50 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ จาก Legacy สู่ Future ผ่านมุมมองประธานฯ 3 ยุค และ 3 วิทยากรคนรุ่นใหม่
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนา “Legacy & Future: 50 Years of Thai Capital Market” เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ในโอกาสครบรอบการดำเนินงาน 50 ปี ตอกย้ำบทบาทการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ย้อนอดีตสู่อนาคตเพื่อการพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนทุกมิติ ESG (Environmental, Social and Governance) ในหัวข้อ “The Legacy: มองอดีต สร้างอนาคต บรรษัทภิบาลไทย” และ “The Future: “SET NEXT 50” อนาคตตลาดทุนไทยในครึ่งศตวรรษหน้า”
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เสาหลักเศรษฐกิจไทย
นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานว่า การจัดงานในครั้งนี้เพื่อหวนกลับไปมองอดีต (Legacy) และมองอนาคตถึงการส่งเสริม และพัฒนาตลาดทุนให้เติบโตอย่างยั่งยืน (Future) โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสร้างโอกาสให้นักลงทุนและประชาชนมีทางเลือก และมีข้อมูลที่เพียงพอประกอบการ ตัดสินใจอย่างรอบคอบ พร้อมเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจได้เข้าถึงตลาดทุน เพื่อระดมทุนต่อยอดและขยายธุรกิจ
ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ธุรกิจไทยโตคู่สังคม” ว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นเสาหลักของ เศรษฐกิจไทย เริ่มจากปี พ.ศ. 2518 ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) 8 บริษัท ปัจจุบันปี พ.ศ. 2568 มีมากกว่า 800 บริษัท สร้างโอกาสการระดมทุนได้มากกว่า 6 ล้านล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการ เข้าถึงแหล่งทุนด้วยต้นทุนที่เหมาะสม
นายพิชัย กล่าวต่อว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ขึ้นและลงได้ แต่การหลีกเลี่ยงหรือทำให้ได้รับ ผลกระทบน้อยลง ต้องเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเป็นสิ่งจำเป็นขององค์กร โดยเฉพาะการพัฒนา ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรมของโลก ดังนั้น การพัฒนาของผู้ระดมทุน นำไปสู่ผลลัพธ์ความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ฯ นักลงทุนรายย่อย และภาคเอกชน
“อีก 50 ปีข้างหน้า หรือเมื่อครบ 100 ปี ผมอยากเห็นตลาดหลักทรัพย์สามารถพัฒนา และฟื้นฟูความเชื่อมั่น trust and confidence กลับมาให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการส่ง เสริมผู้ระดมทุน การส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองการลงทุน การพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานภายในองค์กรเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการลงทุน ตลอดจนปรับปรุงกฎเกณฑ์ ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน ทั้งหมดนี้คือภารกิจที่สำคัญ เพื่อนำมาซึ่งการสร้างโอกาสและทางเลือก ของนักลงทุนที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ให้ประชาชนสามารถลงทุนด้วยข้อมูลที่เพียงพอประกอบ การตัดสินใจ ได้ผลตอบแทนระยะยาวที่ดีและยั่งยืน” นายพิชัย กล่าว
การเสวนาในหัวข้อ “The Legacy: มองอดีต สร้างอนาคต บรรษัทภิบาลไทย” เพื่อสะท้อน ‘มรดก’ และ ‘ประวัติศาสตร์’ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ผ่านสายตาของประธานกรรมการ 3 ยุค ได้แก่ ดร. ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คนที่ 16 ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คนที่ 17 และศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดำเนินการเสวนาโดย นายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)
โจทย์เสถียรภาพตลาดทุน กับ ‘ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์’
ดร. ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คนที่ 16 (พ.ศ. 2558-2563) กล่าวว่า ในช่วงของการดำรงตำแหน่งภาวะเศรษฐกิจเอื้ออำนวย โดยช่วงเข้ารับตำแหน่งดัชนีตลาดอยู่ที่ 1,400 จุด สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,800 จุด และเมื่อออกจากตำแหน่งดัชนีอยู่ที่ 1,600 จุด แต่ก็มีความท้าทายในการทำหน้าที่ประธานฯ ในช่วงปี พ.ศ. 2558 – 2563
