“พาณิชย์”แนะผู้ประกอบการ ดัน Soft Power สมุนไพรไทย รุกตลาดโลก
สนค.ติดตามสถานการณ์และแนวโน้มการค้าสินค้าสมุนไพรโลก พบเติบโตต่อเนื่อง จีนเป็นตลาดค้าปลีกที่ใหญ่สุด ตามด้วยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเยอรมนี ส่วนไทยอยู่ลำดับที่ 10 เผยจีนยังเป็นผู้ส่งออกพืชสมุนไพร และสารสกัดจากสมุนไพรอันดับหนึ่งของโลก อินเดียนำส่งออกน้ำมันหอมระเหย แนะไทยใช้จุดแข็งมีสมุนไพรหลากหลาย มีภูมิปัญญา ดันเป็น Soft Power รุกตลาดโลก
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์และแนวโน้มการค้าสินค้าสมุนไพร จากข้อมูลของ Euromonitor บริษัทวิจัยตลาดระดับโลก พบว่า ในปี 2567 มูลค่าการค้าปลีกสินค้าสมุนไพรในตลาดโลกสูงถึง 60,589.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.6% และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจนแตะระดับ 78,395.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2572 โดยตลาดค้าปลีกรายใหญ่ 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่ 1.จีน มูลค่า 19,569.3 ล้านเหรียญสหรัฐ 2.สหรัฐฯ 9,809.5 ล้านเหรียญสหรัฐ 3.ญี่ปุ่น 2,953.7 ล้านเหรียญสหรัฐ 4.เกาหลีใต้ 2,679.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 5.เยอรมนี 2,159.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนไทยมีมูลค่า 1,265.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.1% อยู่อันดับที่ 10 ของโลก
สำหรับข้อมูลการค้าสินค้าสมุนไพรของโลก ประกอบด้วย 3 กลุ่มสินค้าหลัก ได้แก่ 1.พืชสมุนไพร มีมูลค่าการส่งออกทั่วโลก 4,562.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศผู้ส่งออกสำคัญ คือ จีน สัดส่วน 21.5% ของมูลค่าการส่งออกของโลก อินเดีย 11.9% และแคนาดา 7.5% และมีมูลค่าการนำเข้าทั่วโลกอยู่ที่ 4,500.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศผู้นำเข้าสำคัญ คือ สหรัฐฯ สัดส่วน 12.3% ของมูลค่าการนำเข้าของโลก เยอรมนี 10.8% และจีน 7.5% ส่วนไทยมีมูลค่าการนำเข้า 30.2 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าเป็นอันดับที่ 29 ของโลก สัดส่วน 0.7% และมีมูลค่าการส่งออก 18.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งออกเป็นอันดับที่ 42 ของโลก สัดส่วน 0.4% โดยไทยขาดดุลการค้าสินค้าพืชสมุนไพร 11.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
2.สารสกัดจากสมุนไพร มีมูลค่าการส่งออกทั่วโลก 8,345.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศผู้ส่งออกสำคัญ คือ จีน สัดส่วน 26.2% ของมูลค่าการส่งออกของโลก อินเดีย 12.0% และสหรัฐฯ 7.5% และมีมูลค่าการนำเข้าทั่วโลก 7,955.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศผู้นำเข้าสำคัญ คือ สหรัฐฯ สัดส่วน 21.1% ของมูลค่าการนำเข้าของโลก เยอรมนี 7.6% และจีน 4.4% ส่วนไทยมีมูลค่าการนำเข้า 140.7 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าเป็นอันดับที่ 17 ของโลก สัดส่วน 1.8% และมีมูลค่าการส่งออก 11.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งออกเป็นอันดับที่ 39 ของโลก สัดส่วน 0.1% โดยไทยขาดดุลการค้าสินค้าสารสกัดสมุนไพร 129.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
3.น้ำมันหอมระเหย มีมูลค่าการส่งออกทั่วโลก 6,381.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศผู้ส่งออกสำคัญ คือ อินเดีย สัดส่วน 14.3% ของมูลค่าการส่งออกของโลก สหรัฐฯ 11.8% และบราซิล 9.1% และมีมูลค่าการนำเข้าทั่วโลก 6,325.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศผู้นำเข้าสำคัญ คือ สหรัฐฯ สัดส่วน 20.4% ของมูลค่าการนำเข้าของโลก เยอรมนี 8.3% และฝรั่งเศส 8.3% ส่วนไทยมีมูลค่าการนำเข้า 36.9 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าเป็นอันดับที่ 25 ของโลก สัดส่วน 0.6% และมีมูลค่าการส่งออก 20.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งออกเป็นอันดับที่ 33 ของโลก สัดส่วน 0.3% โดยไทยขาดดุลการค้าสินค้าน้ำมันหอมระเหย 16.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายพูนพงษ์กล่าวว่า จากข้อมูลข้างต้น สะท้อนว่าแม้ประเทศไทยจะมีศักยภาพด้านสมุนไพร แต่ก็เป็นผู้นำเข้าสุทธิในทุกกลุ่มสินค้าสมุนไพร โดยเฉพาะกลุ่มสารสกัดที่ไทยมีมูลค่าการนำเข้าสูงกว่าทุกกลุ่ม เนื่องจากต้องใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในหลายอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยกระบวนการผลิตมีความซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้ไทยจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก สำหรับด้านการส่งออก จากมูลค่าการส่งออกของไทยใน 3 กลุ่มสินค้าหลัก (พืชสมุนไพร สารสกัดจากสมุนไพร และน้ำมันหอมระเหย) พบว่า ไทยยังมีสัดส่วนการส่งออกในตลาดโลกค่อนข้างต่ำ โดยมีสินค้าน้ำมันหอมระเหยเป็นกลุ่มที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกสูงสุด
อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยมีการนำสมุนไพรไทยไปใช้เป็นวัตถุดิบในหลายอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอาหารและเครื่องดื่ม อาหารเสริม ยา เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์นวดแผนไทยและสปา และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ ซึ่งไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ขั้นปลายเหล่านี้ที่มีส่วนผสมของสมุนไพร แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการจัดหมวดหมู่ในระบบพิกัดศุลกากรของสินค้าสมุนไพรที่ไม่แน่ชัด จึงไม่สามารถจัดเก็บมูลค่าการส่งออกของสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยได้ทั้งหมด โดยหน่วยงานภาครัฐไทยตระหนักถึงข้อจำกัดนี้ และกรมศุลกากรอยู่ระหว่างจัดทำพิกัดรหัสสถิติ เพื่อให้สามารถจัดเก็บมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้มีข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนในการกำกับติดตาม เพื่อกำหนดนโยบายและมาตรการขับเคลื่อนสมุนไพรไทยได้อย่างเหมาะสม
“สมุนไพรไทยไม่เพียงเป็นมรดกภูมิปัญญาของชาติ แต่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูง ประเทศไทยมีจุดแข็งรอบด้าน ทั้งด้านสายพันธุ์พืชสมุนไพรที่หลากหลาย การใช้สมุนไพรในวิถีดั้งเดิมของชุมชน และการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ หากสามารถบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ด้วยแนวคิดร่วมสมัย จะเป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ของไทย และสอดคล้องกับแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน”นายพูนพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประกาศใช้ Key Message “Think Wellness Think Thai Herb คิดถึงสุขภาพ คิดถึงสมุนไพรไทย” ในการประชาสัมพันธ์สมุนไพรไทยและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย เพื่อร่วมกันสร้างการรับรู้ สร้างภาพลักษณ์ที่ดี สะท้อนคุณค่าและความน่าเชื่อถือ ตลอดจนส่งเสริมสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ซึ่งจะสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป และยังสอดรับกับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่มุ่งผลักดันแนวคิด “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยช่วยไทย” ซึ่งสนับสนุนการใช้วัตถุดิบในประเทศ ส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นให้มีมูลค่าสูง และกระตุ้นการบริโภคอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโตไปพร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกคน
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO