผลเด่นสู้!
หุ้นวิชั่น
อัพเดต 23 กรกฎาคม 2568 เวลา 0.51 น. • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • HoonVision | หุ้นวิชั่น - หุ้น ข่าวหุ้น หุ้นไทยวันนี้ หุ้นวันนี้ หุ้นเด่น วิเคราะห์หุ้น ธุรกิจ การเงิน เศรษฐกิจ การลงทุน ดัชนีราคาหุ้นหุ้นวิชั่น – ASPS คาด SET ไตรมาส 3/68 ฟื้นตัว หลังปัจจัยลบเริ่มคลี่คลาย จับตาอัตราภาษีไทย-สหรัฐฯ แนะกระจายพอร์ตหุ้นใหญ่ปันผลดี-กำไรโต พร้อมเสริมตราสารหนี้รับดอกเบี้ยขาลง และเน้นลงทุนต่างประเทศใน Big Tech จากกระแส AI หนุนตลาดสหรัฐ
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส หรือ ASPS เปิดเผยว่า บริษัทคาดการณ์ตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 3/2568 มีแนวโน้มดีขึ้น แม้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม โดยคาดว่า SET ยังมีโอกาสฟื้นตัวจากแรงกดดันที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก อาทิ สถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง (เริ่มกลาง มิ.ย. 68), ความขัดแย้งบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา (ปลาย พ.ค. 68), สงครามภาษี (ต้น เม.ย. 68) และประเด็นการเมืองร้อนแรงภายในประเทศ (กลาง พ.ค. 68) ซึ่งส่งผลให้ SET ในไตรมาส 2/2568 ปรับตัวลงราว -6% และช่วงครึ่งปีแรก -23%
อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวเริ่มคลี่คลาย โดยฝ่ายวิจัยประเมินว่า SET จะได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการครึ่งปีแรกที่ทยอยประกาศออกมา โดยเฉพาะกลุ่มที่มีกำไรเติบโตต่อเนื่องในไตรมาส 2-3 อาทิ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON), การแพทย์ (HEALTH), อสังหาริมทรัพย์ (PROP) และขนส่ง (TRANS)
"มองว่าทิศทางของตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะซึมซับปัจจัยลบหลัก ๆ ไปเยอะแล้ว ส่วนในไตรมาส 3/68 น่าจะมีแรงหนุนที่ช่วยให้ดัชนีเดินหน้าต่อได้โดยที่ผ่านมา ช่วงครึ่งปีแรกต้องบอกว่าตลาดโดนหลายแรงกดดัน ทั้งเรื่องสงครามตะวันออกกลางที่ตอนนี้ดูสงบลงพอสมควรแล้ว ส่วนเรื่องความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาที่ก่อนหน้านี้กังวลกันเรื่องดุลการค้า ก็เริ่มคลี่คลาย ความกังวลเบาลง ด้านเรื่องการเมือง มองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติของระบบ แต่ที่น่าจับตามองมากสุดตอนนี้ก็คือเรื่องภาษีการค้า โดยเฉพาะกรณี Reciprocal Tariff ถ้าไทยไม่สามารถปรับอัตราภาษีให้เทียบเท่าประเทศใกล้เคียงได้ อันนี้ก็อาจสร้างความกังวลอยู่บ้าง แม้จะไม่ถึงขั้นรุนแรงเท่าที่เคยกลัวกัน อย่างไรก็ตาม มีโอกาสที่สหรัฐจะลดภาษีจาก 36% นั้น น่าจะลดลงพอสมควร แต่จะถึงขั้นเท่าเพื่อนบ้านเลยไหม อันนี้ยังไม่แน่ใจ ด้านผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ มองว่าน่าจะมีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยได้ จากสภาพแวดล้อมโดยรวมที่เอื้อต่อการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ก็มีโอกาสที่จะมีการปรับลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง" นายเทิดศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1-2 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง ประมาณ 0.25%-0.50% โดยสะท้อนผ่านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ย ขณะเดียวกัน รัฐบาลอาจมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม สอดรับกับกรอบเวลาเบิกจ่ายงบประมาณปี 2569 หากไม่มีการยุบสภาในระยะสั้น
ฝ่ายวิจัย ASPS คาดการณ์กำไรตลาดเฉลี่ยในแต่ละไตรมาสที่ระดับ 262,000 ล้านบาท คิดเป็นทั้งปีที่ 1.06 ล้านล้านบาท หรือ 86 บาทต่อหุ้น เติบโต 17% YoY โดยเป้าหมายดัชนี SET แบบอนุรักษ์นิยมที่ระดับ 1,376 จุด (อิง EPS 86 บาท, ดอกเบี้ยนโยบาย 1.75% และ MEYG 4.5% +1SD) ซึ่งมี Upside เหลือจากระดับปัจจุบันที่อยู่ราว 1,140–1,170 จุด
นอกจากนี้ SET ยังมี Valuation ที่น่าสนใจ โดยมี PBV ปี 68F ต่ำกว่า 1.0 เท่า (-2SD) และ Dividend Yield ที่ระดับสูง 4.8% (+1SD) ซึ่งถือว่าต่ำและจูงใจในเชิงมูลค่าเมื่อเทียบกับดัชนีโลกอย่าง MSCI ACWI ที่มี PBV ราว 3.0 เท่า
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน แนะนำกระจายพอร์ตหุ้นใหญ่ในหลายอุตสาหกรรม โดยเน้นหุ้นที่มี Dividend Yield สูงหรือมีกำไรเติบโต เช่น PTT, SCC, CPALL, BDMS, TRUE และ PLANB พร้อมกันนี้ นักลงทุนควรทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดีในจังหวะที่มีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติและสถาบัน ซึ่งปัจจุบันถือครองหุ้นไทยน้อยลง (อยู่ที่ 24.2%) และเม็ดเงินกองทุน LTF ลดลงเหลือ 1.17 แสนล้านบาท (YTD -1.02 แสนล้านบาท)
แนวโน้มการลงทุนในต่างประเทศ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศของ ASPS ประเมินว่า สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดที่น่าสนใจจากความแข็งแกร่งด้านการบริโภคและบริการ หนุน EPS ของ S&P 500 ทำจุดสูงสุดใหม่ โดย Bloomberg ปรับลดความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ เหลือ 35% จาก 45% ในเดือนเมษายน Big Tech ยังคงเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของนักลงทุนทั่วโลก จากการลงทุนใน AI ที่ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน โดยเป้าหมาย S&P 500 ปลายปีนี้ที่ 6,732 จุด คิดเป็น Upside ประมาณ 7.8% แม้ Forward P/E อยู่ที่ระดับสูงราว 22.3 เท่า
ด้านคุณลัพธ์พร ปานะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ตลาดรอง บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยยังน่าสนใจแม้ Yield จะต่ำ โดยนักลงทุนเริ่มเน้นลงทุนแบบ Selective Buy โดยเฉพาะตราสารที่มีอันดับเครดิตไม่ต่ำกว่า BBB และอายุไม่เกิน 2 ปี ขณะที่ Perpetual Bonds จากบริษัทชั้นนำที่ให้ผลตอบแทน 3.00–4.00% ยังคงเป็นที่ต้องการสูง
ข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 2/2568 มูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทยอยู่ที่ 17.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1% จากปีก่อน โดยมูลค่าตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวที่ครบกำหนดในครึ่งปีหลังอยู่ที่ 414,810 ล้านบาท (ไตรมาส 3 ราว 194,385 ล้านบาท, ไตรมาส 4 ราว 220,424 ล้านบาท)
กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าคงค้างสูงสุดยังเป็นกลุ่มเดิม ได้แก่ พลังงาน (ENER), การเงิน (FIN), อสังหาฯ (PROP), พาณิชย์ (COMM) และ ICT คิดเป็น 61% ของมูลค่าตลาด โดยกว่า 94% ของหุ้นกู้ทั้งหมดเป็นกลุ่ม Investment Grade (BBB- ขึ้นไป)
แนวโน้มดอกเบี้ยและกลยุทธ์ลงทุนในตราสารหนี้ตลาดคาดว่าแบงก์ชาติไทยมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 1.75% เหลือ 1.50% หรืออาจต่ำกว่านี้ จากระดับ real interest rate ที่ +2.00% โดย Yield พันธบัตรรัฐบาลไทยอายุไม่เกิน 15 ปี ปรับลดลงต่ำกว่า 1.75% และพันธบัตรยาวสุด (46 ปี) ต่ำกว่า 2.30%
กลยุทธ์: หากต้องการ เทรดระยะสั้น แนะนำซื้อตราสารหนี้ภาครัฐ หากต้องการ ถือยาว แนะนำ Perpetual Bonds หรือหุ้นกู้ที่อันดับเครดิตไม่ต่ำกว่า BBB หากเน้นลงทุนเชิงโครงสร้าง แนะนำกลุ่มอาหาร (Food), การแพทย์ (Health), และการเกษตร (Agri) แม้ตลาดตราสารหนี้จะดูเงียบ แต่ยังมีโอกาสทำกำไรได้ หากเลือกลงทุนอย่างมีเป้าหมายชัดเจนและบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
รายงานโดย: นางสาวกมลวรรณ สมานโสร์ ผู้สื่อข่าว Hoonvision