วิศวะ DPU โชว์งานวิจัยนักศึกษา ประยุกต์ใช้ AI เพื่อชีวิตและธุรกิจที่ดีขึ้น
วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (CITE) ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ โชว์สุดยอดไอเดียเปิดตัวอย่างงานวิจัยของนักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ นำ AI มาใช้เป็นเครื่องมือ ‘จับความรู้สึกของผู้ใช้บนโลกไซเบอร์’ ‘ตรวจสอบภาวะออทิสติกในเด็ก’ ‘สร้างชุดทดสอบการทำงานของซอฟต์แวร์’ ตอกย้ำมาตรฐานหลักสูตรสร้างคุณค่าให้นักศึกษาสร้างเทคโนโลยีด้วยตัวเอง ได้รู้จักเปลี่ยนความรู้จากห้องเรียนมายกระดับคุณภาพชีวิตและธุรกิจด้วยนวัตกรรม
วันที่ 4 ก.ค.68 ผศ.ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ได้เห็นงานวิจัยขับเคลื่อนสู่มิติใหม่ๆ มากขึ้น เช่น การนำ Agentic AI มาช่วยตรวจจับความรู้สึกของข้อความที่โพสต์บนโซเชียลมีเดีย หรือ การนำ AI มาช่วยตรวจวิเคราะห์ภาวะออทิสติกในเด็กวัยเรียน หรือ การใช้ AI สร้างชุดทดสอบการทำงานของซอฟต์แวร์ โดยเป็นงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาโทสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ของ CITE ที่นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากหลักสูตรมาพัฒนาเป็นผลงานที่จับต้องได้ และสามารถนำไปต่อยอดเป็นชิ้นงานที่สามารถใช้ได้จริงในโลกของการทำงาน
คุณปราชญา ป้องกัน นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า “การวิเคราะห์ความรู้สึกของความเห็นบนโซเชียลมีเดียอย่างมีประสิทธิภาพด้วยโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model : LLM) ที่ปรับแต่งเฉพาะร่วมกับการใช้ Agentic AI ทำให้เข้าใจมุมมองทางความรู้สึกและอารมณ์ของคอมเมนต์ต่าง ๆ ที่โพสต์บนโซเชียลมีเดียได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการตลาดที่สามารถรับรู้ความรู้สึกจากผู้ที่แสดงความเห็นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เช่น เจ้าของผลิตภัณฑ์ต้องการทราบ feedback ที่มีต่อสินค้าและแบรนด์บนโซเชียลมีเดียว่าเป็นอย่างไร
โดยหลักการแล้ว Agentic AI จะคอยรวบรวมข้อความที่โพสต์บนเครือข่ายโซเชียลมาวิเคราะห์ตามกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งข้อความเหล่านี้จะถูกคัดแยกตามหมวดหมู่แล้วส่งไปยังตัวโมเดลภาษาใหญ่ (LLM) ที่ปรับแต่งให้เก่งเฉพาะด้านในการวิเคราะห์ความรู้สึก โดยจะบอกได้ว่าข้อความต่างๆ ความรู้สึกต่างๆ ได้แก่ “รู้สึกเป็นลบมากที่สุด” “ลบนิดหน่อย” “เป็นกลาง” “ค่อนข้างเป็นบวก” และ “รู้สึกเป็นบวกที่สุด”
ปัจจุบันขอบเขตงานนี้จะอยู่ที่ YouTube เพียงช่องทางเดียว เนื่องจากแพลตฟอร์มรองรับการเชื่อมต่อผ่าน Agentic AI อยู่แล้ว แต่ในอนาคตสามารถต่อยอดการพัฒนาระบบไปได้อีกมาก เช่น Facebook TikTok เป็นต้น
คุณปราชญา กล่าวว่า จากคนที่เรียนจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ เคยทำงานด้านคอมพิวเตอร์กับธนาคารพาณิชย์มาก่อน หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ของ CITE เปิดกว้างสำหรับคนที่สนใจเรียนด้านนี้แต่ไม่ได้จบสายตรงมาให้มีโอกาสได้เรียน แล้วสิ่งที่ได้จากการเรียนปริญญาโทนี้ คือ หลักสูตรมีความทันสมัยมาก มีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติแทบทุกวิชา ทำให้มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และ AI ค่อนข้างลึกซึ้ง สามารถประยุกต์ใช้ความรู้นี้เพื่อพัฒนาตัวเองจนได้มาทำงานในสายเทคโนโลยีในปัจจุบัน
คุณสุดารัตน์ ภู่ทอง นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า การเป็นครูสอนคอมพิวเตอร์และศิลปะให้กับเด็ก ๆ ทำให้เห็นเด็กบางคนมีพัฒนาการที่ไม่เป็นไปตามวัย บางคนไม่ยอมพูด อาการย้ำคิดย้ำทำ ในขณะเดียวกันก็เรียนปริญญาโทที่มีการสอนเกี่ยวกับ AI จึงมีแนวคิดนำศาสตร์ทั้งสองด้านนี้มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
ปกติแล้วเด็ก ๆ จะชอบวาดภาพและระบายสีอยู่แล้ว ดังนั้นงานวิจัยนี้จะสร้างโมเดล AI ที่สามารถวิเคราะห์ภาพวาดที่เด็ก ๆ วาดและระบายสีมาทั้ง 105 ตัวอย่าง โดยทำการสอนให้ AI วิเคราะห์จากทั้งรูปทรง ลายเส้น และชุดการลงสีของภาพวาด ทำให้สามารถแยกแยะภาพวาดของเด็กที่มีแนวโน้มมีภาวะออทิสติก กับภาพวาดของเด็กปกติได้ โดยผลการศึกษามีความถูกต้องมากถึง 92% ซึ่งงานวิจัยสามารถต่อยอดมาพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันเพื่อให้ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น เป็นประโยชน์สำหรับแพทย์ พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู สามารถวินิจฉัยเบื้องต้นได้ เพื่อให้การรักษาดูแลเด็กได้แต่เนิ่น ๆ ต่อไป
คุณสุดารัตน์ กล่าวต่อว่า เดิมมีความสนใจศึกษาด้าน AI เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทในชีวิตประจำวัน ทำให้ตัดสินใจเข้ามาเรียนในหลักสูตรระดับปริญญาโท แต่เนื่องจากจบไม่ตรงสาย อย่างไรก็ตาม หลักสูตรจัดให้มีการเรียนปรับพื้นฐานเพิ่มเติมทำให้ได้รับความรู้ตรงกับสิ่งที่อยากเรียน นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีสภาพแวดล้อมที่ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ เพื่อนๆ และสถานที่ ทำให้เรียนสนุก ไม่รู้สึกเครียดเลย
คุณหทัยรัตน์ เจนวิทยา นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานเป็นนักทดสอบซอฟต์แวร์ (Software Tester) ทำให้เห็นปัญหาในจุดที่ AI สามารถเข้าไปเสริมประสิทธิภาพในงานได้ โดยเฉพาะการเขียน Code สำหรับการทดสอบซอฟต์แวร์ที่ต้องใช้ทีมงาน และระยะเวลาเป็นอย่างมาก
ปกติแล้วการทดสอบซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ จะต้องใช้ขั้นตอนและเวลาอย่างมากในการทำงาน แต่เจ้าของผลิตภัณฑ์มักจะต้องการทำให้เสร็จในเวลาอันสั้นเพื่อให้เกิดการใช้งานโดยเร็วที่สุด ดังนั้นจึงสนใจวิจัยนำ AI ช่วยสร้างชุดทดสอบซอฟต์แวร์ หรือที่เรียกว่า Test case โดยสามารถเลือกเป็น Unit test, System test และ Performance test ได้ ผลวิจัยที่ได้ทำให้ tester ทดสอบซอฟต์แวร์ได้เร็วและดียิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยองค์กรธุรกิจลดการใช้ทรัพยากรลงได้อย่างมาก ทั้งด้านเวลาและบุคลากร
คุณหทัยรัตน์ กล่าวต่อว่า เดิมจบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และทำงานเป็น Software tester อยู่แล้ว แต่ต้องการพัฒนาตนเองต่อจึงตัดสินใจมาเรียนต่อระดับปริญญาโทที่ CITE เพราะจุดเด่นที่เป็นหลักสูตรทันสมัย อาจารย์สอนดีเข้าใจง่าย ได้ฝึกปฏิบัติมาก ตอบโจทย์ในสิ่งที่อยากพัฒนา โดยเฉพาะ AI ขณะที่หลักสูตรที่อื่นจะเน้นสอนฮาร์ดแวร์เป็นหลัก นอกจากนี้ บรรยากาศการเรียนที่นี่ก็สนุกจากการเอาเคสจริงมาเรียน เช่น ได้ฝึกทดสอบเจาะระบบ ป้องกันแฮคเกอร์อย่างไรดี หรือซอฟต์แวร์จะมีช่องโหว่ใดบ้าง ความรู้ที่ได้ในหลักสูตรนี้สามารถนำไปใช้กับอาชีพที่ทำอยู่ในปัจจุบันได้มากถึง 70-80%
จากกรณีตัวอย่างงานวิจัยด้าน AI ของนักศึกษาในหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ทำให้เรามองเห็นภาพในอนาคตได้อย่างชัดเจนขึ้นในการนำ AI มาประยุกต์กับการทำงานต่าง ๆ ได้อย่างไร โดย CITE DPU มีการเรียนการสอนระดับปริญญาโทที่ทันสมัยทั้ง 4 หลักสูตร ได้แก่ 1.วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ 2.การจัดการทางวิศวกรรมและเทคโนโลยี 3.วิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และข้อมูล และ 4.เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งทุกหลักสูตรมีการแทรกสอดเนื้อหา AI เข้าไปในหลักสูตรตามความเหมาะสมของแต่ละหลักสูตรตอบโจทย์ความต้องการในยุคปัจจุบันที่ AI มีบทบาทในทุกองค์กร