“จีน” เผชิญแรงกดดันคู่ขนาน บัณฑิตไร้งาน – ส่งออกสะดุดจากศึกภาษี
"จีน" เผชิญแรงกดดันคู่ขนาน บัณฑิตไร้งาน ท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัว ความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์ และข้อจำกัดด้านการจ้างงานในภาคเอกชน
วันที่ 18 กรกฎาคม 2568 เวลา 10.24 น. สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่าในขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่อง และความตึงเครียดทางการค้ากับสหรัฐเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจจีน บัณฑิตจบใหม่ในประเทศต้องเผชิญกับตลาดแรงงานที่น่าวิตกอย่างหนัก
งานมหกรรมจัดหางานในเมืองทางภาคเหนือของจีนเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีผู้เข้าร่วมอย่างหนาแน่น โดยส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจบใหม่จากระดับปริญญาตรีและปริญญาโทที่หน้าตาเคร่งเครียด กำลังตั้งใจฟังข้อมูลจากนายจ้างตามบูธต่าง ๆ โดยงานนี้มีบริษัทเข้าร่วมราว 200 แห่งจากหลากหลายสาขา เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคาร และการผลิต พร้อมทั้งมีพื้นที่ให้คำปรึกษาการเขียนเรซูเม่ฟรี หลายคนมีพ่อแม่มาด้วย ซึ่งน่าจะเป็นเพราะความเป็นห่วงเรื่องอนาคตของลูกหลาน
งานมหกรรมครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าการจ้างงานในจีนตอนนี้เป็นตลาดของนายจ้าง กล่าวคือ บริษัทมีตัวเลือกมาก ในขณะที่ผู้สมัครต้องแย่งชิงโอกาสกันอย่างหนัก
“ผมเพิ่งได้งานหลังสมัครไปกว่า 300 แห่ง” นายหู วัย 24 ปี ซึ่งเพิ่งจบปริญญาโทจากเจิ้งโจว กล่าว เขาเริ่มส่งใบสมัครตั้งแต่เดือนมกราคม และเพิ่งได้ข้อเสนอจากบริษัทก่อสร้างก่อนจบการศึกษาไม่นาน แม้ว่าหูจะเรียนมาทางด้านการสำรวจ แต่โอกาสในวงการอสังหาริมทรัพย์กลับน้อยลงหลังภาคอสังหาฯ ล่มมาตั้งแต่ 4 ปีก่อน เขายอมรับว่าหากยังไม่ได้งานก็จะทำงานชั่วคราวต่อไปเรื่อย ๆ
ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีนยังคงอยู่ โดยจีดีพีแท้จริงไตรมาสล่าสุดเติบโตเพียง 5.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร
ในอีกด้านหนึ่ง ระดับการศึกษาของประชาชนจีนยังคงเพิ่มขึ้น โดยในปี 2568 มีนักศึกษาจบใหม่จากมหาวิทยาลัยและบัณฑิตวิทยาลัยถึง 12.22 ล้านคน เพิ่มขึ้นราว 40% ในรอบ 5 ปี ส่วนหนึ่งเพราะมีการขยายหลักสูตรปริญญาโทให้รองรับนักศึกษาที่หางานไม่ได้ช่วงโควิด-19
อย่างไรก็ตามภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้จ้างหลักกลับลดการจ้างงานลง สืบเนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และการควบคุมจากภาครัฐที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคเทคโนโลยี ทำให้บัณฑิตที่ไม่ได้จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ เช่น ม.ชิงหัว หรือ ม.ปักกิ่ง เผชิญกับยุคน้ำแข็งแห่งการจ้างงาน
อัตราว่างงานของวัยรุ่นในเขตเมืองอายุ 16-24 ปี เพิ่มขึ้น 0.7 จุด มาอยู่ที่ 14.9% ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งยังไม่นับรวมผู้ที่ยังศึกษาอยู่ แต่จะเริ่มถูกนับเมื่อจบแล้วหางานไม่ได้ นี่อาจทำให้อัตราว่างงานพุ่งขึ้นอีกในช่วงฤดูร้อน ซึ่งเคยเกิดขึ้นในปี 2567 มาแล้ว
นอกจากนี้ความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐ ยังซ้ำเติมสถานการณ์การจ้างงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการค้าและโลจิสติกส์อาจลดลงอย่างมาก ภาษีศุลกากรจากสหรัฐทำให้บริษัทที่ส่งออกไปอเมริกาต้องเร่งทำกำไรและบริหารต้นทุนอย่างหนัก
ในเดือนเมษายน จีนและสหรัฐต่างขึ้นภาษีสินค้าของอีกฝ่ายมากกว่า 100% ก่อนจะบรรลุข้อตกลงชั่วคราวในเดือนพฤษภาคม เพื่อลดภาษีเป็นเวลา 90 วัน ธุรกิจจึงเร่งจัดส่งสินค้าไปยังสหรัฐระหว่างที่ยังไม่เสียภาษีแพง
หลายบริษัทก็เริ่มหันหลังให้ตลาดสหรัฐและหันไปยังตลาดอื่นแทน ในโซนสินค้าคริสต์มาสของตลาดอี้อู มีสินค้าที่สกรีนคำว่า “Feliz Navidad” (ภาษาสเปน แปลว่า สุขสันต์วันคริสต์มาส) มากกว่า “Merry Christmas” อย่างเห็นได้ชัด ผู้ผลิตของประดับคนหนึ่งบอกว่า บริษัทเริ่มหันไปเน้นตลาดอเมริกาใต้มากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เพราะความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐ
พนักงานร้านขายกระดาษห่อของขวัญก็เล่าว่า หลังสหรัฐขึ้นภาษีเมื่อเดือนเมษายน ทำให้ลูกค้าบางรายยกเลิกคำสั่งซื้อ จากเหตุการณ์นี้ บริษัทจึงหันไปขยายตลาดลูกค้านอกสหรัฐ เช่น ตะวันออกกลาง และเพิ่มสินค้าลวดลายอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ธีมคริสต์มาส
แม้ภาครัฐพยายามส่งเสริมการบริโภคในประเทศผ่านร้านค้าออนไลน์และซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ผู้ค้าขายส่งรายหนึ่งบอกว่า“ของคริสต์มาสขายในจีนไม่ได้หรอก” รัฐบาลของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ส่งเสริมวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนในช่วงหลัง ทำให้ความต้องการสินค้าเทศกาลตะวันตก เช่น คริสต์มาสลดลง
อ้างอิง : asia.nikkei.com