หั่นเกษตร 0% แลกดีลสหรัฐ ผู้เลี้ยงค้านไทยเปิดตลาด ‘สุกร-ไก่-เนื้อโค’
การเจรจาภาษีตอบโต้ระหว่างไทย และสหรัฐยังไม่ได้ข้อสรุป โดยสหรัฐประกาศเก็บภาษีตอบโต้จากสินค้านำเข้าของไทย 36% สูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม ที่เป็นคู่แข่งในตลาดส่งออกที่ถูกสหรัฐเก็บภาษีอัตรา 20% ก่อนหน้านี้
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หัวหน้าคณะเจรจาของไทยออกมาเปิดเผยว่า ไทยมีแผนเปิดตลาดให้สหรัฐ โดยลดภาษีนำเข้าครอบคลุมสินค้า 90% ของรายการสินค้าทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ประชุมทีมไทยแลนด์ที่ประกอบด้วยหน่วยงานเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อสรุปข้อเสนอให้สหรัฐที่กำลังครบเส้นตายในวันที่ 1 ส.ค.2568
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า การขึ้นภาษีตอบโต้ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ส่งผลโดยตรงกับสินค้าเกษตรของไทย เนื่องจากการค้าระหว่างกันพบว่าไทยเป็นฝ่ายได้ดุลสหรัฐมาโดยตลอด
ดังนั้น สหรัฐจึงต้องการเปิดตลาดสินค้าเกษตรหลายชนิด โดยเฉพาะเนื้อสุกร ไก่เนื้อ และเนื้อโค ที่การเจรจาจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลัก
แต่สินค้าใดก็ตามที่ส่งผลกระทบน้อยทางกระทรวงเกษตร และสหกรณ์พร้อมจะเจรจา เพื่อยอมให้เปิดตลาดภายใต้เงื่อนไข และไทยพร้อมเปิดตลาดสินค้าเกษตรที่ไทยผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการในกลุ่มวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น กากถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี เป็นต้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้ไทยพร้อมจะพิจารณาปรับลดภาษีนำเข้าเป็น 0%
สำหรับเนื้อสุกรนั้น สหรัฐได้หยิบยกมาเจรจาทุกครั้งที่มีโอกาส เนื่องจากสหรัฐเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ และมีบายโปรดักต์จำนวนมากที่ต้องระบายทิ้ง และเห็นไทยเป็นตลาดใหญ่ ทั้งเครื่องในสัตว์ หนัง และชิ้นส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เนื้อแดง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหมูของสหรัฐนั้นใช้สารเร่งเนื้อแดงที่ตกค้างอยู่ในเครื่องในเหล่านั้น แม้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) ภายใต้องค์การอาหาร และเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) แต่เนื่องจากมาตรฐานของไทยที่สูงกว่า เพราะไทยมีกฎหมายห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงโดยเด็ดขาด จึงทำให้เนื้อหมูของสหรัฐไม่สามารถผ่านการตรวจสอบรับรองนี้ได้
ดังนั้นหากไทยต้องเปิดตลาดเนื้อหมูให้กับสหรัฐตามข้อเรียกร้อง ไทยต้องปรับแก้กฎหมายเพื่อลดมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งไม่ถูกต้องในทางปฏิบัติ เพราะเกษตรกรไทยทำได้ดีอยู่แล้ว
อีกทั้งการยอมให้หมูสหรัฐทะลักเข้ามาจะส่งผลกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั้งประเทศ อาชีพการเลี้ยงหมูจะล่มสลาย และเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภคในประเทศ เนื่องจากสารเร่งเนื้อแดงเป็นสารก่อมะเร็ง รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกเนื้อหมูของไทย
ค้านไก่ภาษี 0% กระทบผู้ผลิต
ในส่วนของไก่ เห็นว่าไม่ควรเปิดตลาดให้กับสหรัฐ เพราะปัจจุบันไทยมีศักยภาพการผลิต และเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก รวมทั้งมีการผลิตที่มีปริมาณเพียงพอกับการบริโภคในประเทศ และการส่งออก ซึ่งหากมีการเปิดตลาดหรือลดภาษี 0% ให้กับสหรัฐจะทำให้สินค้าไก่เข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบกับการส่งออกของไทยอย่างแน่นอน
