'พ่อมดติ๊กต็อก' เผยสูตรลับ ปั้นคอนเทนต์ให้ปัง! แนะเทคนิค เปลี่ยนยอดฟอลให้เป็นเงิน
‘พ่อมดติ๊กต็อก’ เผยสูตรลับ ปั้นคอนเทนต์ให้ปัง! แนะเทคนิค เปลี่ยนยอดฟอลให้เป็นเงิน
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ที่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค (อาคาร West ชั้น 2) พระโขนง กรุงเทพฯ ในวาระพิเศษของการครบรอบ 50 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตไทย–จีน เครือมติชนเปิดม่านเทศกาลวัฒนธรรมครั้งยิ่งใหญ่ “Thai–Chinese Golden Fest 2025 เทศกาลร้อยเรื่องราวไทย–จีน” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11–13 กรกฎาคม เวลา 10.00–18.00 น. ซึ่งวันนี้เป็นการจัดงานวันที่ 2
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ ตั้งแต่เวลา 10.30 น. ทีประชาชนทยอยเดินทางมาลงทะเบียนเข้าร่วมงานในช่วงเช้า เพื่อรอเข้าร่วมชมนิทรรศการ “จีนไทย ก้าวไปด้วยกัน” ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ.2518 และร่วมสำรวจทิศทางความร่วมมือกันต่อไปในอนาคต
ต่อมาเวลา 13.30 น. เข้าสู่เวทีเสวนา TikTok Revolution ในหัวข้อ “พลังครีเอเตอร์ที่เปลี่ยนโลกและวัฒนธรรมป๊อป โดย นายศิลา พีรวัฑฒึก หรือ “พ่อมด ติ๊กต็อก” ซึ่งมียอดผู้ติดตามกว่า 5 ล้านคนในโซเชียลมีเดีย มาร่วมพูดคุยถึงช่วงยุคที่โลกหมุนไวด้วยปลายนิ้ว และทุกการ “สไลด์ผ่าน” แอพพลิเคชั่น TikTok ไม่ใช่แค่ความบันเทิงอีกต่อไป
นายศิลากล่าวว่า ในยุคนี้เราต้องมี 3 I คือ “Information” ต้องอัตเดตข้อมูล “Impact” ช็อตวิดีโอนั้นกระทบตัวเรา สังคม ธุรกิจมากแค่ไหน และ “Inspired” ตนมาวันนี้อยากเล่าว่าตนเป็นเจ้าของช่องพ่อมดติ๊กต็อก แต่พื้นฐานตนไม่ได้เป็นติ๊กต็อกเกอร์ ตนทำการตลาดมาหลายปี เป็นคนที่เปลี่ยนเฟชบุ๊กให้ทำเงินได้ก่อนติ๊กต็อกจะเกิดขึ้น
โดยเล่าว่า ส่วนตัวเป็นอาจารย์ ผู้สอน เป็นผู้บรรยาย ดังนั้นการทีจะหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย ไม่ยาก ไม่เขิน แต่สำหรับทุกคนจะเขินได้ อยากให้เลิกคิดว่าโซเซียลมีเดียมีไว้อวด แต่เปลี่ยนให้เป็นที่สอนลูกสอนหลาน เก็บไว้ให้เขาต่อไป เราคิดว่าอยากจะสอนอะไรดีๆ ก็ลงเอาไว้ แล้วถ้าสิ่งที่ลงไว้เป็นประโยชน์ต่อสังคม จะดีมาก
“เราเป็นเจ้าของโซเซียลมีเดีย มีคนตาม 5 ล้านคน คอนเทนต์ของผมคือ เป็นช้อปเปอร์เทนเมนต์ คือ ช้อปปิ้ง+เอนเตอร์เทนเมนต์ จำไว้ว่าโลกยุคปัจจุบันต้องทำโฆษณาให้ไม่เป็นโฆษณา พูดง่ายๆ คือ ‘ทำให้เป็นละครคุณธรรม’ Reach is Rich การเข้าถึง คือความมั่งคั่ง ใครเข้าถึงได้มากคนนั้นมีโอกาสรวยกว่า” นายศิลากล่าว
