ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้-จีน มีสัญญาณ ‘ฟื้นตัว’ แม้เผชิญ ‘ภาษีทรัมป์’
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาษีนำเข้าสหรัฐ กิจกรรมโรงงานในหลายประเทศแถบเอเชียได้ “หดตัวลง” ในเดือนมิถุนายน
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจภาคเอกชนที่เผยแพร่เมื่อวันอังคารเผยให้เห็น “สัญญาณบวก” สำหรับภาคการผลิตในเอเชีย โดยกิจกรรมการผลิตของ “ญี่ปุ่น” มีการขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน ขณะที่กิจกรรมการผลิตของ “เกาหลีใต้” หดตัวในอัตราที่ลดลง ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะที่ดีขึ้น
สำหรับ “จีน” ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของ Caixin ก็ขยายตัวในเดือนมิถุนายน อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่
กระนั้นก็ตาม นักวิเคราะห์ชี้ว่า ภาพรวมของภาคการผลิตในเอเชียยังคงเผชิญกับความท้าทาย เนื่องจากการเจรจาทางการค้ากับสหรัฐที่หยุดชะงัก แนวโน้มความต้องการทั่วโลกที่อ่อนแอ และการเติบโตที่ซบเซาในจีน ซึ่งทั้งหมดนี้มีแนวโน้มที่จะถ่วงกิจกรรมโรงงานในภูมิภาค
“โดยรวมแล้ว อุปทานและอุปสงค์ภาคการผลิตฟื้นตัวขึ้น” หวัง เจ๋อ นักเศรษฐศาสตร์จาก Caixin Insight Group กล่าวถึง PMI ของจีน “แต่เราต้องตระหนักว่า สภาพแวดล้อมภายนอกยังคงรุนแรงและซับซ้อน มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น และปัญหาอุปสงค์ในประเทศยังคงไม่ได้รับการแก้ไข” เจ๋อกล่าว
สำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของ Caixin/S&P Global ของจีน เพิ่มขึ้นเป็น 50.4 ในเดือนมิถุนายน จาก 48.3 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ในการสำรวจของรอยเตอร์ส และสูงกว่าระดับ 50 ที่แบ่งแยกระหว่างการเติบโตและการหดตัว
ในขณะเดียวกัน ผลสำรวจภาคเอกชนเผยว่า ดัชนี PMI ของ au Jibun Bank ของญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นเป็น 50.1 ในเดือนมิถุนายน จาก 49.4 ในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากการผลิตเพิ่มขึ้น แต่ความต้องการโดยรวมยังคงอ่อนแอ เนื่องจากคำสั่งซื้อใหม่ลดลง จากความไม่แน่นอนด้านภาษีสหรัฐ
ส่วนกิจกรรมโรงงานในเกาหลีใต้ หดตัวเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันในเดือนมิถุนายน โดยอยู่ที่ 48.7 อย่างไรก็ตาม อัตราการลดลงได้ผ่อนคลายลง เนื่องจากบริษัทต่างๆ โล่งใจกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ซึ่งเป็นการยุติความไม่แน่นอนที่ดำเนินมานานถึง 6 เดือน
“ความผันผวนในนโยบายภาษีของสหรัฐ และความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เป็นที่คาดว่าจะยังคงมีอยู่ในช่วงครึ่งหลังของปี” อัน ด็อก-กึน รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเกาหลีใต้กล่าว โดยเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนของกรุงโซลในการบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐ
ทั้งนี้ ภาษีสูงชันซึ่งทรัมป์กำหนดขึ้น ได้พลิกโฉมการค้าโลกและเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจเอเชียหลายแห่งที่พึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐเป็นอย่างมาก
ขณะนี้นักเจรจาจากคู่ค้าหลักของสหรัฐกว่าสิบราย กำลังเร่งรีบเพื่อบรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลทรัมป์ภายในเส้นตายวันที่ 9 กรกฎาคม เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มขึ้นของภาษีนำเข้า
สำหรับ “อินเดีย” เป็นข้อยกเว้นที่สำคัญในภูมิภาคนี้ โดยกิจกรรมการผลิตของอินเดียเร่งตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือนในเดือนมิถุนายน ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของการส่งออกระหว่างประเทศ จนช่วยกระตุ้นการจ้างงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของอินเดียปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 58.4 ในเดือนมิถุนายน จาก 57.6 ในเดือนก่อนหน้า
ขณะที่ PMI ของอินโดนีเซียลดลงสู่ 46.9 ในเดือนมิถุนายน จาก 47.4 ในเดือนพฤษภาคม เวียดนามอยู่ที่ 48.9 ในเดือนมิถุนายน ลดลงจาก 49.8 ในเดือนก่อนหน้า
ส่วนมาเลเซีย PMI เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 49.3 ในเดือนที่แล้ว จาก 48.8 ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่ของไต้หวันลดลงสู่ 47.2 ในเดือนมิถุนายน จาก 48.6 ในเดือนก่อนหน้า
อ้างอิง: reuters