ทรงกลมสุดล้ำในลิทัวเนีย นวัตกรรมผสานธรรมชาติ สะท้อนวิสัยทัศน์สถาปัตยกรรมล้ำสมัย
วายซีแอล อาร์คีเทคชูรอล สตูดิโอ (YCL architectural studio) สร้างสรรค์ วิลล่า โอ (Villa O) ที่พักอาศัยขนาด 237 ตารางเมตร ซึ่งท้าทายแนวคิดการออกแบบดั้งเดิมด้วยรูปทรงกระบอก ที่มีฐานเป็นรูปวงกลม และบูรณาการพื้นที่สีเขียวเข้ากับโครงสร้างหลักอย่างลงตัว
ที่มาของภาพ
YCL
วิลล่า โอ (Villa O)
วิลล่า โอ (Villa O) ตั้งอยู่บนพื้นที่ริมทะเลสาบที่งดงามในประเทศลิทัวเนีย โดดเด่นด้วยการออกแบบที่แตกต่างจากอาคารทรงสี่เหลี่ยมทั่วไป ด้วยผังวงกลมและโครงสร้างรูปทรง "บวก" ตรงกลางซึ่งแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็นสี่ส่วนหลัก
ที่มาของภาพ
YCL
นักสถาปนิกชาวลิทัวเนีย Tomas Umbrasas, Aidas Barzda และ Tautvydas Vileikis ได้ออกแบบให้บ้านตั้งอยู่บนจุดที่สูงที่สุดของที่ดิน เพื่อมอบทัศนียภาพแบบพาโนรามาได้โดยรอบ
ที่มาของภาพ
YCL
รูปลักษณ์ภายนอกอาคาร
ภายนอกของ Villa O ถูกหุ้มด้วยวัสดุที่คัดสรรมาอย่างเรียบง่าย ได้แก่ ไม้ปรับสภาพด้วยความร้อนและคอนกรีต ผนังคอนกรีตที่ลาดเอียงเล็กน้อยสร้างมิติทางประติมากรรมทั้งภายในและภายนอกบ้าน การเอียงของผนังนี้ยังช่วยขยายความรู้สึกของพื้นที่ภายใน และสร้างเงาที่น่าสนใจเมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ตลอดวัน
ที่มาของภาพ
YCL
แม้ว่า Villa O จะเป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและเป็นที่กล่าวถึง แต่ก็ยังมีการตั้งคำถามถึงฟังก์ชันการใช้งานในบางประเด็น อาทิ รูปทรงวงกลมที่อาจทำให้การจัดวางเฟอร์นิเจอร์แบบดั้งเดิมเป็นไปได้ยาก รวมถึงการบำรุงรักษาลานภายในแบบซันเคน (Sunken Courtyard Maintenance) หรือการดูแลรักษาลานหรือพื้นที่ภายในอาคารที่ถูกออกแบบให้มีระดับต่ำกว่าพื้นที่โดยรอบโดยพื้นที่แบบนี้มักใช้เพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัว ระบายอากาศ หรือสร้างบรรยากาศใกล้ชิดธรรมชาติ เช่น ลานกลางบ้านในช่วงฤดูหนาวที่มีหิมะตกหนักของประเทศลิทัวเนีย
การออกแบบภายใน
ภายใน Villa O เน้นแนวคิดแบบมินิมอลลิสต์ โดยมีปีกอาคารสองส่วนสำหรับห้องนอน หนึ่งส่วนสำหรับแขก และอีกส่วนเป็นสปาส่วนตัว พื้นที่ส่วนกลางของบ้านเป็นแบบเปิดโล่งที่รวมห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร ห้องนั่งเล่น และโถงทางเข้าเข้าไว้ด้วยกันอย่างราบรื่น แต่ละส่วนของโครงสร้างรูป "บวก" จะเปิดรับทัศนียภาพที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นทะเลสาบ ป่าไม้ ทุ่งนา หรือถนนเบื้องล่าง
ที่มาของภาพ
YCL
จุดเด่นสำคัญของ Villa O คือ ลานภายในแบบซันเคน (sunken courtyards) กึ่งเปิดโล่งสี่แห่งที่ถูกแกะสลักเข้าไปในโครงสร้างโดยตรง ลานภายในเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มแสงธรรมชาติให้ส่องเข้ามาภายในได้อย่างเต็มที่ แต่ยังมอบความเป็นส่วนตัว และเป็นวิธีการอันชาญฉลาดในการนำธรรมชาติเข้ามาสู่ภายในบ้าน โดยไม่บิดเบือนรูปทรงเรขาคณิตแบบวงกลมของตัวอาคาร
ที่มาของภาพ
YCL
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- “สัปปายะสภาสถาน” อาคารรัฐสภาไทย ใหญ่สุดในโลกจริงหรือ?
- รมว.วธ. ปลื้ม! ชวนปชช.ร่วมยินดี สถาปัตยกรรมไทยสวยอันดับ 2 ของเอเชีย
- ไทย ครองอันดับ 2 ประเทศที่มี "สถาปัตยกรรมสวยที่สุดของเอเชีย"
- นวัตกรรมบ้านในญี่ปุ่น พร้อมกำแพงคอนกรีตดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์
- “จอมปลวก” สร้างแรงบันดาลใจ เตรียมใช้เป็นต้นแบบอาคารรักษ์โลก