ศึกรุมกินโต๊ะ ‘เอ็มเค สุกี้’ สู่หนามยอกเอาหนามบ่งด้วย BONUS SUKI
16 กรกฎาคม 2568 ดีเดย์เสิร์ฟ “BONUS SUKI” ไฟต์ติงแบรนด์จากบริษัท คุ้มคุ้ม จำกัด ภายใต้อาณาจักรหมื่นล้าน“เอ็มเค เรสโตรองต์”
การปั้นแบรนด์ใหม่เป็นอีก “หมัดสวนกลับ” บรรดา “คู่แข่งสุกี้” ในตลาดมูลค่ากว่า 23,000 – 25,000 ล้านบาท และ “เอ็มเค สุกี้” ครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 60% เป็น “เบอร์ 1” อย่างยาวนาน 39 ปี
เอ็มเค สุกี้ ยืนหนึ่งในตลาด
ทว่า ย้อนหลัง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดสุกี้แข่งดุเดือดเลือดพล่าน เพราะมี “หน้าใหม่” เข้ามาชิงตลาดหมื่นล้าน เขย่าบัลลังก์เบอร์ 1 อย่าง เอ็มเค สุกี้อย่างต่อเนื่อง
เลือดใหม่ไฟแรงแห่แย่งขุมทรัพย์ร้านอาหาร
ความน่าสนใจคือบรรดาผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามาบุกตลาดสุกี้ ระยะเวลาไม่กี่ปี กลายเป็นสร้างอาณาจักรธุรกิจร้านอาหารย่อมๆ ขึ้นแท่น“เศรษฐีอายุน้อยพันล้าน” กันถ้วนหน้า โดยเฉพาะ “สุกี้ ตี๋น้อย” ที่ “เฟิร์น นัทธมน พิศาลกิจวนิช” เปิดร้านสุกี้ไม่ถึง 10 ปี รายได้ทะยานเข้าใกล้ “หมื่นล้านบาท” เข้าไปทุกที ส่วนกำไรอู้ฟู่ต่อเนื่องระดับ “พันล้านบาท” หรือแม้แต่ “ลัคกี้ สุกี้” ที่ “แอน-รสรินทร์ ติยะวราพรรณ” และหุ้นส่วนเปิดกิจการมา 3 ปีเศษ สร้างรายได้ทะลุพันล้านบาท!
เหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนของแบรนด์ร้านอาหารที่ประสบความสำเร็จในสังเวียน 4-5 แสนล้านบาท เพราะยังมี “นักธุรกิจเลือดใหม่” คนรุ่นใหม่ ที่ลุกขึ้นมาสร้างแบรนด์ร้านอาหารจนเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำเงินระดับพันล้านบาทในเวลาเพียงไม่กี่ปี เช่น ชินคันเซ็น ซูชิ ของ 2 หนุ่ม “ชนวีร์ หอมเตย” และ “ศุภณัฐ สัจจะรัตนกุล” ที่วางเป้ารายได้ 2,800 ล้านบาทในปีนี้ หรือ “ร้านชาไทยการัน” ของ “ธัญย์ณภัคช์ ศิริประภาเจริญ” นักการเงินที่ผันตัวเป็นผู้ประกอบการสร้างรายได้ “ร้อยล้านบาท” ในเวลาไม่นาน เป็นต้น
เลือดใหม่ไฟแรงแย่ง “ขุมทรัพย์” ธุรกิจร้านอาหารแสนล้านบาท นักธุรกิจวัยเก๋าต้องพลิกกระบวนท่าเพื่อ “แลกหมัด” รักษาการเติบโต
ศึกรุมกินโต๊ะ “เอ็มเค สุกี้”
ร้านอาหารสุกี้ มีพี่ใหญ่ “เอ็มเค” ทำตลาดมานานชูจุดเด่น “วัตถุดิบคุณภาพ” และ “น้ำจิ้ม” ที่เป็นสูตรลับของร้าน ทว่า“ราคาสูง”หรือแพง กลับเป็นปมหรือ pain point ที่ทำให้ผู้บริโภคจ่ายแพงแต่อิ่มไม่คุ้ม บวกกับร้านสุกี้มีแบรนด์ใหม่ๆจำนวนมากเป็น “ทางเลือก” ในการชิงพื้นที่กระเพาะอาหาร(Share of Stomach) อย่างต่อเนื่อง
"ทานตะวัน-ธีร์ ธีระโกเมน "2 ทายาทเคลื่อนอาณาจักร MK GROUP
