โลกร้อนคุกคาม "กล้วย กาแฟ โกโก้" อาหารหลักคนหลายร้อยล้าน
ภาคเกษตรกรรมเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เปราะบางที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากผลผลิตของพืชผลเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยสภาพอากาศ เช่น อุณหภูมิ รูปแบบปริมาณน้ำฝน ระยะเวลาของฤดูเพาะปลูก ศัตรูพืช และโรคพืช เมื่อวิกฤตภูมิอากาศรุนแรงขึ้น อุปทานอาหาร คุณภาพอาหาร และความเป็นอยู่ของเกษตรกรก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้นำไปสู่การลดลงของผลผลิตพืชทั่วโลกอย่างมหาศาล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อแหล่งอาหารของโลกแล้ว ทั้งในแง่ของราคาที่สูงขึ้นและความมั่นคงทางอาหาร และแนวโน้มยังคาดว่าจะเลวร้ายลงอีก
กล้วยเป็นพืชอาหารอันดับ 4 ของโลก
รองจากข้าวสาลี ข้าว และข้าวโพด มีประชากรมากกว่า 400 ล้านคนพึ่งพากล้วยเป็นแหล่งพลังงาน 15–27% ของแคลอรีที่บริโภคต่อวัน จากงานวิจัยใหม่ขององค์กรการกุศล Christian Aid ซึ่งมีสำนักงานในสหราชอาณาจักร ระบุว่า การผลิตกล้วยในประเทศอย่างอินเดียและบราซิลคาดว่าจะลดลงภายในช่วงกลางศตวรรษ เนื่องจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศผู้ส่งออกหลักอย่างโคลอมเบียและคอสตาริกาก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
นักวิจัยยังพบว่า พื้นที่ถึง 60% ในละตินอเมริกาและแคริบเบียน ซึ่งเป็นภูมิภาคผู้ผลิตกล้วยรายใหญ่ของโลก จะไม่เหมาะสมต่อการปลูกกล้วยภายในปี 2080
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศหลายประการสามารถส่งผลต่อพืชกล้วย เช่น พายุไต้ฝุ่น ภัยแล้ง และความร้อนจัด สภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลต่อการปลูกกล้วยหลากหลายรูปแบบ อุณหภูมิต่ำกว่า 12 องศาเซลเซียสสามารถทำให้ต้นกล้วยได้รับความเสียหายจากความเย็น
ขณะที่อุณหภูมิที่สูงเกิน 38 องศาเซลเซียสมักหยุดยั้งการเจริญเติบโต พายุหมุนเขตร้อนที่มีลมแรงสามารถฉีกใบพืช ทำให้กระบวนการสังเคราะห์แสงลดลง ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมยังสามารถทำลายหน้าดินและส่งผลเสียต่อการเติบโตของกล้วย
โรคพืชที่กำลังแพร่กระจายได้ดีในสภาพอากาศร้อนชื้น
อีกทั้งยังมีโรคพืชที่กำลังแพร่กระจายได้ดีในสภาพอากาศร้อนชื้น เช่น โรคฟิวซาเรียม TR4 และโรคใบจุดดำ ที่ส่งผลต่อผลผลิตของกล้วยอย่างมาก
โรค TR4 หรือโรคปานามา เป็นโรคที่พบครั้งแรกในเอเชียช่วงทศวรรษ 1970 แพร่ไปยังแอฟริกาในปี 2013 และมาถึงละตินอเมริกาในอีก 7 ปีต่อมา เชื้อโรคชนิดนี้อยู่ในดินและสามารถปนเปื้อนพื้นที่ปลูกอย่างถาวรจนไม่สามารถใช้งานได้ ส่วนโรคใบจุดดำทำให้ระบบลำเลียงออกซิเจนของต้นกล้วยทำงานผิดปกติ ทำให้ผลผลิตลดลงได้ถึง 80%
กาแฟ
บราซิลและเวียดนามเป็นผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีสัดส่วน 39% และ 16% ของผลผลิตทั้งหมดตามลำดับ ทั้งสองประเทศต่างได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงพืชกาแฟ
ปีที่แล้ว บราซิลประสบปีที่แห้งแล้งที่สุดนับตั้งแต่เริ่มบันทึกข้อมูลในปี 1950 ระดับน้ำในแม่น้ำหลายสายในลุ่มน้ำแอมะซอนลดลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
งานวิจัยที่เผยแพร่เมื่อเดือนเมษายนระบุว่า บราซิลได้รับผลกระทบจากน้ำค้างแข็งอย่างหนักในปี 2021 และภัยแล้งในปี 2023 ซึ่งทำให้ผลผลิตกาแฟ โดยเฉพาะ "พันธุ์อาราบิกา" ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ตัวอย่างเช่น ในรัฐมีนัสเจไรส์ ความแห้งแล้งที่ผิดปกติได้ชะลอการเจริญเติบโตของกิ่ง ซึ่งจำเป็นต่อการออกผล
ปี 2024 เวียดนามก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยฝนตกหนักจาก พายุโซนร้อนทรา หรือ "ตรามี" (Trami) มีถล่มพื้นที่ปลูกกาแฟหลักในช่วงเริ่มฤดูเก็บเกี่ยว หากปล่อยให้ผลกาแฟอยู่บนต้นนานเกินไปหลังจากสุก จะส่งผลต่อคุณภาพของเมล็ด
เช่นเดียวกับ กล้วย กาแฟ เผชิญปัญหาศัตรูพืชและโรคพืชที่แพร่ระบาดเพิ่มขึ้นจากอุณหภูมิและความชื้นที่สูงขึ้น ตัวอย่างเช่น โรคราสนิมใบกาแฟ ซึ่งเป็นหนึ่งในภัยคุกคามใหญ่ของไร่กาแฟทั่วโลก แพร่ระบาดได้เร็วในสภาพอากาศร้อนชื้น ทำลายต้นกาแฟอย่างหนัก
ปี 2020 นักวิจัยพบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้พื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกกาแฟทั้งพันธุ์อาราบิกาและโรบัสตาลดลงราว 50% ภายในกลางศตวรรษ เวียดนามเพียงประเทศเดียวอาจสูญเสียพื้นที่ปลูกกาแฟโรบัสตาครึ่งหนึ่งภายในปี 2050 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรรายย่อย ซึ่งคิดเป็น 95% ของผู้ผลิตกาแฟทั้งประเทศ
โกโก้
การปลูกโกโก้ต้องอาศัยอุณหภูมิและความชื้นที่คงที่ รวมถึงปริมาณน้ำฝนที่สม่ำเสมอ ซึ่งสภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงกำลังรบกวนปัจจัยเหล่านี้ อุณหภูมิสูงยับยั้งการออกดอก ทำให้ผลผลิตลดลงและเร่งการสุกของเมล็ด ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพ ขณะที่รูปแบบฝนที่ไม่สม่ำเสมอทำให้เกิดทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม ภัยแล้งทำให้ต้นอ่อนแอ เสี่ยงต่อโรคพืช ส่วนฝนมากเกินไปทำให้เชื้อรา เช่น โรคฝักดำ แพร่กระจายได้ง่าย ส่งผลให้ผลผลิตเสียหายอย่างหนัก
ไอวอรีโคสต์และกานา ซึ่งผลิตโกโก้รวมกัน 50% ของโลก รวมถึงแคเมอรูนและไนจีเรีย ต่างมีช่วงเวลาที่อุณหภูมิเกิน 32 องศาเซลเซียสนานกว่าปี 2023 ถึง 6 สัปดาห์ในปี 2024 ส่งผลให้ต้นโกโก้สังเคราะห์แสงไม่ได้และไม่ออกผล
ปีที่แล้ว ฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอในแอฟริกาตะวันตกทำให้การเก็บเกี่ยวลดลงและราคาพุ่งสูง ในบางพื้นที่ของไอวอรีโคสต์ ปริมาณฝนในเดือนกรกฎาคมสูงกว่าค่าเฉลี่ยปี 1991–2020 ถึง 40% และน้ำท่วมที่เกิดขึ้นได้ทำลายสวนโกโก้
