ยกที่หนึ่งรอบคัดเลือก 8 ทีม เริ่มแล้ว!!! แข่งขันโต้วาทีน้องใหม่ ม.เกษตรฯ
ยกที่หนึ่งรอบคัดเลือก 8 ทีม เริ่มแล้ว!!! โครงการแข่งขันประเพณีโต้วาทีน้องใหม่ ม.เกษตรฯ เฟ้นหานักโต้วาทีร่วมการแข่งขันโต้วาทีประเพณีอุดมศึกษา ปี 2569
วันที่ 26 ก.ค.68 นางผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ หัวหน้างานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมส่งเสริมศิลปะการพูด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การแข่งขันประเพณีโต้วาทีน้องใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ ที่นิสิตนักศึกษา รู้จักกันเป็นอย่างดีในชื่อของการแข่งขัน “ โต้ชี่ ” สำหรับปีการศึกษา 2568 มีทีมที่เข้าร่วมแข่งขันจากสโมสรนิสิตคณะต่าง ๆ รวม 8 คณะ ได้แก่ คณะสังคมศาสตร์ คณะสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะประมง และ คณะอุตสาหกรรมเกษตร แบ่งการแข่งขันออกเป็น สาย A และ สาย B เพื่อเฟ้นหาทีมที่แข็งแกร่งในแต่ละสาย ผ่านเข้าไปชิงชัยในรอบชิงชนะเลิศ คือ วันที่ 11 กันยายน 2568 ในงานเปิดโลกกิจกรรมนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ
สำหรับโปรแกรมการแข่งขัน มีดังนี้ การแข่งขันรอบคัดเลือก 8 ทีม จัดขึ้น 4 วัน คือ ในวันที่ 26 – 27 ก.ค.68 ณ อาคารวิทยาศาสตร์กายภาพ 45 ปี คณะวิทยาศาสตร์ และ ในวันที่ 2-3 ส.ค. 68 ณ อาคารระพี สาคริก ส่วนรอบรองชนะเลิศ จัดขึ้นในวันที่ 30 ส.ค. 68 ณ อาคารระพี สาคริก และ รอบชิงชนะเลิศ วันที่ 11 ก.ย. 68 ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ
รายละเอียดการแข่งขันรอบคัดเลือก 8 ทีม ดังนี้ วันที่ 26 ก.ค. 68 ณ ห้องสุมินทร์ สมุทคุปติ์ อาคารวิทยาศาสตร์กายภาพ 45 ปี เวลา 13:00 - 16:00 น. คู่ที่ 1 ญัตติ “การใช้รถพลังงานไฟฟ้า ดีกว่า ใช้รถพลังงานน้ำมัน” ฝ่ายเสนอ – คณะอุตสาหกรรมเกษตร ฝ่ายค้าน – คณะวิศวกรรมศาสตร์ คู่ที่ 2 ญัตติ “ทำตามใจตัวเองดีกว่าทำตามกระแสสังคม” ฝ่ายเสนอ – คณะวิทยาศาสตร์ ฝ่ายค้าน – คณะสังคมศาสตร์ วันที่ 27 ก.ค. 68 ณ ห้องสุมินทร์ สมุทคุปติ์ อาคารวิทยาศาสตร์กายภาพ 45 ปี เวลา 13:00 - 16:00 น. คู่ที่ 1 ญัตติ “ความรักที่ดีควรมีพื้นที่ส่วนตัวมากกว่ามีพื้นที่ร่วมกัน” ฝ่ายเสนอ – คณะมนุษยศาสตร์ ฝ่ายค้าน – คณะสิ่งแวดล้อม คู่ที่ 2 ญัตติ “คนมีพรสวรรค์ไปถึงฝันได้ง่ายกว่าคนมีพรแสวง” ฝ่ายเสนอ – คณะเศรษฐศาสตร์ ฝ่ายค้าน - คณะประมง
“มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชมรมส่งเสริมศิลปะการพูด ขอขอบคุณคณะกรรมการตัดสินทุกท่าน ที่ให้เกียรติและเสียสละเวลาอันมีค่าอย่างยิ่ง ต่อการมาทำหน้าที่กรรมการตัดสินในทุก ๆ รอบแข่งขัน เพื่อคงความเป็นมาตรฐานของการจัดการแข่งขันให้นิสิตได้เรียนรู้การทำงาน อีกทั้งยังได้รับความรู้และเทคนิคในการแข่งขัน การใช้ศาสตร์และศิลป์ การใช้ภาษา น้ำเสียง ลีลา และแม้แต่มารยาทในการโต้วาทีของนักโต้และกองเชียร์ ซึ่งคณะกรรมการทุกท่านได้ให้ความรู้อย่างเต็มที่ ขอเชิญชวนนิสิตนักศึกษาและผู้สนใจร่วมชมและเชียร์เพื่อเป็นกำลังใจให้กับนิสิตนักศึกษาในศาสตร์ของการพูดด้วยค่ะ”