ตร.ไซเบอร์ ส่งสำนวนคดีคลิปฮุนเซน ให้ อสส.พิจารณารับเป็นคดีนอกราชฯ
14 ก.ค.2568 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 (ผบก.สอท.1) นำสำนวนการสอบสวนคดี "คลิปเสียงฮุน เซน" จำนวน 50 หน้า รวม 1 แฟ้ม ให้อัยการสูงสุดพิจารณามีคำสั่งตั้งพนักงานสอบสวน
โดยมีนายศักดิ์เกษม นิไทรโยค ผู้ตรวจการอัยการ ในฐานนะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้รับสำนวน พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า กรณีที่ นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บก.สอท.1 เพื่อดำเนินคดีกับผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ "Samdech Hun Sen of Cambodia" ซึ่งมีการเผยแพร่คลิปเสียงการสนทนา ระหว่าง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กับ สมเด็จฯ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภาแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โดยเห็นว่าอาจเข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และความผิดอาญาอื่นที่เกี่ยวข้อง
ผบก.สอท.1 กล่าวว่า ต่อมา คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนของ บก.สอท.1 ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในเบื้องต้น พบว่า พฤติการณ์ในคดีดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดที่ได้กระทำนอกราชอาณาจักรไทย ซึ่งตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 กำหนดให้อัยการสูงสุดเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หลังการสอบสวนแล้วเสร็จทางคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน บก.สอท.1 จึงได้นำสำนวนการสอบสวนพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ
ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 กำหนดให้อัยการสูงสุดมีอำนาจมอบหมายให้พนักงานอัยการ หรือพนักงานสอบสวนรายใดดำเนินการสอบสวนแทนได้ ทั้งนี้เป็นดุลพินิจของท่านอัยการสูงสุดในการพิจารณาดำเนินการ
พล.ต.ต.ศิริวัฒน์กล่าวว่า สำหรับผู้กระทำความผิดนั้นเป็นแอดมินเพจมีจำนวนมากกว่า 1 คน ส่วนสมเด็จฮุนเซนฯเป็นผู้กระทำผิดร่วมด้วยหรือไม่อันนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในสำนวนการสอบสวน
ส่วนสำนวนคดี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช อดีต ผบ.ตร. ยื่นเรื่องให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. เกี่ยวกับเรื่องการสั่งฆ่านักการเมืองพรรคฝ่ายค้านของกัมพูชา จะแบ่งการสอบสวนไปอีกจำนวนหนึ่ง
ด้านนายศักดิ์เกษมกล่าวว่า ในส่วนขั้นตอนของอัยการสูงสุด หลังจากรับสำนวนแล้วอัยการสูงสุดส่งสำนวนไปให้สำนักงานอัยการสอบสวน เพื่อพิจารณาสำนวนคดีว่า ความผิดนี้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 20 เป็นความผิดนอกราชอาณาจักรหรือไม่ หากเห็นว่าเป็นความผิดนอกราชอาณาจักร สำนักงานอัยการสอบสวนจัดส่งความเห็นให้อัยการสูงสุด ในฐานะเป็นพนักงานสอบสวนคดีนอกจากราชอาณาจักรตามกฎหมาย หรือให้อัยการสูงสุดมอบหมายให้ตั้งพนักงานสอบสวนคนใดคนหนึ่ง หรือพนักงานอัยการเข้าร่วมสอบสวน
ซึ่งหลังการสอบสวนจัดส่งสำนวนกลับมาให้อัยการสูงสุดพิจารณาว่าคดีมีมูลพอฟ้องหรือไม่ หากคดีมีมูลพอฟ้องจะยื่นฟ้องต่อศาลอาญา จากนั้นหากจำเลยไม่มาปรากฏตัวที่ศาลจะต้องมีการขอออกหมายจับจากอินเตอร์โพลตามขั้นตอนต่อไป