ดร. ชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า งานที่ท้าทายมีอยู่ 2 ด้าน โดยเฉพาะการสร้างเสถียรภาพให้ระบบตลาดทุน ได้แก่ (1) การดูแลระบบตลาดให้มีความมั่นคง ผ่านระบบการชำระเงินตลาดทุน FiNNET เพื่อลดจำนวนธุรกรรม (transaction) ระหว่างลูกค้า และ บล. และ (2) การดูแลความมั่นคงของระบบจัดการความเสี่ยง (risk management)
“เบื้องหลังความสำเร็จของการดูแลตลาดให้มีความมั่นคง คือ ดร. อนุชิต อนุชิตานุกูล (กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ เวลานั้น) ผู้เชี่ยวชาญไอทีที่พัฒนาระบบบาทเน็ต และระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ที่ช่วยพัฒนาให้ธุรกรรมการซื้อขายมีความเชื่อมโยงกันระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทหลักทรัพย์ และธนาคารพาณิชย์ เพียงรอบเดียว จากเดิมที่การซื้อขายต้องผ่านธุรกรรม 3 รอบ ความยากก็คือการทำให้ทั้งระบบยอมรับและปรับตัว ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี”
ดร. ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์(ซ้าย) ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คนที่ 16
ส่วนการดูแลความมั่นคงของระบบจัดการความเสี่ยง (risk management) ทำให้เกิดการจับ มือข้ามองค์กร ไม่ว่าจะเป็น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. หรือธปท. เพื่อเชื่อมข้อมูลบริษัทลูกค้า และประเมิน ความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระหนี้
ตอนปี 2560 ตั๋ว B/E (Bill of Exchange) เริ่มผิดนัด บริษัทขาดสภาพคล่องที่จะจ่ายคืน เหตุการณ์นั้น ต้องมีการดูแลไม่ให้กระทบความเชื่อมั่นกับระบบตลาดตราสารหนี้ทั้งหมด ช่วงนั้นได้รับรายงานว่ามี 8 บริษัทที่เสี่ยงจะมีปัญหา ภายในไตรมาสแรกของปี คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 6,000 ล้านบาท และคาดว่าทั้งปีอยู่ที่ 10,000 ล้าน ซึ่งในปีนั้นมี บจ. ทั้งหมด 174 บริษัท และมียอดการออกตั๋ว B/E รวม 300,000 ล้านบาท และยอดหุ้นกู้ในระบบอีก 300,000 ล้านบาท
“ถ้าเราไม่เร่งแก้ปัญหาที่บานปลาย นักลงทุนจะขาดความเชื่อมั่น เราเลยพึ่งผู้มีอำนาจสูงสุด ของประเทศเพื่อช่วยจัดระบบการทำงานร่วมกัน คือรายงานให้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (รองนายกรัฐมนตรี) ท่านนัดประชุมผู้นำ 4 หน่วยงาน คือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. ธปท. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทุกคนเห็นว่าเป็นความเสี่ยงทั้งระบบ”
ดร.ชัยวัฒน์ เล่าถึงวิธีแก้ปัญหา 2 ข้อ คือ (1) สร้างฐานข้อมูลรายเดือนของ B/E ที่ครบกำหนด และหุ้นกู้ และทุกบริษัทเท่าที่มีฐานข้อมูล โดยให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ กับ ก.ล.ต. ทำงานร่วมกัน รวมถึงเริ่มติดต่อกับบริษัทที่เริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง และ (2) ขอให้ ก.ล.ต. กับ ธปท. เชื่อมข้อมูลทั้งหมด 174 บริษัท เนื่องจากต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยดูแลด้วย โดยผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดใช้เวลาแก้ปัญหา 2 เดือน
รากฐานเทคโนโลยีและความยั่งยืน
ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในระบบ โดยเฉพาะ digital technology และ process innovation ทั้งหมดนำไปสู่สิ่งใหม่ๆ เช่น Digital IPO, e-Shareholder Meeting, LiVE Platform ที่สำคัญคือสร้างหลักสูตร from IDE to IPO เพื่อกระตุ้นให้เห็นว่าบริษัทเล็กที่ขับเคลื่อนด้วย เทคโนโลยีและนวัตกรรม จะเป็นบริษัทที่เข้มแข็งและเป็นที่สนใจของนักลงทุน หรือการใช้ดิจิทัลในการเล่าเรื่องราวของตลาดหลักทรัพย์ฯที่พิพิธภัณฑ์การลงทุน Investory และการพัฒนาห้องสมุดมารวย เป็น Digital Library
ส่วนการผลักดันงานด้านความยั่งยืน (SD: Sustainable Development) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งเสริมให้บริษัทขนาดใหญ่ใช้มาตรฐานสากล โดยเข้ารับ การประเมินเป็นสมาชิก DJSI (Dow Jones Sustainability Indices) จากเดิมมีเพียงสองบริษัท คือปตท. และเอสซีจี แต่จากการสร้างองค์ความรู้และส่งเสริมของตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งผลให้ปัจจุบัน มีมากกว่า 20 บริษัทจดทะเบียนไทยใน DJSI
“หัวใจความสำเร็จคือกระตุ้นให้ผู้นำองค์กรหรือซีอีโอใส่ใจในการปรับระบบการทำงาน SD และนวัตกรรม” ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว
ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คนที่ 17
คำถามจาก ‘ประสาร ไตรรัตน์วรกุล’ ถึงรูปทรงตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคต
ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คนที่ 17 กล่าวว่า ช่วงที่เข้ามารับตำแหน่งปี พ.ศ. 2564 มี legacy และ future ที่ต่อเนื่องกัน โดยเฉพาะ digital access platform เช่น Thai Digital Assets Exchange, e-Meeting Platform, LiVE Platform, LiVE Exchange, ESG Academy, ESG Data platform ฯลฯ
ปี พ.ศ. 2565-2566 ภาวะตลาดไม่ถึงกับเลวร้าย แต่ความน่าสนใจของตลาดเริ่มหายไป ส่วนหนึ่งเพราะผลตอบแทน (return) ไม่ตอบโจทย์ ประกอบกับ บจ. ไม่มีการเติบโตที่ดี (growth engine) และไม่ดึงดูดนักลงทุน
“มองไปอนาคตคือ รูปทรงตลาดทุนที่เหมาะสมกับธุรกิจต่างๆ อาจไม่ใช่รูปแบบที่เราคุ้นกันปัจจุบัน ทั้ง กฎ ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ เราต้องถามตัวเองว่าเราจะคิดอะไรใหม่หรือไม่ ที่ไม่แพ้คนในยุค 200 ปีก่อน ที่คิดรูปแบบ stock exchange ขึ้นมา รูปทรงตลาดฯ ในอนาคตอาจไม่ใช่ รูปทรงที่เราคุ้น” ดร.ประสาร กล่าว
ดร.ประสาร เล่าว่า ขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานฯ มีการเปลี่ยนแปลงระบบซื้อขายให้เป็น มาตรฐานสากล โดยร่วมมือกับ NASDAQ นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้พัฒนา ESG Academy โดยมีผู้เชี่ยวชาญและให้ความรู้ บจ. เรื่อง ESG ซึ่งเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะเป็นกระแสโลก
MORE และ STARK – Black Swan ในตลาดทุน
ดร.ประสาร ระบุว่า ในรอบ 50 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ มี legacy ที่สำคัญคือการออก พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 การจัดตั้ง ก.ล.ต. รวมถึงการบูรณาการธุรกิจที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน อาทิ ธุรกิจหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ TSD สำนักหักบัญชี
กรณี STARK และ MORE เป็น Black Swan ที่เกิดขึ้นได้ทั้งตลาดหลักทรัพย์ไทยและตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ทำให้ทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. มีความตื่นตัวมากขึ้น เช่น เพิ่มเรื่องการเตือน นำ AI มาจับ Financial Ratio การสร้างความแข็งแกร่งให้กับธรรมาภิบาล (Corporate Governance) การดำเนินคดีร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น Class Action ดังนั้น Good Governance และการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มแข็งขึ้น (Law Enforcement) เป็นสิ่งสำคัญ
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
‘กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์’ ยุคแห่งการสร้าง Trust และ Confidence
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมาย และการลงโทษ คือสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ฯทั้งหมดเป็นเรื่อง Trust and Confidence ที่มาจากคนและระบบ ซึ่งไม่สามารถใช้ กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ กฎหมาย เป็นสิ่งสำคัญที่ทำอยู่และจะทำต่อไป
ขณะเดียวกันต้องทำให้ประชาชนไทยรู้สึกว่าเกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันในสังคมไทย และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันขับเคลื่อนการสร้าง Trust and Confidence ให้กับตลาดทุนไทย
ถ้าบ้านเราปลด เรื่องกฎหมายไม่ได้ ไปยาก ภาพรวมต่างๆ ติดไปหมด ถ้าปลดล็อกได้ เราจะเห็นสิ่งใหม่ๆ
เราพยายามสร้างกฎกติกาเพื่อให้ความเป็นธรรมกับนักลงทุน ส่งเสริมการทำบัญชีเล่มเดียว เสนอให้ บจ. ยื่น e-filing รวมถึงคู่ค้าด้วย
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังผลักดันโครงการ TISA (Thailand IndividualSavings Accounts) ส่งเสริมคนไทยเก็บออม ซื้อหุ้นเก็บตั้งแต่เด็ก และได้ลดหย่อนภาษี
รวมทั้งการส่งเสริมการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการกำกับดูแล และเปิดเผยข้อมูลต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลให้นักลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจ
ดร. สันติธาร เสถียรไทย นักยุทธศาสตร์แห่งอนาคต และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธปท.
3 มุมมองคนรุ่นใหม่กับการขับเคลื่อนตลาดทุนสู่อนาคต
สุดท้ายวงเสวนาในหัวข้อ The Future: “SET NEXT 50” อนาคตตลาดทุนไทยในครึ่งศตวรรษหน้า โดย ดร. สันติธาร เสถียรไทย นักยุทธศาสตร์แห่งอนาคต และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ดร. ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิชาการ ด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และนายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร THE STANDARD
ดร. สันติธาร เสถียรไทย นักยุทธศาสตร์แห่งอนาคต และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในอนาคตจะเจอความท้าทาย ที่หนักขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นหลังที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น สงครามการค้าที่ทำให้ โลกเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หรือภาวะสังคมสูงวัยขั้นสุดยอดของประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า
การลงทุนไม่ใช่แค่การลงทุนประเภทใด แต่รวมถึงอาชีพ ด้วย ในอนาคต ตลาดหลักทรัพย์ยังเป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องเป็นตลาดทุนที่เป็นสะพานสู่อนาคต เพื่อ (1) Future โดยลงทุนเพื่อ (ธุรกิจ) อนาคตได้ (2) trust และ equity culture โดยปกป้องนักลงทุนตัวเล็ก และ (3) Access การเข้าถึงง่ายด้วยต้นทุนต่ำ
ดร. ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิชาการ ด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน TDRI
ดร. ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิชาการ ด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็ว ทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ นำมาสู่คำถามว่า “การประเมินมูลค่ากิจกรรมและธุรกิจ ในอดีตยังสามารถใช้ได้อยู่หรือไม่” และ “ตลาดทุนในอดีตยังเหมาะกับอนาคตที่เปลี่ยน ไปอย่างรวดเร็วหรือไม่”
โดยนำเสนอแนวคิด Rethinking the Boundary 5 ด้าน ได้แก่ (1) Accountability ความรับผิดรับชอบของธุรกิจไม่ได้จบที่งบการเงิน แต่ต้องสะท้อนถึงผลกระทบในห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่สิทธิมนุษยชนของแรงงาน ไปจนถึงทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ที่กิจการดำเนินงานอยู่ความเสี่ยงต่างๆ ต้องมองความคาดหวังของ Stakeholder ที่ลึกและกว้างขึ้น เปิดใจรับฟังความคาดหวังคืออะไร และจะบริหารจัดการอย่างไรเพื่อสร้างคุณค่าในอนาคต (2) Materiality ในอดีตมองกำไรและยอดขายเป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบันต้องมองที่กระทบสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นตัวแปรต้นทุนและความเสี่ยงในอนาคตของธุรกิจ (3) Financing เงินทุนควรไหลไปหาสิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลกได้จริง ตลาดทุนสามารถออกกลไก และแจงจูงใจที่ทำให้เงินไหล่ไปสู่ธุรกิจ หรือกิจกรรมที่สะท้อน “คุณค่าจริง” เหล่านี้ (4) Skills ตลาดทุนต้องมีคนที่เข้าใจ ESG อย่างรอบด้าน และมองระบบธุรกิจผ่านเลนส์ของการเปลี่ยนผ่าน ไม่ใช่แค่ตัวเลขผลกำไร และ (5) Data ข้อมูลที่โปร่งใสและมองเห็นอนาคตจะช่วยทำให้ตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร THE STANDARD
นายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร THE STANDARD กล่าวว่าพฤติกรรมผู้ลงทุนเปลี่ยนตามโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ได้นำ AI มาช่วย ประมวลความเห็นของคนไทยที่มีต่อตลาดหลักทรัพย์ไทย พบว่า บทลงโทษไม่เข้มงวด ไม่มี tech founder หรือนักลงทุนรุ่นใหม่ๆ มีแต่ธุรกิจแบบเดิม ลงทุนแล้วติดดอย สร้างความผิดหวัง นอกจากนี้ผู้ประกอบการขาดแรงจูงใจในการ IPO ความเชื่อมั่นหายไป
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องจับมือกับหลายภาคส่วนสร้างความเชื่อมั่น การสื่อสารไม่ใช่แค่ inform แต่ต้อง inspire ผ่าน (1) Vision ทำให้เห็น (2) Trust ทำให้เชื่อ ข้อมูลต้องโปร่งใส ชัด เข้าใจง่าย ไม่ซ่อนเร้น เชื่อถือได้เพราะสม่ำเสมอและจับต้องได้ (3) Sense of Ownership เน้นความรู้สึกเป็นเจ้าของผ่านอิทธิพล ความหมาย และการมีตัวตน สรุป คือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเปิดประตูเข้าหาคนทุกกลุ่ม เพื่อทำให้เป็นตลาดหลักทรัพย์เป็นของทุกคนจริงๆ Market for All