พร้อมทั้งยกตัวอย่างว่า หากให้เลือกระหว่างมีเงิน 1 ล้านบาท กับมีคนติดตาม 1 ล้าน สิ่งไหนดีกว่ากัน แน่นอนว่าล้านฟอลโลวเวอร์ ทำเงินได้เยอะกว่า 1 ล้านบาท เพราะการเข้าถึงคือ “เงินทอง” ช่วงที่ผ่านมามีคนเข้าถึงโซเชียล 61 ล้านครั้ง เกือบเท่าประชากรในประเทศไทย
“ถ้าคุณมาจ้างผมลงโฆษณา คนจะเข้าถึงด้วยยอดนี้ ดีกว่าป้ายบิลบอร์ดบนทางด่วนอีก ตอนนี้ผมเป็นผู้สอนของติ๊กต็อกด้วย แปลว่าเราได้มาตรฐานที่เขาการันตี โดยใช้มือถืออย่างเดียวในการทำช่อง ผมตัดต่อผ่าน CapCut เท่านั้น ดังนั้นก่อนจะซื้ออุปกรณ์อะไร ใช้สิ่งที่เรามีให้เต็มประสิทธิภาพก่อน เพราะผมก็ทำงานเริ่มจากการถ่ายคลิป คลิปละ 400 – 500 บาท รับจ้างจากฟาสเวิร์กต่างๆ ทำให้ผมมีทักษะในการทำคลิป สะท้อนให้เห็นว่า ความสามารถที่ปราศจากโอกาส เท่ากับศูนย์” นายศิลา กล่าว
ก่อนจะกล่าวต่อว่า โลกนี้ไม่ได้มีแค่ติ๊กต็อกแล้ว แต่มันคือ “วิดีโอคอลลิตี้” ตนถูกสอนจากคนจีนมาตั้งแต่เริ่มต้น ว่าต้องทำคลิปแบบมีคุณภาพ เขาสอนว่า “โต่วอิน” (Dooyin) หรือติ๊กต็อกจีนจะเป็นคอนเทนต์คุณภาพ ที่มีการนำเอาอนาคตมาทำปัจจุบัน
“คนไทย 71 ล้าน มีซิมการ์ด 91 ล้าน แปลว่าคนไทยมีมือถือมากกว่าคนละ 1 เครื่อง เราต้องมองไปในอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้นแล้วดักรอไว้ก่อน ตอนนี้มีตัวเลขออกมาว่าแอพพ์ที่คนไทยนิยมใช้ที่สุดคือ ‘ติ๊กต็อก’ ผมเชื่อว่าโลกตอนนี้คือวิดีโอ และการที่เราจะทำคอนเทนต์ให้สำเร็จต้อง เราเข้าใจลูกค้า คนดู
*คลิปสั้น คือเกมจับคู่ในสิ่งที่คุณชอบ เวลาที่คุณเสิร์ชเขาจะรู้ว่าคุณกำลังต้องการอะไร สำหรับยุคที่ทุกแพลตฟอร์มใช้วิดีโอสั้น ดึงเวลาคนดูนั้นช่วยให้ เพิ่มการรับรู้ โดยไม่ต้องเสียค่าโฆษณาแพง สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า เพิ่มช่องทางการขายโดยตรง สร้างตัวตนให้จดจำ และเปิดโอกาสสู่รายได้ใหม่*
นอกจากนี้ เรายังพบว่า 50% ของผู้ใช้งานติ๊กต็อกดูคลิปยาวกว่า 1 นาที คนที่ทำคลิปยาวมากกว่า 1 นาทีมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าติ๊กต็อกไม่ใช่แอพพ์ไร้สาระอีกต่อไป เนื่องจากคนดูคอนเทนต์มากกว่าแค่ความบันเทิง อีกทั้งยังต้องการคลิปคุณภาพมากขึ้น เพราะการแข่งขันของครีเอเตอร์ในติ๊กต็อกที่ผ่านมา เราเห็นสินค้าบริการผ่านสื่อหลัก ตอนนี้ทุกอย่างต้องผ่านออนไลน์”
