ธ.โลกหั่นจีดีพี ปี68เหลือ1.8% คลังรอถกทรัมป์
“ธนาคารโลก” หั่นจีดีพีไทยปี 68 เหลือ 1.8% เหตุนโยบายการค้าโลกป่วนส่งออก-บริโภค-ท่องเที่ยวชะลอตัว คลังจ่อปรับตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ นำปัจจัย "การเมือง-เจรจาภาษีทรัมป์" ร่วมพิจารณา “จตุพร” เกาะติดผลเจรจาภาษีสหรัฐ หลังเวียดนามได้ดีล 20% ลุยแก้ปัญหาสินค้าราคาตกต่ำ
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ธนาคารโลกได้ปรับประมาณการการเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ไทยในปี 2568 ลดลงมาอยู่ที่ 1.8% ส่วนปี 2569 อยู่ที่ 1.7% สะท้อนถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าโลกในช่วงที่ผ่านมา การส่งออกที่อ่อนแอ การบริโภคที่ชะลอตัวลง และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในระดับปานกลาง แต่หากความเชื่อมั่นด้านการลงทุนปรับตัวดีขึ้น คาดว่าตัวเลขจีดีพีในปี 2568 อาจจะขยายตัวได้ถึง 2.2% และในปี 2569 อยู่ที่ 1.8%
“ตัวเลข 1.8% ในปีนี้ถือว่าค่อนข้างต่ำ ซึ่งเป็นผลกระทบจากนโยบายการค้าโลกที่มีความไม่แน่นอน ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการลงทุนของไทย ซึ่งการส่งออกและการบริโภค รวมถึงการลงทุนในประเทศไทยเริ่มชะลอตัวลงมาตั้งแต่ปีก่อน เนื่องจากการมีหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 87.4% ต่อจีดีพี ซึ่งสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการมีภาระดอกเบี้ยจ่ายที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของประชาชน ขณะเดียวกันยอดสินเชื่อก็มีแนวโน้มหดตัวลงด้วย” นายเกียรติพงศ์ระบุ
สำหรับนโยบายการค้าโลกที่มีความไม่แน่นอนนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ผ่าน 2 ช่องทางสำคัญ ได้แก่ 1.การส่งออก ซึ่งเศรษฐกิจไทยได้พึ่งพาการส่งออกสูงถึง 60% ของจีดีพี โดยเฉพาะการส่งออกไปยังสหรัฐ ญี่ปุ่น และจีน และ 2.การลงทุน โดยปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้เกิดการชะลอการลงทุนเนื่องจากความไม่แน่นอนที่ค่อนข้างเยอะ
นอกจากนี้ ยังมี Shock ซึ่งเป็นปัจจัยเฉพาะเจาะจงของเศรษฐกิจไทย นั่นคือ การชะลอตัวลงของภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่หดตัวลง เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัยในประเทศไทย ทำให้ธนาคารโลกได้คาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไทยในปี 2568 อยู่ที่ 37 ล้านคน ส่วนปี 2569 คาดว่าจะกลับเข้าสู่ช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 โดยมองว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น
อีกปัจจัยที่น่ากังวลคือ พื้นที่ของภาคการคลังไทยกำลังแคบลง แต่ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ สะท้อนจากสัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบันที่ 64% ต่อจีดีพี ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากหนี้สูงกว่า 60% ของจีดีพี การเติบโตของเศรษฐกิจจะชะลอลง และกดดันให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อภาระการจ่ายหนี้ของรัฐบาลและประชาชน
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมี 3 โอกาสสำคัญ คือ 1.นโยบายการคลัง ผ่านการเลือกลงทุนในโครงการที่ส่งเสริมการเติบโต 2.แนวโน้มการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลเริ่มมีสัญญาณการลงทุนที่มากขึ้น และ 3.การเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้นที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งการที่รัฐบาลได้ปรับการใช้จ่ายงบจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต วงเงิน 1.57 แสนล้านบาท มาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว วงเงิน 1.15 แสนล้านบาท คิดเป็น 0.8% ของจีดีพี เป็นทิศทางที่ดี
นายเกียรติพงศ์กล่าวด้วยว่า ธนาคารโลกยังไม่ได้นำประเด็นการเมืองใส่เข้าไปในประมาณการ โดยยังเชื่อว่านโยบายการคลังรวมถึงนโยบายการเงินจะยังสนับสนุนและประคับประคองเศรษฐกิจไทย และมองว่างบประมาณรายจ่ายปี 2569 จะผ่านไปได้ แต่หากงบล่าช้าออกไปจากปกติ อาจจะกระทบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนการเจรจาภาษีกับสหรัฐอเมริกานั้น หากมีความคืบหน้าจะช่วยให้การลงทุนกลับมาได้ โดยประเมินว่าสหรัฐจะมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้ากับไทยในอัตรา 10% กว่า ไม่น่าถึง 18%
ทางด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สศค.เตรียมปรับประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปี 2568 อีกครั้งในวันที่ 30 ก.ค.นี้ จากเดิมที่เคยประเมินไว้ที่ 2.1% โดยรอบนี้จะนำปัจจัยใหม่เข้ามาพิจารณาเพิ่มเติม ทั้งจากความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ และทิศทางการเจรจาการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
ขณะที่ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการเจรจาภาษีกับสหรัฐว่า ต้องรอผลของการเจรจาของนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลังที่สหรัฐ ส่วนกรณีเวียดนามได้เงื่อนไขการเรียกเก็บภาษีสินค้าที่ส่งไปยังสหรัฐที่ 20% นั้น มีเงื่อนไขเรื่องการยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐเหลือ 0% อยู่ด้วย ซึ่งต้องรอดูเงื่อนไขของไทยก่อนว่าได้เปรียบหรือเสียเปรียบเวียดนามอย่างไร
สำหรับการแก้ปัญหาสินค้าสวมสิทธิ์เพื่อส่งออกจากประเทศไทยที่กำลังถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษจากสหรัฐนั้น ได้มอบหมายให้นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ เป็นคนที่รับผิดชอบ ซึ่งทำงานอย่างเต็มที่
ส่วนการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำนั้น จะนัดหมาย รมว.เกษตรและสหกรณ์มาหารือกัน เพราะเรื่องการแก้ปัญหามีทั้งเรื่องต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เป็นปลายน้ำที่จะเอาไปขาย ดังนั้นต้องแก้ปัญหาไปด้วยกัน เน้นนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ โดยในช่วง 2-3 วันนี้ จะเดินทางไปยังต่างจังหวัดเพื่อดูแนวทางการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทั้งนี้ จะเข้ากระทรวงสัปดาห์หน้า.