ตลาดสุกี้ รวมถึงหม้อร้อน มีแบรนด์ดังอื่นๆ อีก เช่น ชาบูชิ โมโม่ พาราไดซ์ ยูแอนด์ไอ สุกี้ นีโอ สุกี้ สุกี้ เรือนเพชร ฯ และที่มาแรงคือ สุกี้ ตี๋น้อย ลัคกี้ สุกี้ ซึ่งมีจำนวนร้านจำนวนมากให้ลูกค้าเลือกใช้บริการ รวมถึงแบรนด์เล็กที่มีร้าน 1-2 สาขา เปิดในทำเลเขตคามของตัวเองจับกลุ่มเป้าหมาย
ทว่า ยักษ์ใหญ่ “เอ็มเค สุกี้” กำลังถูกรุมกินโต๊ะจากร้านมาแรง ที่ใช้กลยุทธ์ราคาระหว่าง 219-299 บาท แย่งลูกค้า และแน่นอน แบรนด์รองเหล่านั้นทำได้
หนักกว่านั้นคือ เมื่อ “เอ็มเค สุกี้” ชิมลางลดราคาและลุย “บุฟเฟต์” สาขาในห้างค้าปลีกสมัยใหม่อย่างโลตัส บิ๊กซี ที่ 299 บาท ทำให้ “คู่แข่ง” ยอมไม่ได้ เพราะกำลังถูก “แย่งลูกค้ากลับไปคืน” จึงงัดโปรเจค 276 บาทมาตรึงลูกค้าไว้ ล่าสุดอีกแบรนด์เสิร์ฟ “เป็ดย่างไม่อั้น” เพื่อเอาใจเสียงเรียกร้องของกลุ่มเป้าหมาย
เป็นเกมการแข่งขันที่ไม่มีใครยอมใคร! และเป็นจังหวะที่มวยรอง “รัวหมัดถี่ยิบ” เพื่อซัดพี่ใหญ่ให้น่วม
ซุ่มปรับตัวไว้แล้ว
เสียงบ่นของผู้บริโภคเมื่อกล่าวถึง “เอ็มเค สุกี้” อาจเปลี่ยนจากอดีตที่ถูก bombard ด้วยโฆษณาและ Music Marketing “กินอะไร..กินอะไร..ไปกินเอ็มเค” มาเป็นเรื่อง“ราคาแพง” ทำให้ลูกค้าพลิกพฤติกรรมจะไปทานเอ็มเค สุกี้ ก็ต่อเมื่อเป็น “มื้อพิเศษ” ทานกับครอบครัว หรือโอกาสสำคัญ กลายเป็นทานตาม Occasion มากกว่าจะเป็นแบรนด์ Top of Mind ไปทานเป็นประจำ
ฤทธิ์ ธีระโกเมน แม่ทัพใหญ่สร้างตำนาน MK GROUP
“เอ็มเค สุกี้” เป็นแบรนด์เรือธงของบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรืออาณาจักร MK GROUP ที่มีมหาเศรษฐีหมื่นล้าน “ฤทธิ์ ธีระโกเมน” นำทัพ สร้างสัดส่วนรายได้ 72% ในปี 2567 ที่เหลือคือแบรนด์รองในพอร์ตโฟลิโอ เช่น ยาโยอิ 18% แหลมเจริญ 7% และอื่นๆ 3% เช่น มิยาซากิ ฮากาตะ ณ สยาม เลอ สยาม ฯ
การมี BONUS SUKI ไม่ใช่กระบวนท่าแรกที่ “MK GROUP” ได้ปรับเปลี่ยน เพราะย้อนช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการปรับแบรนด์องค์กร(Coporate Brand) เหลือเพียง “M” และยังขยายเสาหลักธุรกิจไปสู่การผลิตน้ำจิ้มเสิร์ฟตลาดค้าปลีก การลุยโลจิสติกส์ การผลิตสินค้าสุขภาพ เป็นต้น
ส่วนธุรกิจร้านอาหารมีการ “ลอง” ลุยโมเดลใหม่ๆ อย่างการ “มัดรวม 5 แบรนด์” ได้แก่ เอ็มเคเอ็กซ์เพรส (MK Expess) ฮากาตะ(HAKATA RAMEN) ยาโยอิ เอ็กซ์เพรส(Yayoi Express) ข้าวมันไก่ทองคำ และบิซซี่ บ็อก(BIZZY BOX) เสิร์ฟลูกค้าแบบสะดวกที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ปีก่อนมีการคิกออฟ “MK Buffet” ที่เซ็นทรัล เวสต์เกต ราคา 499 บาท ทานได้ 90 นาที เรียกเสียงฮือฮา
ส่วนการทำตลาด สร้างกระแสหรือ Viral ด้วยการเปลี่ยนชื่อครั้งใหญ่ MK สู่ “มงคง-MongKol” จนแบรนด์ถูกพูดถึงในวงกว้าง ทำให้ไม่เลือนหายไปจากผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย
เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึง “การไม่หยุดนิ่ง” ของยักษ์ใหญ่ร้านอาหาร
น้องตามพี่ พี่เอาคืนน้อง “หนามยอกเอาหนามบ่ง”
ปี 2568 MK GROUP ประกาศแผนธุรกิจชัดในการรุกร้านอาหาร “โมเดลบุฟเฟต์” และ BONUS SUKI คือการสวนหมัดกลับแบรนด์รอง น้องใหม่ๆ
MK ตั้งบริษัท คุ้มคุ้ม จำกัด ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และจะเพิ่มทุนเป็น 200 ล้านบาท บ่งบอกการ “เอาจริง” กับการทวงคืนส่วนแบ่งตลาด และผู้บริโภคที่ชอบ “บุฟเฟต์สุกี้”
ดีเดย์เสิร์ฟสุกี้แบรนด์ใหม่
กลยุทธ์ของ BONUS SUKI คือการทำแบบเดียวกับ “มวยรอง” นั่นคือ ราคา 219 บาท เมื่อรวมจ่ายทุกอย่างหรือ NET คือ 276 บาท กับ 60 เมนูอร่อย ประเดิมสาขาแรกที่ “โรบินสันไลฟ์สไตล์ สระบุรี” โดย “ราคา” ชนกับ สุกี้ ตี๋น้อยและลัคกี้ สุกี้ ที่ให้มากกว่าคือ “เวลาทาน 2.15 ชั่วโมง” จากรายอื่นให้เวลาทาน 1.45 ชม.และเปิดหยันหว่าง หรือ11.00-05.00 น.
แบรนด์คู่แข่งเห็นโอกาสตลาด ลงสนามสุกี้ สร้างการเติบโตตามรอยพี่ใหญ่ มาปีนี้ถึงเวลาหนามยอกเอาหนามบ่ง เมื่อคู่แข่งมวยรองประสบความสำเร็จได้จากการมีอะไร BONUS SUKI ขอมีสิ่งนั้นเหมือนกัน ทั้งการตกแต่งร้าน สีสัน แดงสด เมนูหลากหลาย ของทานเล่น เครื่องดื่ม แต่สิ่งที่ BONUS SUKI พยายามสร้างความแตกต่างคือ “รังสรรค์เมนูซิกเนเจอร์” ให้กับร้าน อย่าง “สลัชชี่ชาไทย” ที่กลุ่มนักรีวิวไปลิ้มลองวันแรกมีการกล่าวถึง
คู่แข่งเขย่าบัลลังก์ ไล่จี้ยอดขายรดต้นคอ
ปี 2567 MK GROUP มีรายได้รวมจากการขายและบริการ 15,418 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,442 ล้านบาท ในส่วนของรายได้ “เอ็มเค สุกี้” ทำเงินสัดส่วน 72% หรือเท่ากับ 11,100 ล้านบาท ทำให้เห็นว่า “คู่แข่งสำคัญ” อย่าง “สุกี้ตี๋น้อย” กำลังเขย่าบัลลังก์เบอร์ 1 สุกี้อย่างหนัก ชนิดที่ “หายใจรดต้นคอ” ด้วยซ้ำ
โครงสร้างรายได้ MK GROUP
อย่างไรก็ตาม การแลกอาวุธร้านสุกี้เวลานี้คือ “ห้ำหั่นด้วยราคาต่ำ” ที่น่าสนใจคือการซื้อวัตถุดิบเนื้อสัตว์ต่างๆ ผัก ฯ สร้างอำนาจต่อรองให้ “ราคายุติธรรม” แค่ไหน แน่นอนว่าการซื้อปริมาณมาก ย่อมได้ต้นทุนที่ต่ำ ร้านอาหารนำไปทำธุรกิจให้ได้ Economy of Scale ส่วน “เครื่องดื่ม” ที่เป็น “ตัวทำกำไร” แต่การสู้ด้วยราคา ธุรกิจจะยั่งยืนแค่ไหน
สำหรับศึกสงครามหม้อร้อน “สุกี้” ยกใหม่ ผลลัพธ์จะออกมาหน้าไหน ต้องติดตาม ซึ่งเร็วๆนี้คงเห็นภาพ เพราะผลประกอบการไตรมาส 2 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯทยอยรายงานแล้ว คงได้เห็นทั้ง “เอ็มเค สุกี้” และ “สุกี้ตี๋น้อย” ใครแกร่งในเกมเดือด!