‘กสทช.’ ดันแพ็กเกจ ‘ธงฟ้า’ ดัมพ์ราคาต่ำกว่า 240 บาทต่อเดือน
วันนี้ (16 ก.ค.) นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. ได้วางแนวทางการกำหนดและกำกับดูแลโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ โดยจะจัดทำร่างประกาศ กสทช. ฉบับใหม่ เพื่อเป็นแนวทางกำกับดูแลค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้สอดคล้องกับสภาพตลาด การแข่งขัน และต้นทุนที่มีการเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเป็นการดูแลผู้บริโภคให้มีทางเลือกในการใช้งาน โดยกำหนดรายการส่งเสริมการขายหลักขั้นเริ่มต้น หรือ แพ็กเกจธงฟ้า ให้ถูกกว่า 240 บาทต่อเดือน ซึ่งรวมเฉพาะบริการเสียงและอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่เท่านั้น ไม่รวมบริการเอสเอ็มเอส และเอ็มเอ็มเอส
“กสทช. จะจัดทำร่างประกาศใหม่ เพื่อทดแทนฉบับเดิม ที่ใช้ตั้งแต่ปี 63 โดยจะนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ทั้งจากผู้ให้บริการมือถือและประชาชนผู้บริโภค ว่าแพ็กเกจจะมีราคาเท่าไร และมีค่าโทรฯ กี่นาที และอินเทอร์เน็ตจำนวนเท่าไร จากนั้นจะนำข้อมูลมาเสนอความเห็นชอบต่อ กสทช. เพื่อออกเป็นประกาศบังคับใช้ได้ ภายในสิ้นปีนี้”
นายไตรรัตน์ กล่าวต่อว่า การกำหนดค่าบริการใหม่ที่ปรับลดลงนั้น มาจากการนำรายรับเฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือนจากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ได้รับจากผู้ใช้บริการรายเดือนและเติมเงินมาคำนวณ ซึ่งผู้ใช้บริการจะได้ค่าใช้บริการที่ถูกลงสำหรับบริการพื้นฐานที่จำเป็นคือ การโทรฯ และการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเคลื่อนที่ นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. ได้เสนอแนวทางให้ผู้ให้บริการมีรายการส่งเสริมการขายหลักขั้นเริ่มต้น หรือ แพ็กเกจธงฟ้าอย่างน้อย 2 ประเภท ได้แก่ บริการแบบจ่ายตามการใช้งาน และบริการแบบเหมาจ่าย ซึ่งการทบทวนโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์มือถือในครั้งนี้ จะเป็นการส่งเสริมให้การให้บริการของโทรคมนาคมเกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม คงไว้ซึ่งประสิทธิภาพ และเป็นเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภคอย่างแท้จริง
“การทบทวนโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์มือถือในครั้งนี้ ดำเนินการโดยได้คำนึงถึงต้นทุนที่แท้จริงของผู้ให้บริการ และประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ เพิ่มความโปร่งใสในการกำหนดราคาและเสนอขายแพ็กเกจสำหรับผู้ใช้บริการที่มีความหลากหลาย ภายใต้การแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงของตลาดเทคโนโลยี ทั้งนี้ยังครอบคลุมถึงการกำหนดอัตราค่าบริการตามสิทธิการใช้งานตามแพ็กเกจ และอัตราค่าบริการส่วนเกินที่ผู้ใช้บริการต้องจ่ายเมื่อใช้เกินสิทธิจากแพ็กเกจ นอกเหนือจากการที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีคลื่นความถี่ทุกราย ต้องมีแพ็กเกจที่ส่งเสริมการเข้าถึงบริการ เหมือนสินค้าธงฟ้า ที่เป็นทางเลือกที่ประหยัดค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ใช้บริการ” นายไตรรัตน์ กล่าว