ไขข้อสงสัย สัญลักษณ์ "&" อ่านว่าอะไร? ทำไมใครๆ ถึงนิยมใช้แทนคำว่า "and"
คุณคงเคยเห็นชื่อแบรนด์อย่าง Johnson & Johnson, Tiffany & Co. หรือ Procter & Gamble กันมาบ้างใช่ไหม? การที่พวกเขาเลือกใช้สัญลักษณ์ "&" แทนคำว่า "and" นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญเลย
คุณคงเคยเห็นสัญลักษณ์ "&" ผ่านตามาบ้าง ไม่ว่าจะในชื่อบริษัทดังอย่าง Johnson & Johnson บนพาดหัวข่าว โพสต์ในโซเชียล หรือแม้แต่ในสมุดโน้ตเวลาทำงานกลุ่ม บางคนก็ใช้แทนคำว่า "and" โดยไม่ทันคิด แต่เคยสงสัยไหมว่าทำไมใคร ๆ ถึงนิยมใช้สัญลักษณ์ตัวเล็ก ๆ นี้กัน?
เบื้องหลังเครื่องหมาย "&" มีเรื่องราวน่าสนใจกว่าที่คิด
ตามพจนานุกรม vocabulary.com สัญลักษณ์ "&" เรียกว่า ampersand (อ่านว่า แอมเพอร์แซนด์) เป็นเครื่องหมายแทนคำว่า "and" ที่แปลว่า "และ" นั่นเอง
ต้นกำเนิดของมันย้อนไปถึงสมัยโรมันโบราณ โดยมีการพบร่องรอยในภาพกราฟฟิตีโบราณที่เมืองปอมเปอี ส่วนคำว่า ampersand มาจากวลีภาษาอังกฤษและละตินที่ว่า "and per se and" หมายถึง "และ ที่แยกออกมาเป็นคำว่า and"
ทำไมใคร ๆ ถึงนิยมใช้ "&" แทนคำว่า "and" บ่อย ๆ ?
เหตุผลแรกและชัดเจนที่สุดคือความสั้นกระชับและสะดวกสบาย ในยุคที่ความเร็วและความเรียบง่ายคือหัวใจสำคัญ สัญลักษณ์ "&" ตัวเดียวช่วยประหยัดทั้งเวลาในการพิมพ์ และพื้นที่ในการแสดงผล แต่ยังคงสื่อความหมายได้ครบถ้วน
แทนที่จะเขียนคำว่า "and" ยาว ๆ แค่ใช้ "&" ก็พอ โดยไม่กระทบเนื้อหาแต่อย่างใด จึงมักเห็นสัญลักษณ์นี้ในบริบทที่ต้องการความกระชับ เช่น หัวข้อบทความ ชื่อบทในหนังสือ โน้ตย่อ สไลด์พรีเซนต์ หรือแผนผังต่าง ๆ
นอกจากความสะดวกแล้ว เรื่องของความสวยงามก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้หลายคนชอบใช้ "&" เพราะในแง่ของการออกแบบ สัญลักษณ์นี้ถือเป็นองค์ประกอบกราฟิกที่มีความสมดุลและดูหรูหรา เส้นโค้งเว้าของ "&" ให้ความรู้สึกอ่อนช้อยและมีเสน่ห์มากกว่าการเขียนคำว่า "and" แบบตัวอักษรธรรมดา
ด้วยเหตุนี้ แบรนด์ดังจึงมักเลือกใช้ "&" ในชื่อ เพื่อเพิ่มความน่าจดจำและความเป็นมืออาชีพ เช่น Johnson & Johnson, Tiffany & Co. หรือ Procter & Gamble
แต่อย่างไรก็ตาม "&" ก็ไม่ได้เหมาะกับทุกโอกาส ในเอกสารทางวิชาการ สัญญาทางกฎหมาย หรือเอกสารราชการที่ต้องการความทางการและชัดเจน ควรเขียนคำว่า "and" ให้ครบถ้วนจะเหมาะสมกว่า ส่วน "&" จะเหมาะกับงานสร้างสรรค์ งานไม่เป็นทางการ หรือสื่อที่เน้นความกระชับและดีไซน์เป็นหลัก
สรุปแล้ว "&" ไม่ได้เป็นแค่สัญลักษณ์ที่สะดวกใช้งานเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือทางภาษาที่ทั้งสวยงาม สื่อความหมายได้ดี และยืดหยุ่นในการใช้งาน ความนิยมของมันสะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์เรามักมองหาความเรียบง่ายที่ยังคงประสิทธิภาพในการสื่อสารอยู่เสมอ