สำหรับโคเนื้อ ปัจจุบันไทยเปิดตลาดนำเข้าอยู่แล้วภายใต้การเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-ออสเตรเลีย กับนิวซีแลนด์ หากเนื้อโคของสหรัฐได้มาตรฐานผ่านการตรวจสอบรับรองที่ถูกต้อง ไทยก็พร้อมจะเปิดตลาดนำเข้า
“ตามการเจรจากับสหรัฐคาดว่าจะยืดเยื้อต่อไปเรื่อยๆ เพราะเงื่อนไขการเจรจามีหลายอย่างที่ไทยยอมรับไม่ได้ หากไทยต้องเปิดตลาดทั้งหมดอัตราภาษี 0% เหมือนเวียดนามนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะต้องปรับแก้กฎหมายจำนวนมาก และต้องใช้เวลา ดังนั้นการเจรจาด้านภาษีกับสหรัฐ จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ภาคเกษตรของไทยรับได้ด้วย” แหล่งข่าวกล่าว
ชี้ต้นทุนสุกรสหรัฐต่ำกว่าไทย
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า การเปิดตลาดให้เนื้อหมูราคาถูกจากสหรัฐ ซึ่งมีต้นทุนต่ำมากเข้ามาตีตลาดในประเทศ เท่ากับเป็นการลงดาบฆ่าผู้เลี้ยงสุกรไทยทั้งประเทศกว่าแสนราย ให้หมดอาชีพในชั่วข้ามคืน
รวมทั้งไม่เพียงแต่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเท่านั้นที่ต้องล้มหายตายจาก แต่จะเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ลุกลามทั้งห่วงโซ่การผลิตในประเทศ ตั้งแต่ผู้ปลูกข้าวโพด ถั่วเหลือง ผู้ผลิตอาหารสัตว์ โรงงานแปรรูป และแรงงานนับล้านชีวิต ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ จะล่มสลายไปพร้อมกัน
“การเปิดตลาดให้หมูสหรัฐเข้ามาบุกตลาดไทยเท่ากับรัฐบาลกำลังผลักให้เกษตรกรไทยออกจากระบบ วันนี้รัฐบาลอาจได้สิทธิการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น แต่ต้องแลกด้วยการทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนทั่วประเทศ หากเศรษฐกิจสหรัฐรอด แต่เศรษฐกิจชาวบ้านไทยล่ม เป็นการแลกเปลี่ยนที่ไม่คุ้มค่าใครจะรับผิดชอบ” นายสิทธิพันธ์ กล่าว
สำหรับสินค้าเกษตรโดยเฉพาะเนื้อหมู ไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนบนโต๊ะเจรจาผลประโยชน์การค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีอัตรากำไรต่ำแต่ต้นทุนสูง และยังเกี่ยวพันกับความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ เพราะไทยจะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐอย่างเข้มข้นเช่นสหรัฐได้อย่างเป็นธรรม
ขณะที่การเปิดตลาดสุกรเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงใหญ่ที่ไม่อาจมองข้ามได้ เพราะจะเป็นการเปิดประตูให้โรคระบาดสัตว์ และโรคอุบัติใหม่เข้ามาในประเทศ เช่น โรคไข้หวัดหมูที่ยังไม่เคยพบในประเทศไทย
ดังนั้นหากปล่อยให้มีการนำเข้าโดยไม่มีมาตรการป้องกันที่รัดกุมพอจะเป็นการนำเข้าเชื้อโรคร้ายเข้าสู่ระบบปศุสัตว์ไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตเนื้อสัตว์ของไทยในระยะยาว ที่มีมาตรการป้องกันโรคสัตว์ตามมาตรฐานสากลและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ที่ไทยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
เตือนรัฐบาลหยุดเปิดตลาดปศุสัตว์
นอกจากนี้ การนำเข้าเนื้อสัตว์จากประเทศที่ยังอนุญาตให้ใช้สารต้องห้าม และยาปฏิชีวนะหลายชนิด ที่ประเทศไทยห้ามใช้ในการเลี้ยงสัตว์โดยเด็ดขาด โดยเฉพาะสารเร่งเนื้อแดง (สารกลุ่ม Beta-agonist) อาทิ Ractopamine ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อแดง และลดไขมันในสัตว์
