เฉลยแล้ว!! ทำไม "รถยนต์ไฟฟ้า" ถึงทำให้เวียนหัว–คลื่นไส้ ไม่เกี่ยวคลื่นแม่เหล็กแบบที่คิด
นักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายแล้วว่า ทำไมหลายคนถึงรู้สึกเวียนหัว คลื่นไส้ เมื่อนั่งรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งที่ไม่เคยมีปัญหาใดๆ กับการเดินทางนานหลายชั่วโมงในรถยนต์น้ำมันมาก่อน
ตรงกันข้ามกับความเข้าใจผิดที่มีอยู่บ้างในสังคม ปัญหาเวียนหัวเมื่ออยู่ในรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ได้เกิดจากสนามแม่เหล็กจากแบตเตอรี่หรือระบบไฟแรงสูงของรถ แม้ว่าแรงแม่เหล็กของรถไฟฟ้าจะสูงกว่ารถยนต์น้ำมัน แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัยและไม่ส่งผลต่อสุขภาพ แม้จะสัมผัสในระยะยาวก็ตาม ส่วนปัญหาจริงคือสมองยัง “ไม่คุ้น” กับวิธีการเคลื่อนไหวแบบใหม่
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี Belfort-Montbéliard ประเทศฝรั่งเศส ระบุว่า สาเหตุหลักของอาการเวียนหัวในรถไฟฟ้ามาจากความไม่คุ้นเคยของสมองกับ “พลศาสตร์การขับเคลื่อน” แบบใหม่ของรถประเภทนี้ เช่น การเร่งและการเบรกที่แตกต่างจากรถยนต์น้ำมันอย่างชัดเจน
Dr.William Emond นักวิจัยระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่า“เมื่อเราคุ้นชินกับรถน้ำมัน สมองจะเรียนรู้จากสัญญาณต่างๆ เช่น เสียงเครื่องยนต์ การสั่น ความรู้สึกของแรงบิด ฯลฯ แต่ในรถไฟฟ้า สิ่งเหล่านั้นหายไปหมด สมองเลยต้องเริ่มปรับตัวใหม่ทั้งหมด”
พูดง่ายๆ ก็คือ สมองและหูของเรายังไม่ทันปรับตัวกับรูปแบบการขับขี่ของรถไฟฟ้า ที่ทั้งเงียบและนุ่มนวลเกินไป ทำให้ไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้าเวลารถกำลังเร่งหรือชะลอ ผลคือเกิดอาการเวียนหัว คลื่นไส้ หรือเสียการทรงตัว เพราะสมอง “รับรู้ช้ากว่าความเป็นจริง”
อีกหนึ่งปัจจัยที่อาจมีส่วนทำให้เวียนหัวได้ก็คือ ระบบเบรกแบบใช้พลังงานกลับคืน (regenerative braking) ที่รถไฟฟ้าส่วนใหญ่ติดตั้งไว้ โดยเมื่อคนขับถอนคันเร่ง รถจะชะลอความเร็วทันที เพื่อเปลี่ยนพลังงานจลน์ให้กลับไปชาร์จแบต ไม่ได้ “ไหล” ต่อเนื่องเหมือนรถน้ำมัน แม้จะชะลออย่างนุ่มนวลและต่อเนื่อง แต่การชะลอความเร็วถี่ๆ หรือใช้แรงเบรกหนัก อาจเพิ่มระดับอาการเมารถได้อย่างมีนัยสำคัญ
จากผลวิจัยของ InsideEVs ในปี 2024 ที่ทดลองกับกลุ่มคนที่ไวต่ออาการเมารถ พบว่า “ยิ่งเบรกแรง ยิ่งทำให้ผู้โดยสารมีอาการเมามากขึ้น” สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า “สัญญาณการเคลื่อนไหว” มีความสำคัญต่อสมองในการประมวลผล และเป็นแนวทางสำคัญสำหรับการออกแบบระบบเบรกและอินเตอร์เฟซของรถในอนาคต
นักวิจัยแนะนำว่าการเพิ่มสัญญาณช่วยเตือน ให้สมองสามารถ “คาดการณ์” การเคลื่อนไหวของรถ คือแนวทางลดอาการเมารถในรถไฟฟ้าได้ เช่น หน้าจออินโฟเทนเมนต์ที่แสดงภาพเคลื่อนไหวของรถ, ไฟ ambient light ที่เปลี่ยนสีก่อนเร่ง/เบรก, การสั่นเบาๆ ที่เบาะหรือพวงมาลัย เพื่อเตือนก่อนการเปลี่ยนจังหวะ ทั้งหมดนี้ช่วยให้สมองรับรู้ว่า “กำลังจะมีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้น” และช่วยลดอาการมึนหัวหรือเมารถได้อย่างมีประสิทธิภาพ