“ทรัมป์” ประกาศบรรลุ “ดีลสุดยอดเยี่ยม” กับอินโดนีเซีย หลังขู่ขึ้นภาษี 32%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (15 ก.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศว่าได้บรรลุข้อตกลงทางการค้ากับประเทศอินโดนีเซียแล้ว แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าว
"เป็นข้อตกลงที่ยอดเยี่ยมสำหรับทุกคน เพิ่งทำข้อตกลงกับอินโดนีเซียไปหมาดๆ ผมได้เจรจาโดยตรงกับประธานาธิบดีที่น่านับถืออย่างสูงของพวกเขา รายละเอียดจะตามมาเร็วๆ นี้!!!" ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย
การประกาศครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ ทรัมป์ ออกมาประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากอินโดนีเซียในอัตรา 32% โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นไป ซึ่งการขู่ดังกล่าวส่งผลให้อินโดนีเซียต้องส่งหัวหน้าผู้แทนเจรจาการค้าเดินทางไปยังสหรัฐฯ เพื่อหาข้อตกลงร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีของคณะบริหารของทรัมป์
กระทรวงประสานงานกิจการเศรษฐกิจของอินโดนีเซียระบุว่า นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต (Airlangga Hartarto) รัฐมนตรีฯ ได้เสนอข้อตกลงทางธุรกิจหลายฉบับในระหว่างการประชุมกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงนายเจมีสัน เกรียร์ (Jamieson Greer) ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ, นายโฮเวิร์ด ลุตนิค (Howard Lutnick) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายสก็อตต์ เบสเซนต์ (Scott Bessent) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
หากข้อตกลงกับอินโดนีเซียสำเร็จลุล่วง จะนับเป็นกรอบข้อตกลงทางการค้าฉบับที่ 4 ที่ทรัมป์ได้ประกาศร่วมกับรัฐบาลต่างชาติ ต่อจากเวียดนามและสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ สหรัฐฯ และจีนยังได้บรรลุข้อตกลงพักรบทางภาษี ซึ่งรวมถึงแผนการกลับมาค้าขายแร่ธาตุสำคัญและเทคโนโลยีระหว่างสองชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงที่ ทรัมป์ เคยประกาศไปก่อนหน้านี้มักเป็นเพียงกรอบข้อตกลงที่ยังไม่สมบูรณ์ และยังคงเหลือรายละเอียดอีกมากที่ต้องเจรจากันในภายหลัง ตัวอย่างเช่น ผู้นำเวียดนามรู้สึกประหลาดใจอย่างมากกับการประกาศของทรัมป์ที่ว่ารัฐบาลฮานอยได้ตกลงยอมรับภาษี 20% และจากข้อมูลของผู้ที่คุ้นเคยกับเรื่องนี้ ระบุว่าเวียดนามยังคงพยายามเจรจาเพื่อลดอัตราภาษีดังกล่าวอยู่
ทรัมป์ได้โพสต์ใน Truth Social ว่าดีลดังกล่าวเป็น "ข้อตกลงที่ดีเยี่ยมสำหรับทุกคน" และให้ข้อมูลว่าข้อตกลงนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เขาได้ติดต่อโดยตรงกับประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย Prabowo Subianto อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อตกลงที่กล่าวถึง แต่กล่าวว่ายังมีรายละเอียดเพิ่มเติมตามมา
อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญ 25 อันดับแรกของสหรัฐฯ โดยทั้งสองประเทศมีการค้าสินค้าระหว่างกันมูลค่ากว่า 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2024 ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ โดยที่ปีที่แล้วสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับอินโดนีเซีย 1.79 หมื่นล้านดอลลาร์
ข้อความของทรัมป์เกี่ยวกับอินโดนีเซียมีความคล้ายคลึงกับคำประกาศเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ว่า สหรัฐฯ ได้บรรลุข้อตกลงการค้ากับเวียดนาม ข้อความเริ่มต้นของเขาเกี่ยวกับเวียดนามก็ยังขาดรายละเอียดเช่นเดียวกัน แม้ว่าในโพสต์ต่อมาเขาได้ระบุเงื่อนไขว่ามีการเก็บภาษี 20% กับสินค้านำเข้าจากเวียดนาม
โดยก่อนหน้านี้เว็บไซต์ Politico รายงานถึงความไม่ชัดเจนของข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและเวียดนาม โดยอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ ระบุว่า รัฐบาลเวียดนามยังไม่ยอมรับเงื่อนไขสำคัญในข้อตกลง แม้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะประกาศทางโซเชียลมีเดียเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2568 ว่าได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นกับเวียดนามแล้วก็ตาม
ข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) โดยทรัมป์ระบุว่า สินค้าจากเวียดนามจะถูกเก็บภาษีศุลกากร 20% ลดลงจาก 46% ที่เคยประกาศในเดือนเมษายน หรือ 40% หากเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศที่สามหรือสวมสิทธิ์ นอกจากนี้ เวียดนามยังตกลงเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐฯ เข้าสู่ประเทศโดยไม่มีการเก็บภาษีศุลกากร
อย่างไรก็ตาม Politico รายงานว่า ทีมเจรจาเวียดนามไม่เคยยินยอมต่ออัตราภาษี 20% ดังกล่าว โดยฝ่ายเวียดนามเข้าใจว่า อัตราที่เจรจากันอยู่เพียงราว 11%
ทั้งนี้ ทรัมป์ได้ประกาศอัตราภาษีที่สูงกว่านั้น หลังจากการโทรศัพท์หารือกับ“โต เลิม” เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการเจรจาตั้งแต่ต้น
รายงานยังชี้ว่า ฝ่ายสหรัฐฯ เอง รวมถึงกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและล็อบบี้ยิสต์ในวอชิงตัน ต่างประหลาดใจกับอัตราภาษีที่ทรัมป์ประกาศ ขณะที่เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวที่ไม่ได้ระบุชื่อ ยืนยันว่า เวียดนามได้รับทราบตัวเลขภาษีทั้งก่อนและระหว่างการหารือแล้ว
โดยจนถึงขณะนี้ ทั้งทำเนียบขาวและรัฐบาลเวียดนามยังไม่ได้แถลงอย่างเป็นทางการ หรือเผยแพร่เอกสารรับรองข้อตกลงที่มีรายละเอียดชัดเจน อีกทั้งยังไม่มีประเทศใดลงนามอย่างเป็นทางการ และไม่ชัดเจนว่าอัตราภาษีใหม่จะมีผลบังคับใช้เมื่อใด
ด้านสื่อของรัฐเวียดนามรายงานเพียงว่า การหารือระหว่างทรัมป์ และ โต เลิม ส่งผลให้เกิด “แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยข้อตกลงการค้าที่เป็นธรรมและสมดุล” โดยไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับข้อตกลงที่ทำร่วมกับสหรัฐฯ
ขณะที่ร่างแถลงการณ์ร่วมที่ Politico ได้รับ ระบุเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อเวียดนามมากกว่า และมีการกล่าวถึงการลดอัตราภาษีของสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ
เหตุการณ์นี้สร้างความกังวลในหมู่คู่ค้าสหรัฐฯ รายอื่น ๆ ที่เฝ้าจับตาความไม่แน่นอน เนื่องจากทรัมป์มักเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขภาษีในนาทีสุดท้าย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในเวทีการค้าโลก