'ปชน.' ยื่นแก้รธน. เปิดทาง 'สส.-สว.' เสนอชื่อ-โหวต 'องค์กรอิสระ'
ที่รัฐสภา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ พร้อมด้วย สส. พรรคประชาชน ร่วมยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตรา ในประเด็นว่าด้วยองค์กรอิสระ ต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ฐานะประธานรัฐสภา
โดยนายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ จะตรวจสอบรายชื่อ จำนวนตามรัฐธรรมนูญ และมาตราที่แก้ไขทั้งหมด หากครบถ้วนและสมบูรณ์ แล้ว ตามขั้นต้อน ต้องเชิญ คณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่าย คือ สว. รัฐบาล และ ผู้นำฝ่ายค้าน หารือว่าจะพิจารณาตามที่ทุกฝ่ายมีความพร้อม
ขณะที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคคประชาชน แถลงรายละเอียดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายเป็นมาตรา นั้นมี 3 ฉบับ คือ 1.ฉบับที่แก้ไขว่าด้วยกระบวนการที่มาและกระบวนการสรรหาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ จากเดิมมีการสรรรหาและเสนอชื่อ ผ่านคณะกรรมการสรรหา ซึ่งเป็นช่องทางเดียว ส่วนที่แก้ไข คือให้มีการเสนอชื่อได้ ช่องทางจากที่ประชุมศาล ช่องทางจากสส.รัฐบาล ช่องทางสส.ฝ่ายค้าน และช่องทางของสว. ทั้งนี้จะไม่มีการปรับแก้ไขในเรื่องคุณสมบัติ ยกเว้น กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีความเห็นว่า กรรมการทั้ง 9 คนควรมีความหลากหลาย
นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า 2.แก้ไขในประเด็นการคัดเลือกและเห็นชอบ จากเดิมที่ต้องใช้การลงมติของสว. ได้แก้ไขให้มาจากการพิจารณาร่วมกันของรัฐสภา และต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐบาล ทั้งนี้มีเงื่อนไขที่กำหนดว่าต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของ สส.ฝ่ายรัฐบาล และสส.ฝ่ายค้าน
และ 3.เพิ่มเติมในกระบวนการถอดถอน ที่ให้สิทธิสส. และประชาชน เข้าชื่อ 20,000 คน ยื่นเรื่องถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้ ในกรณีที่ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ
“การปรับกระบวนการสรรหาให้ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ คือการแก้ปัญหาที่องค์กรต่างๆ นั้นไม่ยึดโยงกับประชาชน ทั้งนี้ข้อเสนอของพรรคประชาชนเชื่อว่าจะได้รับเสียงฉันทามติขั้นต้นจากสมาชิกรัฐสภา โดยทั้ง 3 ฉบับนั้น ให้ศาล และองค์กรไม่เป็นอิสระจากประชาชน แต่อิสระจากการถูกครอบงำจากกลุ่มก้อนทางการเมือง ทั้งนี้ในประเด็นองค์กรอิสระที่ผ่านมาถือเป็นระเบิดเวลาที่ต้องปลดชนวน ซึ่งการแก้ไขรายมาตราดังกล่าวเป็นการทำคู่ขนานกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ” นายพริษฐ์ กล่าว
เมื่อถามว่าการแก้ไขดังกล่าวมีบทบัญญัติเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่แน่ใจว่าเขียนเพื่อไม่ให้ถูกแทรกแซงหรือไม่ เพราะปัจจุบันคนที่ชี้ขาดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือ สว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจของประชาชน ซึ่งเป็นที่ถกเถียงและตั้งคำถามว่า ถูกครอบงำจากการเมือง ดังนั้นต้องตั้งหลักว่าในกติกาเพื่อป้องกันการแทรกแซงจริงหรือไม่ ดังนั้นเป้าหมาที่ต้องทำคือให้องค์กรอิสระถูกครอบงำจากฝากฝ่ายใด ยกเว้นประชาชน และเป็นที่ยอมรับ ทั้งนี้คือการวางเป็นหลักประกัน คนที่ไปดำรงตำแหน่งต้องถูกบังคับใช้กับทุกฝ่าย
เมื่อถามว่าในร่างแก้ไขมีบทเฉพาะกาลเพื่อคุ้มครองกรรมการองค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่ขณะนี้หรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า มีบทเฉพาะกาลกำหนดไว้ และเมื่อผ่านการพิจารณาวาระหนึ่งแล้ว เชื่อว่าจะวางกรอบเวลาเปลี่ยนผ่านอีกครั้ง ทั้งนี้ในรายละเอียดทางพรรคจะจัดทำเอกสารเผยแพร่อีกครั้ง