TFPA เตรียม Safety First รับภาษี “ทรัมป์” หากคู่แข่งอัตราต่ำกว่าไทย
“ดร.องอาจ กิตติคุณชัย” นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป Thai Food Processors’ Association (TFPA) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตอนนี้ประเทศไทยยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนเรื่องอัตราภาษีจากสหรัฐฯ หลังเจรจาคาดการณ์ว่าอาจมีความเป็นไปได้คือ คงไว้ตามกำหนด 36% หรือ 25-20% หรือ ต่ำกว่า 20% และเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น 15%, เวียดนาม 20% และอินโดนีเซีย 19% เห็นได้อย่างชัดเจนว่าไทยเสียเปรียบมาก โดยเฉพาะเวียดนาม แม้ไทยจะเจรจาได้ภาษี 20% เท่ากัน ก็ยังสู้ต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าของเวียดนามได้ยาก
สิ่งที่น่ากังวลคือประเทศไทยกำลังมีปัญหาใหญ่ ประเทศคู่แข่งที่เคยวิ่งตามได้แซงหน้าไปแล้ว ต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้น เป็นอุปสรรคสำหรับการแข่งขันรวมถึงลูกค้าที่มีตัวเลือกมากขึ้น
“ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบทุกทาง อาจมีปัจจัยหลายอย่างทำให้เกิดกระแส
เรื่องการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการ แต่จะไม่ใช่ปัจจัยหลักทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้จะมีราคาค่าแรง ค่าวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายสิ่งอำนวยความสะดวก และภาษีภายในประเทศนั้นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ผู้ประกอบการต้องคิดคำนวนให้ดี มิฉะนั้นจะเป็นการหนีเสือปะจระเข้ ดังนั้นในช่วงแรกน่าจะไม่มีประเด็นเรื่องนี้มากนัก”
ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องปรับตัว กระจายตลาดส่งออกให้กว้างขวางมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป ปรับลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพด้วยการใช้เทคโนโลยี AI นำเครื่องมือต่างๆ เข้ามาช่วยลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพการผลิตให้มากขึ้น โดยภาครัฐและเอกชนก็ควรร่วมมือกันปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ดีขึ้น เช่น ค่าสาธารณูปโภค ขั้นตอนการทำงานให้สะดวกและรวดเร็ว รวมถึงเสถียรภาพทางการเมืองที่มีผลกระทบโดยตรง เพราะหากการเมืองไม่ดีเศรษฐกิจโดยรวมก็ไม่ดี
ดร.องอาจ กล่าวว่า เรื่องภาษีสหรัฐฯ ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่พึ่งพิงตลาดอเมริกาค่อนข้างมากตั้งแต่ 10-30% และทางออกคือต้องกระจายตลาดใหม่ๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น โดยความไม่แน่นอนของอัตราภาษีและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากประเทศคู่แข่ง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ที่สำคัญคือเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาเติบโตและแข่งขันในเวทีโลกได้ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการควรใช้ช่วงเวลาที่เหลือในการวางแผนปรับตัวและกระจายความเสี่ยง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ที่ต้องเน้น Safety First เป็นอันดับแรกสำหรับทุกธุรกิจ