ธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank): ทางเลือกใหม่ในยุคดิจิทัลที่กำลังเปลี่ยนเกมการเงิน
ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกภาคส่วน ธุรกรรมการเงินก็มีการพัฒนาเป็นดิจิทัลมากขึ้น โดยธนาคารพาณิชย์กำลังจะเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบเดิมๆ ที่ต้องไปทำธุรกรรมที่สาขา กลายเป็นธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่
ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) กำลังกลายเป็นทางเลือกใหม่ที่ตอบโจทย์ความสะดวกสบายและรวดเร็วของผู้บริโภค โดยไม่จำเป็นต้องมีสาขาทางกายภาพ แต่ให้บริการผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือเว็บไซต์ บทความนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักกับธนาคารไร้สาขา แนวโน้มการเติบโต บริการที่น่าสนใจ รวมถึงความท้าทายในอนาคต
จุดเริ่มต้นของแนวคิด Virtual Bank มาจากความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่ต้องการความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว และความสามารถในการควบคุมการเงินของตัวเองได้แบบเรียลไทม์
ด้วยเหตุนี้ ผู้ให้บริการด้านการเงินจึงเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่สามารถให้บริการที่หลากหลาย เช่น การเปิดบัญชี การโอนเงิน การขอสินเชื่อ หรือแม้แต่การลงทุน ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ซึ่งใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI), การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และระบบบล็อกเชน (Blockchain) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวในการให้บริการ
จากข้อมูลปัจจุบันพบว่าการเติบโตของธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาในต่างประเทศ สามารถเจาะตลาดลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม กรณีของสหราชอาณาจักร พบว่า มีผู้ใช้บริการผ่านธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา เช่น Monzo และ Starling Bank เกือบร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมดในประเทศภายหลังจากการเปิดตัวเพียงไม่กี่ปี
เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงการเติบโตของธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา โดย Monzo มีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 11 ล้านคน และ Starling Bank มีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 4.2 ล้านคนในปัจจุบัน
ทั้งสองธนาคารยังคงมีการขยายตัวที่รวดเร็วในตลาดต่างๆ เพื่อรองรับลูกค้าที่มีพฤติกรรมที่หลากหลายและมีความยืดหยุ่น ตอบสนองพฤติกรรมและรูปแบบการจ่ายเงิน รวมถึงการเสริมสร้างความรู้ทางการเงินและการวางแผนการออมรายย่อย
อีกจุดเด่นที่สำคัญ พบว่า แอปพลิเคชันของธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ยังมีบริการ Marketplace ของธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือสามารถเชื่อมโยงตรงกับบริการแอปพลิเคชันอื่นๆ เช่น Shopping online หรือ Social Media ที่ได้รับความนิยม
เพื่อความสะดวกแก่ลูกค้า เพื่อตอบโจทย์ลูกค้านำคะแนนเครดิตไปใช้ชำระหนึ้ รับเงินคืนอัตโนมัติ หรือตรวจสอบธุรกรรมการซื้อของย้อนหลังผ่านแอปพลิเคชันธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา
นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาขยายตัวที่รวดเร็ว คือ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นของประชาชน แต่ยังคงมีปัญหาของผู้บริโภค และกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ หรือยังไม่ได้รับบริการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการขาดแคลนสาขาธนาคารในหลายพื้นที่ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
ตัวอย่างเช่น ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาที่ประสบความสำเร็จในประเทศจีน ที่มีจำนวนผู้ใช้งานมากเป็นอันดับ 1 ของโลก อย่าง WeBank และ MyBank ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาของบริษัท Tencent และ Alibaba ตามลำดับ ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง เนื่องจากมี Ecosystem ที่เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มของบริษัทแม่ อาทิ แพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์ก WeChat และอีคอมเมิร์ซชั้นนำอย่าง Alibaba
ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาทั้ง 2 มีฐานข้อมูลเชิงพฤติกรรมขนาดใหญ่ ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีควบคู่กันของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ระบบคลาวด์ (Cloud Computing) และบล็อกเชน (Blockchain) สามารถรองรับลูกค้าจำนวนมากได้ และประเมินความสามารถในการชำระหนี้และให้บริการสินเชื่อได้รวดเร็วและแม่นยำ ส่งผลให้ต้นทุนในการดำเนินกิจการต่ำ และขยายธุรกิจได้เร็ว
Virtual Bank ไม่ได้มีดีแค่เรื่องความสะดวก แต่ยังมีข้อได้เปรียบทางธุรกิจที่น่าสนใจอีกด้วย เนื่องจากไม่มีต้นทุนคงที่จากการเปิดสาขาหรือจ้างพนักงานจำนวนมาก ธนาคารเหล่านี้จึงสามารถเสนอค่าธรรมเนียมที่ต่ำ หรือไม่มีเลย พร้อมกับให้อัตราดอกเบี้ยที่จูงใจกว่าธนาคารทั่วไป
ตัวอย่างเช่น ดอกเบี้ยเงินฝากของ Virtual Bank บางแห่งในอังกฤษอาจสูงถึง 2-3% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารดั้งเดิมที่อยู่ราว 0.5-1% ต่อปี นอกจากนี้ กระบวนการอนุมัติสินเชื่อก็ทำได้รวดเร็ว โดยใช้ระบบ AI ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงแทนการตรวจสอบเอกสารแบบเดิม
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของ Virtual Bank ก็ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นคือเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล เพราะการให้บริการผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมดหมายความว่า หากมีช่องโหว่หรือถูกโจมตีโดยแฮกเกอร์ ก็อาจส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานในวงกว้างได้
ขณะเดียวกัน การแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมการเงินก็ทำให้ Virtual Bank บางแห่งต้องปิดตัวลง เช่น VOLT Bank ในออสเตรเลียที่ยุติการดำเนินงานในปี 2022 เนื่องจากไม่สามารถระดมทุนเพิ่มเติมได้ หรือ Bó จากสหรัฐฯ ที่ไม่สามารถดึงดูดลูกค้าได้เพียงพอและต้องปิดตัวภายในไม่ถึงปี
สำหรับพัฒนาการ Virtual Bank ของไทยนั้น เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2568 กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศรายชื่อผู้ได้รับความเห็นชอบให้จัดตั้ง Virtual Bank อย่างเป็นทางการ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับระบบการเงินของประเทศให้ทันสมัย เข้าถึงง่าย และเท่าเทียมยิ่งขึ้น โดยมีผู้ผ่านการพิจารณาทั้งหมด 3 กลุ่ม ได้แก่
- บริษัท เอซีเอ็ม โฮลดิ้ง จำกัด
- กลุ่มธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)
- กลุ่มบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ WeTechnology Limited และ KakaoBank Corp.
โดยทั้ง 3 กลุ่มมีเวลา 1 ปีในการเตรียมการจัดตั้งและเปิดให้บริการแก่ประชาชน โดยการจัดตั้ง Virtual Bank ในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงระบบการเงิน เช่น ผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs), กลุ่มรายได้น้อย, และผู้ไม่มีรายได้ประจำ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดบริการทางการเงินที่หลากหลาย ทันสมัย และเหมาะสมยิ่งขึ้น
ด้วยความหวังใหม่ของภาคการเงินไทยกับเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าและการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในระบบสถาบันการเงิน Virtual Bank จะมีบทบาทสำคัญในการลดต้นทุน เพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการ และช่วยยกระดับความเท่าเทียมทางการเงินของประเทศอย่างยั่งยืน