ครม.เห็นชอบวิทัย รัตนากร เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมีผล 1 ต.ค.68
ในที่สุดการประชุม ครม.22 ก.ค.2568 มีมติอนุมัติการเสนอชื่อ นายวิทัย รัตนากร เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ เปิดเผยว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้พิจารณาเสนอแต่งตั้ง นายวิทัย รัตนากร เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านการเงินธนาคาร และมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นไปตามข้อกฎหมาย ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบหรืออนุมัติ ดังนั้น จึงเห็นควร เห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และหากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น ให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีตามที่เสนอ
ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะได้ขอให้สำนักงานองคมนตรีนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป
สำหรับนายวิทัย จะเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ 1 ต.ค. 2568 - 30 ก.ย.2573 ตามวาระทั้งหมด 5 ปี ต่อจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ที่จะหมดวาระในวันที่ 30 ก.ย.2568
ประวัตินายวิทัย รัตนากร ผู้ว่าธปท.คนใหม่
ทั้งนี้บทบาทของผู้ว่า ธปท.คนใหม่ กำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เมื่อโลกกำลังเข้าสู่ยุคสงครามการค้าจากนโยบายภาษีของทรัมป์ และประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออกมาก ก็กำลังได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน โจทย์ใหญ่เศรษฐกิจไทย ที่มีทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง สังคมสูงวัย หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง การทำงานของธนาคารกลางและรัฐบาลจะสอดประสานกันไปในทิศทางที่ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเศรษฐกิจไทยได้หรือไม่ ตำแหน่งผู้ว่าธปท.จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทยในเวลานี้
17 นักเศรษฐศาสตร์ ส่งหนังสือถึงครม.ก่อนคัดเลือกผู้ว่า ธปท.1วัน
ขณะที่ 17 นักเศรษฐศาสตร์ ได้ส่งหนังสือนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ก่อนหน้าการประชุม ครม.1 วัน เรื่องตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อแแสดงความห่วงใยในการคัดเลือกผู้ว่า ธปท.ครั้งนี้ โดยมีการเรียกร้องและเสนอให้ผู้ว่า ธปท.ควรเป็นผู้ที่เคยผ่านงานมีประสบการณ์ของการทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมาก่อน น่าจะเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้มี 5 ข้อคุณสมบัติผู้ว่าธปท.เสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี คือ
1. เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะต้องเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว แม้จะเข้าใจได้ว่าโดยธรรมชาติแล้ว รัฐบาลต้องการการเจริญเติบโตของประเทศในระยะสั้น ซึ่งประสบการณ์การของผู้ทำงานธนาคารของรัฐ อาจจะเคยชินในการสนองตอบต่อนโยบายของนักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศ อย่างไรก็ดี เนื่องจากประเทศชาติต้องการการเติบโตที่มีเสถียรภาพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จึงจำเป็นต้องเป็นบุคคลที่สามารถประคับประคอง และลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการมุ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นของรัฐบาล
2. ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จะต้องไม่ถูกกดดันเพื่อลดหรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ย หรือเพื่อเปลี่ยนแปลงอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา ตามความต้องการของฝ่ายการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ เพราะจะทำให้นักการเมืองและคนบางกลุ่ม สามารถแสวงหาประโยชน์ในบางโอกาสจนร่ำรวย แต่ประเทศชาติเสียหาย
3. ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องเป็นอิสระจากการกดดันของธนาคารพาณิชย์ ธนาคารและสถาบันการเงินของรัฐ แต่จะต้องกำกับดูแลสถาบันการเงินเพื่อประโยชน์ของประเทศระยะยาว
4. ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จะต้องได้รับการยอมรับระหว่างประเทศ โดยเฉพาะองค์การการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนและสถาบันของต่างประเทศเกิดความมั่นใจที่จะทำธุรกิจและพันธสัญญาในระยะยาว
5.. ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องเข้าใจการพัฒนาประเทศในระดับมหภาค และการปรับโครงสร้างเพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขัน เพื่อลดช่องว่างและความแตกต่างทางรายได้ของคนในสังคม มากกว่าความเข้าใจในระดับจุลภาคหรือโครงการ เพราะนั่นเป็นบทบาทเฉพาะของธนาคารของรัฐ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลเฉพาะจุด
สำหรับรายชื่อผู้ร่วมส่งหนังสือดังกล่าว ประกอบด้วย
1. รศ.ดร. อัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
2. รศ.ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
3. รศ.ดร. ชิดตะวัน ชนะกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มก.
4. ศ.ดร.ปราณี ทินกร คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
5. รศ.ดร. สิริลักษณา คอมันตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
6. รศ. ดร. สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
7. รศ.วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
8.ผศ.จินตนา เชิญศิริ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
9.รศ. ดร. ดาว มงคลสมัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
10.รศ.พรพิมล สันติมณีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
11. รศ.ดร.ลิลี โกศัยยานนท์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
12. รศ.ดร.เพลินพิศ สัตย์สงวน คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
13.ผศ.จรินทร์ พิพัฒนกุล คณะ เศรษศาสตร์ มธ
14. รศ.ชูศรี มณีพฤกษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
15. รศ.สุขุม อัตวาวุฒิชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
16. อาจารย์ สุพรรณ นพสุวรรณชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
17. รศ.มณีรัตน์ ภิญโญภูษาฤกษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.