ตลอดจนการผสมสารบางอย่างในอาหารสัตว์ (feed additive) ทำให้หมูโตไว (growth promotor) และมีอัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อสูงขึ้น แม้จะใส่ในปริมาณที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ รวมถึงการบริโภคในปริมาณมากอาจทำให้หัวใจเต้นเร็ว, ความดันสูง, ปวดหัว, มือสั่นได้
ทั้งนี้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดแนวคิดการเปิดตลาดเนื้อหมู และสินค้าเกษตรที่เปราะบาง และทบทวนท่าทีในการเจรจาต่อรองกับสหรัฐ ซึ่งหันมาเลือกสินค้าอุตสาหกรรมอื่นที่สามารถแข่งขันกับสหรัฐได้อย่างแท้จริงในการแก้ปัญหาครั้งนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจฐานราก และความมั่นคงทางอาหาร และส่งเสริมอาหารปลอดภัยให้คนไทย
“อย่าปล่อยให้สุกรไทย หมดทางรอดในการค้าโลก และไม่ควรแลกอนาคตผู้เลี้ยงหมูไทยทั้งประเทศ กับผลประโยชน์ไม่กี่รายการในบัญชีส่งออก ที่สำคัญในระยะยาวจะทำให้ไทยสูญเสียความมั่นคงทางอาหาร” นายสิทธิพันธ์ กล่าว
ชี้โคเนื้อสหรัฐใช้สารเร่งเนื้อแดง
นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย สมาชิกสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มเกษตรกรโคเนื้อไม่เคยสร้างปัญหาในด้านการส่งออกกับสหรัฐ และที่ต้องคัดค้านการเปิดตลาดนำเข้าเนื้อโคครั้งนี้ เนื่องจากเนื้อโคจากสหรัฐมีการใช้สารเร่งเนื้อแดงซึ่งขัดกับกฎหมายของประเทศไทย และจะส่งผลถึงความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศไทย
อีกทั้งที่ผ่านมา เกษตรกรผู้เลี้ยงโคยังได้ช่วยเหลือ และอุดหนุนสินค้าเกษตรอื่นของไทยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการที่รัฐบาลมีแนวทางที่จะเปิดนำเข้าเนื้อโค และเครื่องในโคจากสหรัฐเพื่อต่อรองในมาตรการด้านภาษีเพื่อลดการขาดดุลด้านการค้า โดยมองว่าไม่ยุติธรรมสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคกว่า 1.4 ล้าน ครัวเรือนทั่วประเทศ ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 2.8 แสนล้านบาท
“ปัจจุบันผู้เลี้ยงโคเนื้อต้องเผชิญปัญหาราคาโคตกต่ำจากการแข่งขันในตลาดจากการเปิดการค้าเสรี (FTA) กับประเทศออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์อยู่แล้ว โดยสมาคมฯ จึงต้องการให้ยกเลิกการนำเข้าเนื้อ และเครื่องในโคจากสหรัฐ เพราะจะซ้ำเติมเกษตรกรในการผลิตเนื้อ เกรดพรีเมียม” นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ กล่าว
หนุนเปิดนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์
นายสมภพ เอื้อทรงธรรม เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ได้ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า ธุรกิจอาหารสัตว์ในประเทศไทย มีปริมาณการผลิต 21 ล้านตันต่อปี แต่ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาเติบโตราว 1.1% ต่อปีเท่านั้น เพราะข้อจำกัดด้านวัตถุดิบที่ไม่มากพอ
ทั้งนี้ประเทศไทยสามารถผลิตอาหารสัตว์เพื่อการส่งออกได้เพียง 2% จากผลผลิตอาหารสัตว์ทั่วโลก 1,200 ล้านตัน ดังนั้นหากรัฐบาลมีแผนการนำเข้าถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเครื่องในสัตว์ เพื่อใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ก็จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เพื่อการส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น
พิสูจน์อักษร….สุรีย์ ศิลาวงษ์