ศัตรูพืชและโรคยังลดทั้งปริมาณและคุณภาพของผลผลิต เช่น เพลี้ยแป้งที่พบในพื้นที่ร้อนชื้น แพร่ไวรัส Cocoa Swollen Stem Virus (CSSV) เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในต้นโกโก้ ทำให้ผลผลิตลดลงและอาจทำให้ต้นไม้ตายได้ โรคนี้แพร่กระจายโดยเพลี้ยแป้ง และเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่ปลูกโกโก้ โดยเฉพาะในแอฟริกาตะวันตก โดยดูดน้ำเลี้ยงจากต้นที่ติดเชื้อ แล้วแพร่ไปยังต้นสุขภาพดี ทำให้เกิดอาการลำต้นบวม ใบเหลือง อวัยวะต้นไม้เหี่ยวตาย และท้ายที่สุดต้นไม้ตาย
คณะกรรมการโกโก้กานาระบุว่า CSSV ทำให้ผลผลิตโกโก้ในประเทศลดลงราว 17% ต่อปี ปี 2023 มีพื้นที่ในกานาเกือบ 600,000 เฮกตาร์ติดเชื้อ
ข้อมูลจากองค์การโกโก้นานาชาติระบุว่า การเก็บเกี่ยวโกโก้ทั่วโลกในปี 2024 ลดลง 13% จากปีก่อน ส่งผลให้ราคาพุ่งในตลาดลอนดอนและนิวยอร์ก กลางเดือนกุมภาพันธ์ ราคาที่นิวยอร์กทะลุ 10,000 ดอลลาร์ต่อตัน ลดลงจากจุดสูงสุดของปีก่อนที่ 12,500 ดอลลาร์ ทั้งที่ราคาปกติมักอยู่ระหว่าง 2,000–3,000 ดอลลาร์ต่อตันมายาวนานหลายทศวรรษ
สภาพอากาศที่ไม่แน่นอน ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
กำไรผู้ผลิตที่ลดลง และโรคพืชที่แพร่กระจาย กำลังสร้างแรงกดดันมหาศาลต่ออุตสาหกรรมพืชผล มีผู้คนระหว่าง 40–50 ล้านคนพึ่งพาโกโก้เพื่อการดำรงชีวิต 25 ล้านคนพึ่งพากาแฟโดยตรง ขณะที่กล้วยเป็นแหล่งรายได้ของผู้คนกว่า 400 ล้านคน เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระทบต่อการเก็บเกี่ยว ก็ย่อมกระทบต่อรายได้และความสามารถในการเลี้ยงดูครอบครัว
ตัวอย่างเช่น การส่งออกกาแฟทั่วโลกลดลง 5.5% ในเดือนเมษายนปีนี้ เหลือ 11.43 ล้านถุง จาก 12.09 ล้านถุงในเดือนเมษายน 2024
การสูญเสียพืชผลส่งผลโดยตรงต่อรายได้ของเกษตรกร ชุมชนที่ปลูกกล้วยจำนวนมากพึ่งพาพืชชนิดนี้เพื่อความอยู่รอด และเมื่อผลผลิตเสียหาย รายได้ก็ลดลงทันที
ยิ่งไปกว่านั้น การควบคุมศัตรูพืชที่เพิ่มขึ้นยังทำให้ต้องใช้สารเคมีมากขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพเกษตรกร ในอุตสาหกรรมโกโก้ เกษตรกรถึง 44% ได้รับพิษจากสารกำจัดศัตรูพืชทุกปี และผู้บริโภคช็อกโกแลตก็อาจเสี่ยงเช่นกัน ทั้งสภาพอากาศและโรคพืชสามารถทำลายทั้งสวน ทำให้รายได้ของเกษตรกรตกอยู่ในความเสี่ยง
อุตสาหกรรมที่เปราะบางที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังส่งผลต่อกลุ่มคนที่ยากจนที่สุด Christian Aid ระบุว่า ผู้ปลูกโกโก้ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่ถึง 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน และเนื่องจากราคาขายถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ต้นฤดูเก็บเกี่ยว เกษตรกรจึงไม่ได้รับผลประโยชน์เมื่อราคาตลาดโลกปรับตัวขึ้น เกษตรกรยังถูกเอาเปรียบจากห่วงโซ่อุปทานที่ไม่เป็นธรรม โดยได้รับเพียง 6% ของราคาขายสุดท้ายของช็อกโกแลตหนึ่งแท่งเท่านั้น
อ้างอิงข้อมูล
- Earth.Org