โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

นัสเซอร์-พิชิต สองแกนนำ คปท. จากม็อบถูกปรามาส สู่ผู้เขย่าระบอบชินวัตร

ไทยโพสต์

อัพเดต 3 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา

สถานการณ์การเมืองต่อจากนี้ ในแวดวงมองตรงกันว่า อยู่ในช่วงรอผลการพิจารณาคดีสำคัญทางการเมือง 2 คดี นั่นก็คือ คดีสมาชิกวุฒิสภายื่นคำร้องขอถอดถอนแพทองธาร ชินวัตร ที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และคดีไต่สวนชั้น 14 ทักษิณ ชินวัตร ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยทั้งสองคดีถูกคาดหมายว่าน่าจะรู้ผลช่วงประมาณกันยายน-ตุลาคมปีนี้ ซึ่งผลแห่งคดีน่าจะส่งผลทางการเมืองสูง โดยเฉพาะหากผลออกมาในทางไม่เป็นคุณกับแพทองธารและทักษิณ

ขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์ประชาชนหลายหมื่นคนที่ไปรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเมื่อ 28 มิ.ย. ที่เป็นการเคลื่อนไหวของ กลุ่มรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตย ก็สร้างความประหลาดใจทางการเมืองพอสมควรที่มีคนไปร่วมชุมนุมหลายหมื่นคน

และต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาตลอดสองปีของรัฐบาลเพื่อไทย กลุ่มเคลื่อนไหวการเมืองที่เป็นกลุ่มหลักในการเคลื่อนไหวนัดรวมตัวกันทำกิจกรรมการเมืองหลายครั้ง เพื่อตรวจสอบรัฐบาลและกรณีทักษิณป่วยทิพย์ ที่เคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นก็คือกลุ่ม เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ที่ปัจจุบันก็ยังปักหลักชุมนุมกันที่่ข้างสะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล โดยมีสองแกนนำคือ พิชิต ไชยมงคล และนัสเซอร์ ยีหมะ เป็นสองหัวหอกหลัก

รายการ "ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด" สัมภาษณ์เปิดใจ "นัสเซอร์-พิชิต" ถึงการเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา ที่มีเสียงเยาะเย้ยถากถางต่างๆ เช่นม็อบฟืนเปียก ม็อบจุดไม่ติด แต่ คปท.ก็ยังปักหลักเคลื่อนไหวไม่มีถอย โดยมีเนื้อหาการสัมภาษณ์บางส่วนดังนี้

-ที่ผ่านมาทั้งสองคนก็คงได้รับทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ บางคนที่ไม่ชอบก็บอกสองคนนี้ไม่เห็นทำอะไรเลย ชุมนุมประท้วงอย่างเดียว?

นัสเซอร์-ก็เป็นเรื่องปกติของนักต่อสู้ แต่จริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นนักต่อสู้ แต่เพราะสังคมไทยขาดกระบวนการตรวจสอบที่จริงจังมากกว่า จึงต้องมีประชาชนส่วนหนึ่งที่ต้องทำหน้าที่ตรงนี้ ถ้าสังคมไทยมีคนที่คอยตรวจสอบที่ไม่ใช่แค่องค์กรรัฐ ทำหน้าที่ได้อย่างขึงขังจริงจัง ก็ทำให้กระบวนการทางการเมือง นักการเมืองระมัดระวังการทำผิด

-ก็อาจมีคนพูดทำนองว่า เอ้ย พวกคุณผูกขาดความถูกต้องหรือเปล่า?

