AI แก้โกง ลุยต่อ! วิเคราะห์ข้อมูลเส้นเงินพรรคการเมืองไทย
ไม่ใช่เข็นครกขึ้นภูเขา แต่เป็นการเข็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้เป็นเครื่องมือเปลี่ยนสังคมไทยไร้โกง ล่าสุด OECD กระตุกประเทศไทยให้โยงข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐกับข้อมูลนิติบุคคล และรายชื่อผู้มีอิทธิพลที่มีเอี่ยวกับเส้นเงินพรรคการเมือง ด้านนักวิชาการหนุนประเทศไทยใช้ AI และ Open Data ขับเคลื่อนงานป้องกันคอร์รัปชันตั้งแต่ต้นทาง
เอโลดี เบธ ซอ (Elodie Beth Seo) ผู้จัดการอาวุโสจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือ OECD (The Organisation for Economic Co-operation and Development) กล่าวในเวทีเสวนา “Corruption Disruptors: Empowering AI to Fight Corruption” ถึงแนวโน้มโซลูชันเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการคอร์รัปชันระดับโลกในปัจจุบันว่า AI กลายเป็นเครื่องมือ 2 มุมที่สามารถถูกใช้งานทั้งในทางที่ถูกและผิด โดยแม้จะสามารถนำไปพัฒนาระบบตรวจสอบความเสี่ยงการคอร์รัปชันได้ แต่อีกด้านก็เอื้อให้เกิดการฟอกเงินผ่านคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งปัจจุบันกว่า 23% ของธุรกรรมที่เกี่ยวข้องเป็นธุรกรรมผิดกฎหมาย
สำหรับการกำหนดกลยุทธ์ต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทย แม้ OECD ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศได้ร่วมมือกับ World Justice Project ในประเทศไทย เชื่อมโยงข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐกับข้อมูลนิติบุคคลและรายชื่อผู้มีอิทธิพลทางการเมือง (PEPs) เพื่อคัดกรองความเสี่ยงการทุจริตผ่านเว็บไซต์ ACT Ai แล้ว แต่ก็มองว่าไทยยังคงมีจุดที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อเสริมความโปร่งใสในกระบวนการทำงานของภาครัฐ โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Data) ที่ต้องผลักดันต่อให้เกิดการเปิดเผยอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถนำไปวิเคราะห์ได้ ขณะเดียวกันก็ควรพัฒนากฎหมายการลงโทษสินบน และลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานตรวจสอบ
***ACT Ai ก้าวใหญ่ต้านโกง
ในอดีต ข้อมูลภาครัฐ โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นเรื่องที่ซับซ้อน เข้าถึงยาก กระจัดกระจาย และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ประชาชนทั่วไปจะตรวจสอบได้ แต่ตอนนี้ประเทศไทยมี "ACT Ai" ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มฐานข้อมูลเปิดขนาดใหญ่ (Open Data Platform) ที่พัฒนาโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพื่อทยายอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ให้กลายเป็นเรื่องง่าย และเข้าใจได้สำหรับทุกคน
ACT Ai ไม่ใช่แค่เว็บไซต์ธรรมดา แต่เป็นเครื่องมืออัจฉริยะที่ใช้ AI มาช่วยรวบรวม วิเคราะห์ และแสดงผลข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ทำให้ทุกคนสามารถตรวจสอบความโปร่งใส และชี้เป้าความเสี่ยงการทุจริตได้ด้วยตัวเอง
ที่น่าตื่นเต้นคือเวอร์ชันล่าสุด ACT Ai ได้เพิ่มขีดความสามารถที่ล้ำสมัยหลายด้าน ทั้งการเพิ่มชุดข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริจาคพรรคการเมือง และความเชื่อมโยงกับบริษัทที่ได้รับงานจัดซื้อจัดจ้าง ขณะเดียวกันก็รวบรวมข้อมูลกรรมการบริษัทที่มีตำแหน่งทางการเมือง พร้อมกับวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างนิติบุคคลกับพรรคการเมือง