นายศิลาเผยด้วยว่า เหตุผลที่ทำให้คลิปสั้น หรือ Short Video ได้รับความนิยมสูงสุด เนื่องจากคนใช้โทรศัพท์ในการเสพสื่อมากขึ้น ประกอบกับการเติบโตของติ๊กต็อก ที่มาพร้อมๆ กับพฤติกรรมในการเสพสื่อของคนเปลี่ยนไป คนเริ่มเสพติดการไถ หรือ Endless Scrolling Habit เริ่มมองหาคอนเทนต์ที่เข้าถึงง่าย สนุกโดยที่ไม่ต้องใช้สมาธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนมีโอกาสสร้างรายได้จากคลิปสั้นมากขึ้น ตลอดจนการแพร่กระจายของ AI และอัลกอริทึม ที่มีอิทธิพลมากในปัจจุบัน
โดยในวงการคอนเทนต์ มีบุคคลอยู่ 4 ระดับด้วยกัน คือ 1. UGC (User Generated Content) หรือบุคคลทั่วไปที่ทำคอนเทนต์หลากหลายในชีวิตประจำวัน 2. KOC (Key Opinion Consumer) ครีเอเตอร์ที่ทำคอนเทนต์เฉพาะกลุ่ม อาทิ ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับอาหาร หรือการถ่ายรูป 3. KOL (Key Opinion Leader) ครีเอเตอร์ที่ได้รับความน่าเชื่อถือ จนได้รับการจ้างงานจากแบรนด์ต่างๆ ในการทำคอนเทนต์ และในระดับที่ใหญ่สุด คือ 4. Influencer ครีเอเตอร์ที่สามารถสร้างรายได้มหาศาลและมีอิทธิพลในโลกออนไลน์
“ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ในการทำการตลาดจะต้องเริ่มจากโรงงาน ที่อยากทำอะไรบางอย่าง และนำไปจัดจำหน่าย มีโฆษณา ค้าปลีก เพื่อให้มีลูกค้ามาสนใจ แต่ในปัจจุบันการทำการตลาดเปลี่ยนไปสู่แบบออนไลน์ ไม่สามารถใช้การตลาดแบบออฟไลน์ได้อีกต่อไปแล้ว สิ่งสำคัญคือ ‘อยากขายดี ต้องทำตัวเป็นกูรู อินฟลู ในสายงานนั้น’ ๆ อย่างเพิ่งใจร้อน หรือขายเร็วจนเกินไป” นายศิลาเผย
นายศิลาระบุด้วยว่า หากต้องการให้คอนเทนต์ที่เราทำประสบความสำเร็จ อันดับแรกที่ไม่ควรทำคือ ทำคอนเทนต์มั่ว หรือสะเปะสะปะ และหันมาทำคอนเทนต์ที่เฉพาะทาง ยกตัวอย่างเช่น ตนทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการสอนถ่ายรูปจากกล้องโทรศัพท์เท่านั้น จะไม่มีการยุ่งเกี่ยวกับกล้องใหญ่
สำหรับ ใครที่อยากเริ่มต้นผลิตคอนเทนต์ของตนเอง และทักษะที่ต้องมีหากต้องการประสบความสำเร็จ คือ Short Video Storytelling ปัญหาหลักที่ต้องแก้ไขคือ “ควรเรียนรู้ที่จะเล่าเรื่องอย่างกระชับ” หรือที่เรียกว่า Sharp Short Hit to the Point บางคนมีเรื่องในใจที่อยากจะถ่ายทอดเยอะมากจนทำให้คลิปเยิ่นเย้อ ดังนั้น ใครที่สามารถพูดน้อยแต่ทำให้เข้าใจได้ อีกทั้งยังครบทุกประเด็น รับประกันรุ่งเรืองแน่นอน
“ข้อดีของคนไทยคือ ความมีมารยาท แต่ความมีมารยาทนั้นไม่มีประโยชน์กับการทำคลิปบนติ๊กต็อก เราควรจะทำคลิปที่สามารถดึงดูดคนได้ตั้งแต่ 3 วินาทีแรก โดยตัดการอารัมภบทออกไป เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการเสพสื่อในปัจจุบันที่ไม่ต้องการดูคลิปที่นาน และมองหาคลิปที่กระชับ เข้าใจง่าย
ยกตัวอย่างเช่น ช่องยูทูบท่องเที่ยวช่องหนึ่ง ที่มักจะเปิดคลิปที่สนามบินก่อนไปเที่ยวเสมอ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนจากเปิดคลิปที่สนามบินไปเปิดคลิปในสถานที่นั้นๆ และพูดถึงเนื้อหาสำคัญอย่างรวบรัด เพื่อให้คนดูเข้าใจในทันทีว่าคลิปนี้เกี่ยวกับเรื่องอะไร ซึ่งนี่คือตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของการทำคลิป หลังจากติ๊กต็อกเป็นที่นิยม” นายศิลากล่าว และว่า
อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “เมื่อถ่ายคลิป ควรฝึกพากย์เสียงให้เป็น” ซึ่งเรื่องนี้หลายคนไม่ทำเพราะเขิน หรืออาย ส่วนใหญ่จะตัดเพลงใส่ และระบุข้อความให้คนอ่านแทนเสียงพากย์ ปัญหาคือคนดูไม่เข้าใจ เสี่ยงถูกปัดทิ้ง
ถัดมา Performing (Live) หรือ Personal Branding ‘หาเอกลักษณ์ให้กับช่องตนเอง’ และต้องกล้าที่จะออกกล้องเพื่อให้คนดูจำได้ และเมื่อคนดูจำได้ก็จะถูกพูดถึง เพราะฉะนั้นเวลาถ่ายคลิปควรทำสิ่งนั้นซ้ำๆ ให้เกิดเป็นภาพจำ
สุดท้าย AI Generated เราควรใช้เอไอให้เป็นและถูกทาง เพราะถ้าหากเก่งแต่ไม่ใช้เอไอ อาจจะเสี่ยงถูกคนที่ใช้เอไอแซง และโอกาสเติบโตช้าลงเรื่อยๆ ซึ่งกลุ่มที่เก่งในการใช้เอไอนั้นน่าจับตาที่สุด เพราะมีทั้งทักษะ และรู้จักใช้เครื่องมือส่งผลให้ทำงานไวกว่า วิเคราะห์แม่นกว่า ขยายรายได้ได้เร็วกว่า
นายศิลาอีกด้วยว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรยาก มีแต่สิ่งที่ท้าทาย การทำคอนเทนต์เปรียบเสมือนการกินข้าว เรากินอาจจะคิดว่าอร่อย แต่อาจจะไม่อร่อยในสายตาคนอื่นๆ ดังนั้นคลิปจะดี หรือไม่ดี จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อโพสต์ให้คนดูตัดสิน และที่สำคัญ “ต้องมีความต่อเนื่อง” อย่างน้อยเดือนละ 15 คลิปเป็นอย่างต่ำ
“เวลาทำคลิปเราต้องคิดเสมอว่าคนดูจะได้อะไรจากเรา หรือสังคมจะได้อะไร ในเมื่อคุณมีสิทธิทำ คนดูก็มีสิทธิที่จะเลือกดูเช่นกัน เพราะฉะนั้นโปรดใช้โซเชียลให้เป็นประโยชน์” นายศิลากล่าวทิ้งท้าย
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ‘พ่อมดติ๊กต็อก’ เผยสูตรลับ ปั้นคอนเทนต์ให้ปัง! แนะเทคนิค เปลี่ยนยอดฟอลให้เป็นเงิน
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th