พิชิต-ที่พวกเราขยับหลังนายทักษิณกลับมาโดยไม่ได้ติดคุก เราไม่ได้บอกว่าเราเป็นตัวชี้วัด หรือเป็นไม้บรรทัดไปทาบวัดใครว่าความถูกต้องคืออะไร หากสังเกตข้อเรียกร้องของ คปท. จะพบว่าเรามีข้อเรียกร้องคือ ให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้า ใช้กฎหมายเป็นหลัก ใช้กระบวนการที่ถูกต้องไม่มีการแทรกแซง

อย่างช่วงนายทักษิณยังไม่พ้นโทษ เราก็เรียกร้องให้นายทักษิณกลับสู่เรือนจำ แต่เมื่อมีกระบวนการช่วยเหลือกัน เราก็ไปเคลื่อนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.หรือแพทยสภาดำเนินการ เราไม่ใช่ตัวชี้วัดความถูกต้อง แต่เราเป็นตัวเร่งให้กระบวนการกลไกของบ้านเมืองเดินหน้า สิ่งที่ คปท.เราทำ ผมคิดว่าคือสิ่งที่สังคมขาดในการทำ เช่นขาดบุคคลที่จะเข้ามาทำงานตรงนี้

นัสเซอร์-รัฐธรรมนูญให้สิทธิประชาชนหลายส่วน แต่ส่วนในการร้องโดยตรงรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้สิทธิ แต่ให้ผ่านองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อเห็นว่าอย่างกรณีนายทักษิณไม่ได้อยู่ในลู่ในทาง เราก็ใช้กลไกที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ ซึ่งคำว่าผูกขาดความถูกต้องใช้ไม่ได้เสียทีเดียว แต่จริงๆ แล้วคือเราทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายให้สิทธิไว้

-การเคลื่อนไหวรอบนี้ คปท.ดูจะพยายามพิงกฎหมายไว้ เช่นกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุม แต่สถานการณ์หลายอย่างดูจะเป็นใจ?

นัสเซอร์-ผมคิดว่ากฎหมายมันมีอยู่แล้ว เช่นกฎหมายในรูปแบบของการทำงานขององค์กรอิสระ หรือรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ แต่ว่าการบังคับใช้กฎหมายมันไม่เข้มข้น ไม่จริงจัง แม้แต่กับบางกรณีที่เกี่ยวกับทักษิณ พรรคเพื่อไทย มีหลายส่วนทั้งจากประชาชนและพวกเราเองที่ตั้งคำถามกับองค์กรอิสระบางแห่ง เช่น กกต. ว่าที่ผ่านมานายทักษิณมีพฤติการณ์เข้าข่ายครอบงำพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ที่ก็คือกฎหมายมี แต่ว่าผู้ใช้กฎหมายไม่ได้เข้มข้นในการจัดการ ก็เลยมีประชาชนตั้งคำถาม มีการท้วงติงผู้ใช้กฎหมาย ผู้ทำหน้าที่ ซึ่งการเมืองจะสมบูรณ์ ประชาชนต้องตื่นรู้ตื่นตัว

พิชิต-ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นใจ แต่อย่าลืมว่ากว่าจะเป็นใจ มันเกิดจากการเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาชน อย่างคปท.ไปยื่นเรื่องกล่าวโทษกรณีนายทักษิณไว้ (เรื่องชั้น 14)

ตอนนั้นหลายคนก็ปรามาส คปท.ว่าทำอะไรเขาไม่ได้แล้ว เขาดีลกันไว้แล้ว แต่เราก็ยังไปเคลื่อนไหวยื่น ป.ป.ช. และมีการเดินทางไปที่ ป.ป.ช.ทุกเดือน ก็ทำให้กระบวนการมันเดินหน้า ป.ป.ช.ก็ต้องมีคำตอบให้ คปท.-กองทัพธรรม-ศปปส.ที่ไปติดตามความคืบหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช.ทุกเดือน แล้วก็ยังไปร้องที่แพทยสภา ที่กรมราชทัณฑ์ ก็ทำให้กระบวนการทางกฎหมายมันเดิน โดยในส่วนของที่ไปยื่นให้ไต่สวนเอาผิดเรื่องชั้น 14 เราไปยื่นให้สอบกรณีมีเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ ไปร่วมสนับสนุนให้เกิดกระบวนการที่ไม่ชอบในการบังคับโทษ เพราะก่อนหน้านั้นที่ไปยื่นเรื่องต่อกรมราชทัณฑ์ ต่อมากรมราชทัณฑ์เขาทำหนังสือตอบเรากลับมาว่า กรณีพานายทักษิณไปรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ เป็นการเฝ้าระวังอาการ โดยไม่ได้บอกว่านายทักษิณป่วยวิกฤต พอหนังสือบอกว่าเป็นการเฝ้าระวังอาการ เราก็มองกันว่าก็เฝ้าระวังอาการที่ รพ.ราชทัณฑ์ แต่การส่งตัวไป รพ.ตำรวจแสดงว่าผิดเงื่อนไขการบังคับโทษแน่

รวมถึงตอนที่นายเศรษฐา ทวีสิน ตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ทาง คปท.เป็นองค์กรแรกที่ไปร้องศาล รธน.ผ่าน กกต. ก่อนที่ สว.ชุดที่แล้วจะเข้าชื่อกันยื่นคำร้องต่อศาล รธน. ตอนนั้นอดีต สว.ยังหารือกันอยู่เลย แต่ คปท.ขยับก่อนเพื่อให้กลไกมันเดินหน้า คือมันอาจดูเหมือนเข้าทางทุกอย่าง แต่กว่าจะเข้าทางมันเกิดจากการขยับของประชาชน เพื่อให้กระแสสังคมได้เข้ามาร่วมติดตาม คือพอคนเขาปรามาสเรา เราก็เหมือนทำงานง่ายเลย แต่มันเป็นไปตามกลไกทั้งนั้น

-นัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่มรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตย ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อ 28 มิ.ย. ถือว่าคนมาก ดูแล้วขั้นต่ำเท่าไหร่ 5 หมื่นคนเศษๆ ได้ไหม?

นัสเซอร์-มาร่วมชุมนุมมากเกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้ อันนี้ก็ต้องยอมรับ คือคาดการณ์ไว้ระดับหนึ่ง คืออยู่ที่ระดับหลักหมื่นต้นๆ จากที่เตรียมพื้นที่เตรียมอะไรไว้ แต่ว่าพื้นที่ตรงนั้นรองรับคนได้ 6 หมื่นคนถึง 7 หมื่นคนอยู่แล้ว แต่ว่าเราเตรียมไว้เต็มที่ไม่เกิน 2 หมื่นคนถึง 3 หมื่นคน ซึ่งตัวเลขที่ทางเรามองเอาแบบไม่โอเวอร์ รวมถึงตัวเลขที่เจ้าหน้าที่ซึ่งทำงานด้านการข่าว ที่นับยอดแบบให้ความเป็นธรรม ก็ยอมรับที่ตัวเลขคนมาร่วมชุมนุม 5 หมื่นคนถึง 6 หมื่นคน

-แล้วที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประกาศว่าในเดือนสิงหาคมอาจจะมีการนัดชุมนุมกันอีก?

พิชิต-ข้อเรียกร้องของคณะรวมพลังแผ่นดินฯ ที่มี 3 ข้อ 1.แพทองธาร ชินวัตร ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากนายกฯ 2.พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล 3.ที่เราทำแล้วและต้องทำต่อเนื่องคือ ปกป้องอธิปไตยของประเทศ

แต่ข้อเรียกร้องที่ 1 กับที่ 2 ยังไม่เกิดขึ้น ที่แพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ เพราะคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยยังไม่ได้แสดงสปิริตของตัวเอง และพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่ได้มีการถอนตัว เราก็มีการพูดคุยกันในคณะรวมพลังแผ่นดินฯ ก็ประเมินสถานการณ์กันว่า ที่มีคดีอยู่ที่ทั้งศาลรัฐธรรมนูญและศาลฎีกาฯ อุณหภูมิทางการเมืองที่อาจจะไม่สะเด็ดน้ำก็ได้ แต่อาจเห็นเค้าโครงก็ประมาณเดือนสิงหาคม ก็ต้องกลับมาเรียกร้องในข้อ 1 กับข้อ 2 อยู่ดี ก็เลยวางกรอบกว้างๆ ว่าช่วงสิงหาคมปลายๆ อาจจะต้องชวนพี่น้องประชาชนออกมาแสดงพลังกันอีกรอบ ที่เป็นเรื่องของการประเมินไทม์ไลน์ทางการเมือง

โดยจากที่ฟังนายทักษิณไปพูดที่งานเนชั่นเมื่อ 9 ก.ค. แพทองธารคงไม่ได้รับสัญญาณจากทักษิณให้ลาออก เพราะนายทักษิณชูว่าแพทองธารไปต่อ คือรอดคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญ 2.คือชัยเกษม นิติศิริ อาจเข้ามาเป็นนายกฯ คือแพทองธาร อาจหลุดจากตำแหน่ง แล้วชัยเกษมเข้ามาแทน 3.คือยุบสภา ยังไม่เห็นสัญญาณจากทักษิณที่เป็นพ่อนายกฯ เป็นคนชักใย ส่งสัญญาณให้แพทองธารลาออก แต่ว่าก่อนหน้านี้ทักษิณไม่เคยพูดเรื่องยุบสภา เคยแต่บอกว่ามั่นใจรัฐบาลอยู่ครบเทอม แต่รอบนี้เริ่มเห็นอาการว่านอตหลวมๆ แล้ว

-หากสมมุติว่าแพทองธารยังได้เป็นนายกฯ ต่อ ในช่วงสิงหาคมหรือกันยายน แล้วจะมีการนัดชุมนุมใหญ่อีกหรือไม่?

นัสเซอร์-คิดว่าประชาชนส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดจากที่มาร่วมชุมนุมเมื่อ 28 มิ.ย. คนแบบแพทองธารสมควรเป็นนายกฯ ต่อไปหรือไม่ ทุกคนมีคำตอบอยู่แล้วว่าไม่สมควรให้คนชื่อแพทองธารเป็นนายกฯ และทุกคนก็ฟังข้อเรียกร้องบนเวทีวันนั้นว่าข้อเรียกร้องข้อที่ 1.นายกฯ ต้องลาออกไป ดังนั้นการนัดชุมนุมรอบใหม่ ถ้าแพทองธารยังเป็นนายกฯ ก็ต้องมีการชุมนุม เพราะยังไม่ได้แสดงความรับผิดชอบทางการเมือง

-หากแพทองธารพ้นจากนายกฯ แล้วชัยเกษมมาเป็นนายกฯ แทน จะมีการนัดชุมนุมใหญ่หรือไม่?

พิชิต-คณะรวมพลังแผ่นดินยังไม่ได้หารือประเด็นนี้ แต่คปท.ยังเดินต่อ เพราะ คปท.ไม่ได้แค่ตรวจสอบตัวบุคคล แต่ตรวจสอบเชิงนโยบายด้วย หากนายชัยเกษมยังเดินหน้านโยบายที่เราเห็นว่าเป็นภาคต่อเนื่องจากแพทองธารและเศรษฐา มันก็เป็นเหตุที่ให้เราต้องดำเนินการตรวจสอบต่อไป เพราะก็ยังมีเรื่องชั้น 14 อยู่ที่เรื่องนี้เป็นเรือธงของ คปท. เรื่องชั้น 14 ไม่ใช่แค่นายทักษิณกลับเข้าเรือนจำ ถ้ามีการลงโทษข้าราชการที่เกี่ยวข้องว่าเอื้ออำนวยช่วยเหลือนายทักษิณ ก็แสดงว่ามีความบกพร่องในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ก็เป็นเหตุว่าตรงนี้เป็นความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารโดยตรง เพราะกรมราชทัณฑ์อยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ที่มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นรมว.ยุติธรรม

นัสเซอร์-วันที่ คปท.ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องกรณีนายทักษิณ เราพูดและคาดการณ์ว่ากรณีนายทักษิณที่ไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว จะเข้ามาครอบงำบงการพรรคเพื่อไทยและเข้าไปจัดการระบบภายในทั้งหมดของพรรคร่วมรัฐบาลที่ตัวเองมีอำนาจ หากนายชัยเกษมได้รับเลือกเป็นนายกฯ จริง การครอบงำบงการของนายทักษิณคงไม่ได้ละเลิก ยังคงทำต่อ และตัวนโยบายหลายตัวก็ออกมาจากปากของนายทักษิณ เช่น กาสิโน ดิจิทัลวอลเล็ต ที่มันจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศในอนาคต

หากลูกออกไปพ่อติดคุคปท.ก็ยังไม่เลิกชุนุ?

-เกิดสมมุติศาลฎีกาฯ มีคำสั่งให้นายทักษิณกลับไปรับโทษ การชุมนุมอะไรต่างๆ ก็คงเลิกรา?

พิชิต-ยังครับ ยังมีเรื่องที่ค้างอยู่ในสภา ที่เป็นเรื่องเชิงนโยบายที่เราต้องตามกันต่อ คือเรื่องนิรโทษกรรมสุดซอย แต่รูปแบบอาจเปลี่ยนไป หรืออาจเป็นการชุมนุมแบบยาวก็ได้ รวมถึงการติดตามในเรื่องเชิงนโยบายรัฐบาลต่อ

นัสเซอร์-เป็นเรื่องข้อกฎหมายที่เราห่วงใย เราไม่ได้ห่วงใยกระบวนการกฎหมายทั้งหมด แต่เราห่วงเรื่องการอาจถูกสอดไส้ในเนื้อหาบางตัว

-หากคนบอกว่า ทำไมพวกนี้ชุมนุมไม่รู้จักจบสิ้น?

นัสเซอร์-ผมไม่อยากให้มองว่าการชุมนุมเป็นเรื่องความวุ่นวาย เพราะหากไปนิยามหรือตั้งป้อมไว้แบบนั้น ก็คิดว่าเมื่อไหร่จะเลิก แต่ถ้ามองว่าการชุมนุมเป็นเรื่องการใช้สิทธิ เรื่องการตรวจสอบรัฐบาล ผมคิดว่ามีองค์กรแบบนี้หลายองค์กร จะเป็นกลุ่มอื่นก็ได้ ทำหน้าที่ตรงนี้ก็จะทำให้การเมืองเข้มแข็งมากขึ้น

พิชิต-เราก็อยากเลิกเหมือนกัน คือหากรัฐบาลเคลียร์ ฝ่ายการเมืองเคลียร์ แล้วใช้พื้นที่ของรัฐสภา โดยฝ่ายค้านทำหน้าที่ของฝ่ายค้านในการตรวจสอบอย่างเต็มที่ การเมืองภาคประชาชน ก็จะทำบทบาทในการตรวจสอบแบบระยะห่าง แต่ก่อนเรามีเครือข่าย มีองค์กร อย่างเช่น ครป.ในการตรวจสอบเชิงนโยบาย ก็อาจจะทำให้บทบาทการเคลื่อนไหวน้อยลง แล้วไปตรวจสอบเชิงนโยบายมากขึ้น

-ตอนนี้สภากำลังเริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่เสนอเข้ามา 5 ฉบับ จุดยืนของ คปท.เรื่องนิรโทษกรรมเป็นอย่างไร?

นัสเซอร์-เวที คปท.พูดเรื่องนิรโทษกรรมตั้งแต่วันแรกว่า เราโอเคกับการนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมืองทุกกลุ่มสี ทุกฝ่ายที่เราเรียกกัน แต่เรามีข้อแม้ในเรื่องคดีทุจริตคอร์รัปชัน และคดีทำผิดมาตรา 112 รวมถึงคดีอาญาร้ายแรง ซึ่งเรื่องนี้ทุกกลุ่มที่เคยมีการพูดคุยกันผ่านเวที เช่นเวทีสมานฉันท์ ที่มีการจัดหลังรัฐประหาร คสช. ก็เข้าใจตรงกัน เช่นเรื่องนิรโทษคดี 112 ต้องไปวางไว้อีกเวทีหนึ่ง หรืออีกส่วนหนึ่งไปเลย