AI ของระบบยังวิเคราะห์ความเสี่ยงที่ช่วยระบุโครงการที่มีความผิดปกติ ที่ควรได้รับการตรวจสอบเพิ่มเติมได้อย่างแม่นยำ พลังของ AI ที่เข้ามาช่วยจับตาดูความโปร่งใสแบบเรียลไทม์ถูกเชิดชูว่าสามารถเปิดโปงกรณีทุจริตระดับชาติมาแล้วหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นโครงการเสาไฟกินรีมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท ที่มีการติดตั้งในพื้นที่รกร้าง หรือการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงานประกันสังคมในการจัดทำปฏิทินและแอปพลิเคชันที่ใช้งบประมาณสูงถึง 850 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังช่วยเปิดเผยโครงการที่เข้าข่ายล็อคสเปค หรือฮั้วประมูลอีกมากมาย
***วอนรัฐคายข้อมูล
ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เน้นย้ำว่า แม้แพลตฟอร์มอย่าง ACT AI จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีฐานข้อมูลที่ดี เปิดเผย และเชื่อมโยงกันได้จากทุกภาคส่วน ความเห็นนี้สอดคล้องกับ พันธ์ศักดิ์ เสตเสถียร จาก PwC Thailand ที่ชี้ว่าข้อมูลไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นทรัพยากรของชาติ หรือ "Open Data" ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
รศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ KRAC เสริมว่าหากอยากให้ AI ทำงานได้จริง ข้อมูลจากทุกหน่วยงานต้องเชื่อมโยงกันได้ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน และเข้าถึงง่าย ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศได้นำ AI มาเสริมการทำงานภาครัฐเพื่อป้องกันการทุจริตแล้ว
ตัวอย่างพื้นที่ที่ได้นำ AI มาเสริมการทำงานภาครัฐเพื่อป้องกันการทุจริตแล้ว คือเกาหลีใต้ที่ใช้ระบบจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์ (KONEPS), บราซิลได้พัฒนาแพลตฟอร์ม LabContus เพื่อตรวจสอบความผิดปกติ, สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลเรียลไทม์เพื่อตรวจจับพฤติกรรมต้องสงสัย, ฮ่องกง ได้เปิดหลักสูตรอบรมเจ้าหน้าที่รัฐให้ใช้ AI ต้านโกง และอินโดนีเซีย มีระบบ One Data Indonesia ที่ช่วยให้หน่วยงานรัฐแชร์ข้อมูลกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อจัดจ้าง เรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือการระบุทรัพย์สินที่ผิดปกติ
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ประธานสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ชี้ว่าเฉพาะแค่การ "จับคนโกง" อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ประเทศไทยควรสร้างระบบที่ป้องกันตั้งแต่แรก เหมือนกับนโยบาย Open Government สมัยประธานาธิบดีโอบามา ที่เปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย โดยไทยสามารถนำแนวคิดนี้มาปรับใช้ เช่น การปลดล็อกข้อมูลภาครัฐในรูปแบบที่สามารถนำไปวิเคราะห์ต่อได้
ถึงแม้การเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายอาจต้องใช้เวลา แต่ผู้ร่วมเสวนาทุกคนเห็นตรงกันว่า "พลังของภาคประชาชน" คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด ซึ่งเมื่อรวมพลังกับกลไกที่ถูกต้อง ก็สามารถเปลี่ยนระบบให้ใสสะอาดขึ้นได้
สำหรับเวทีเสวนา “Corruption Disruptors: Empowering AI to Fight Corruption” ถือเป็นงานประชุมที่เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้และแนวคิดจากผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และการต่อต้านคอร์รัปชันทั้งในและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นเครื่องมือป้องกันและตรวจจับการทุจริตอย่างเป็นระบบ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 68
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO