"มนพร" ตอกย้ำ "20 บาทตลอดสาย" ดันแลนด์บริดจ์-ไฮสปีด ปลดล็อกเศรษฐกิจไทย ขึ้นแท่นฮับโลก
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงานสัมมนาปลดล็อกอนาคตประเทศไทย สู้วิกฤตโลก ว่า สำหรับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท นั้นถือเป็นนโยบายในการพัฒนาด้านระบบขนส่งทางรางที่ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างมิติเศรษฐกิจ ให้กับคนกรุงเทพฯ
"ยอมรับว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ยากแต่ไม่เกินความสามารถของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย" นางมนพร กล่าว
ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมภายใต้การดูแลของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการนโยบายรถไฟ 20 บาท
โดยเริ่มนำร่อง 2 สายแรกคือ รถไฟฟ้าสายสีม่วงและรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งพบว่าสถิติผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2สาย เพิ่มขึ้น 30%
"จากนโยบายนี้ทำให้เราเห็นโอกาสที่จะทำให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการใช้บริการหรือรถไฟฟ้าในราคา 20 บาท ตลอดสายได้" นางมนพร กล่าว
อย่างไรก็ดีการเดินหน้านโยบายดังกล่าวจะต้องเร่งผลักดันผ่านร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ,ร่างพ.ร.บ.กรมรางฯ และร่างพ.ร.บ. รฟม. คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯในวาระที่ 2และวาระที่ 3 ภายในเดือนสิงหาคมนี้
นางมนพร กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่จะนำภาษีประชาชนมาใช้กับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทให้กับคนในกรุงเทพฯนั้น
ในปีงบประมาณ 2567 พบว่ารายได้การจัดเก็บภาษีของรัฐบาลในกรุงเทพฯ สามารถจัดเก็บภาษีได้ 48-49% ภาคเหนือ 1.9% ภาคอีสาน 2.8% และภาคใต้ 1.6%
เพราะฉะนั้นเราเป็นรัฐเดียวที่บริหารรายได้จากเงินภาษีของรัฐบาล ฃึ่งคนส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯเป็นคนต่างจังหวัดที่เข้ามาอาศัยในพื้นที่ดังกล่าว
นอกจากนี้รัฐเตรียมเดินหน้าสร้างระบบขนส่งมวลชนรอง (ฟีดเดอร์) เบื้องต้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติจัดหาเช่ารถเมล์อีวี เพื่อให้บริการในกรุงเทพฯและปริมณฑล
ซึ่งจะช่วยลดมลพิษทางอากาศและฝุ่น PM 2.5 ตลอดจนเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าทุกสาย เชื่อว่านโยบายเหล่านี้จะช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชนได้
นางมนพร กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคมที่จะช่วยเปลี่ยนโลก คือ โครงการแลนด์บริดจ์ ที่มีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการพัฒนาเขตเศรษฐกิจทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช
โดยโครงการนี้ถือเป็นการขนส่งทางทะเลที่มีต้นทุนต่ำ
อย่างไรก็ดีภายในโครงการแลนด์บริดจ์ ประกอบด้วย การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่จังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง
ตลอดจนการก่อสร้างรถไฟทางคู่และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์ )
ทั้งนี้การก่อสร้างในระยะที่ 1 มีมูลค่า 5 แสนล้านบาท และทยอยก่อสร้างในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ต่อไป โดยสิ่งหนึ่งที่สำคัญนอกจากโครงการนี้คือการพัฒนาพื้นที่หลังท่าเรือ
โดยปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างการผลักดันร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ
นางมนพร กล่าวต่อว่า ขณะนี้พบว่ามีนักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจที่จะร่วมลงทุนในโครงการนี้ด้วย ซึ่งจะเป็นมิติในการสร้างการแข่งขันทางทะเลและช่วยลดต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์
ขณะเดียวกันยังคงผลักดันการพัฒนารถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ซึ่งความเจริญไม่ได้มีแค่เฉพาะในกรุงเทพฯเท่านั้น
โดยครอบคลุมการขนส่งในภูมิภาค เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯนครราชสีมา และในระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ที่สามารถเชื่อมต่อการขนส่งไปยังประเทศสปป.ลาว และจีน
อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาครม.มีมติอนุมัติสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เพื่อเชื่อมภาคตะวันออก ซึ่งจะเป็นการขยายสร้างมิติการขนส่งทางรางที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการแข่งขันของโลก
"เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างพื้นฐานของคมนาคม จะเป็นตัวปลดล็อควิกฤตของประเทศไปสู่ความมั่นคงและความยั่งยืน ตลอดจนสร้างโอกาสให้ประชาชน สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างการแข่งขันให้ประเทศอีกครั้ง" นางมนพร กล่าว