พิชิต-เรื่องนิรโทษกรรมหลายคนแสดงความคิดเห็น อภิปรายกันมาพอสมควร พรรคประชาชนก็ต้องใจกว้างต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มอื่นๆ ด้วย จะไปเหมารวมในสถานการณ์ที่ยิ่งเกิดความขัดแย้ง ถ้าดึง 112 เข้าไป (ให้นิรโทษกรรม) มันจะไม่แฟร์กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองอื่นๆ ที่เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองจริงๆ 112 ถูกตั้งคำถามว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่ พอถูกตั้งคำถามมันเหมือนมีมลทินกันอยู่ แต่การเคลื่อนไหวการเมืองอื่นที่ไม่มีมลทิน ที่ประชาชนควรได้รับการนิรโทษกรรม คุณอย่าเอามาผูกติดได้หรือไม่ พรรคประชาชนต้องแฟร์กับการเคลื่อนไหวที่ไม่มีมลทิน ที่เป็นการเคลื่อนไหวการเมืองจริงๆด้วย ไม่อย่างนั้นก็เอามาต่อรองอยู่เรื่อย ผมคิดว่าเรื่อง 112 ยังมีทางออกที่เป็นไปได้อยู่ ที่มากกว่าแค่การใช้เวทีสภาฯ

จาก 2548 ถึง 2568 สู้กับระบอบทักษิณ มาถึงระบอบชินวัตร

-ทั้งสองคนก็เคลื่อนไหวแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2548 มาวันนี้ก็กลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง ก็สู้กับทักษิณอีกแล้ว เมื่อก่อนเรียกระบอบทักษิณ ตอนนี้ใช้คำว่าระบอบชินวัตรที่ คปท.เรียก?

พิชิต-เพราะว่ามันเกินกว่าทักษิณ มียิ่งลักษณ์ มีแพทองธาร เศรษฐา ทวีสิน และอีกหลายคน มันเหมือนเป็นระบอบของครอบครัวมากกว่า เป็นระบอบชินวัตรที่ก็ใหญ่กว่าเดิม เพียงแต่ถูกสั่งการบงการจากคนเดิม ตัวละครมากขึ้น

นัสเซอร์-เมื่อก่อนตอนเราสู้กับทักษิณตอนปี 2548-2549 มันเอามาวางบนโต๊ะแบบชัดเจน คือรู้ว่าเรื่องนี้ -เรื่องนี้ แต่รอบนี้หากสังเกตกรณีที่ทักษิณบงการหรือจัดการ ในเรื่องนโยบายต่างๆ อันไหนก็เล่นอันนั้น อันไหนยังไม่ได้ก็หยุดไว้ก่อน อย่างเช่นยกเลิกการเสนอกาสิโน เพราะรู้แล้วว่ากระแสมันไม่ได้ ซึ่งผมคิดว่าทักษิณหรือระบอบชินวัตรที่คปท.เรียกมีลูกล่อลูกชนดีขึ้น และระมัดระวังมากขึ้น แต่ไม่ได้บอกว่านิสัยใจคอหรือสิ่งที่ทำจะแตกต่างจากอดีต ก็ยังคงทำเหมือนเดิม ยังมีกลิ่นอายของการได้ประโยชน์จากตัวนโยบาย หรือมีเรื่องของกลุ่มทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้การเคลื่อนไหวของเราต้องรอบคอบรอบด้านมากขึ้น อย่างเช่นที่เราใช้ทั้งรูปแบบการเดินขบวน การใช้ช่องทางข้อกฎหมายยื่นองค์กรอิสระในการตรวจสอบ

สำหรับฉากทัศน์การเมืองต่อจากนี้ ก็คาดการณ์กันไว้ว่าช่วงสิงหาคม-กันยายน น่าจะคลี่คลายบางเรื่อง เช่นเรื่องคำร้องของแพทองธาร ที่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยหากศาลรัฐธรรมนูญให้แพทองธารพ้นจากการเป็นนายกฯ ก็ต้องโหวตนายกฯ คนใหม่ มีการตั้ง ครม.ใหม่ ก็ทำให้การเมืองเปลี่ยนรูปแบบใหม่ แต่การตรวจสอบอะไรต่างๆ ยังต้องทำต่อไป ส่วนเรื่องชั้น 14 เท่าที่สอบถามคนที่เข้าไปฟังการไต่สวนของศาลฎีกาฯ ก็บอกว่าน่าจะไม่เกินอีก 2-3 เดือน

พิชิต-การเมืองต่อจากนี้ ผมว่าเป็นไปตามข้อที่สามที่ทักษิณพูดไว้คือยุบสภา เพราะแพทองธารมีโอกาสไม่รอดในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ แต่การที่จะดันชัยเกษมขึ้น แสดงว่าศาลมีคำสั่งในคดีแล้ว ที่ทำให้แพทองธารอาจไม่สามารถกลับมาทำงานการเมืองได้อีก ผมคิดว่าทักษิณไม่ยอมให้แพทองธารหยุดแค่นี้ ก็สามารถลาออกจากตำแหน่งนายกฯก่อนได้ แพทองธารก็ชิงลาออก พอชิงลาออก นายชัยเกษมก็เข้ามาเป็นนายกฯ แบบขัดตาทัพ ก็มีวาระที่ต้องยุบสภาฯ ในท้ายที่สุด

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ไทยโพสต์

“เช็กลิสต์ภารกิจใต้น้ำ ตรวจอุโมงค์ใต้เขื่อน อีกหนึ่งหน้าที่เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของ กฟผ.”

4 ชั่วโมงที่ผ่านมา

เมื่อนาฬิกากรรมทำงาน…ต้องดิ้นพล่านด่ากราด

4 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความทั่วไปอื่น ๆ

พลังมหาสมุทรคือความหวังใหม่ ทรงพลังจนอาจเทียบชั้นพลังงานนิวเคลียร์

ไทยพับลิก้า

"ทิดแหล่" แฉข้อมูลเด็ด แผน "สีกากอล์ฟ" ตร.เข้าใจทำไมหลง

ThaiNews - ไทยนิวส์ออนไลน์

"เรวัช" แนะทางออกปมรีสอร์ต "จอนนี่มือปราบ" รุกที่นิคมฯ ชี้พลาด 2 เรื่องอย่างแรง

Manager Online
วิดีโอ

แม่ทัพดอกเหมย อาบน้ำสะเทือน แม่ทัพเขมร เปรย “อาบได้สํ่านี้ติสาวนํ้านั้น”

BRIGHTTV.CO.TH

สัมพันธ์‘อียู-จีน’เลวร้ายลง ‘ยุโรป’เมินการเกี้ยวพาจาก‘ปักกิ่ง’ แม้ถูก‘ทรัมป์’บีบคั้นจนหน้าเขียว

Manager Online

‘นาโต้’ทำทุกอย่างเพื่อประจบเอาใจ‘ทรัมป์’ และหลบเลี่ยงไม่แตะปัญหาระดับเป็นตายของตัวเอง

Manager Online

‘ซัมมิตนาโต้กรุงเฮก’แสดงให้เห็นว่า‘ยุโรป’กับ‘สหรัฐฯ’ไม่ได้มีศัตรูร่วมกันอีกต่อไป รวมทั้งสะท้อนว่า‘ยุโรป’ยอมหงอ‘ทรัมป์’ขนาดไหน

Manager Online

หนุ่มบุกเดี่ยววิ่งราวทองห้างดังระนอง คว้าทองครึ่งล้านวิ่งหนี พนักงานไล่ตามกระโดดถีบหน้าคว่ำ

Khaosod

ข่าวและบทความยอดนิยม

Loading...