ลุ้นเสนอชื่อ ผู้ว่าฯ ธปท.คนใหม่ เข้าครม. 15 ก.ค.68
ลุ้นกันต่อ “พิชัย” รมว.คลัง ชงชื่อ ผู้ว่าฯ ธปท. คนใหม่เข้า ครม.สัปดาห์หน้า 15 ก.ค. 68 ชิงระหว่าง “วิทัย - ดร.รุ่ง”
ย้อนไปเมื่อ 24 มิ.ย.2568 คณะกรรมการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พิจารณาสรุปบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวน 2 รายชื่อ เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา คือ ดร. รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. และ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน
ล่าสุด 9 ก.ค. 2568 รายงานข่าวจากระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รมว.คลังเตรียมจะเสนอชื่อผู้ว่าธปท.คนใหม่เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้านี้ (15 ก.ค.2568) ซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติที่ครบถ้วน มีความรู้ความสามารถ สามารถประสานนโยบายการเงินและนโยบายการคลังได้
เปิดประวัติ แคนดิเดต ผู้ว่าธปท.ลำดับที่ 25
วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน อายุ 53 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระดับปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สาขากฎหมายธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ปริญญาโท การเงิน Drexel University, U.S.A.
ปัจจุบัน วิทัย ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2563 โดยประกาศการยุทธศาสตร์ธนาคารออมสิน เป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” หรือ Social Bank ภารกิจแรกคือการรุกตลาดจำนำธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์และรถยนต์ เพื่อกดดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนในตลาดให้ลดลง
ขณะที่ยังได้ประกาศหลักการดำเนินธุรกิจของธนาคารออมสิน ในการนำกำไรส่วนหนึ่งจากการประกอบธุรกิจปกติ มาสนับสนุนการดำเนินธุรกิจเชิงสังคม ปรับบทบาทธนาคารเป็นธนาคารที่ไม่มุ่งเน้นกำไรสูงสุดแต่นำปัจจัยการช่วยเหลือสังคมปรับเข้ามาสู่การทำธุรกิจ เพื่อสร้างกำไรและสร้างรายได้ เพื่อสร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
นอกจากนี้ยังได้ดำเนินมาตรการแก้หนี้มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้ทำมาตรการแฮร์คัทหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อยตามโครงการรัฐบาล เพื่อดึงลูกหนี้กลุ่มเปราะบางให้สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้อีกครั้ง โดยดำเนินการเพียงครั้งเดียวเพื่อไม่ให้ลูกหนี้ต้องเสียวินัยทางการเงิน
วิทัย ได้ต่อวาระนั่งผู้อำนวยการธนาคารออมสินอีก 1 วาระ เป็นระยะเวลา 4 ปี ถึง เดือน มิ.ย. 2571 ก่อนหน้านี้เคยมีประสบการทำงานที่ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) , ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
ด้าน ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส อายุ 57 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกรรมการในคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (กกธ.) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.)
ดร.รุ่ง ทำงานที่ ธปท. มานานกว่า 20 ปี มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่ครอบคลุมทั้งด้านนโยบายการเงิน การกำกับดูแลสถาบันการเงิน และการบริหารองค์กร โดยดร.รุ่งเคยเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน และผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร
รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน และผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ซึ่งมีส่วนร่วมสำคัญในการวางกลยุทธ์ของ ธปท. ผ่านมาตรการตลาดการเงินและการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจการเงินทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต
นอกจากนี้ ดร.รุ่ง มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อน “ภูมิทัศน์ภาคการเงินไทย” ซึ่งมุ่งสร้างภูมิทัศน์ทางการเงินใหม่สำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืนของไทย และนำไปสู่การพัฒนาโครงการ Your Data การจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) รวมถึงการยกระดับกลไกการค้ำประกันเครดิต (NaCGA) ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของไทย
นอกจากนี้ ดร.รุ่ง มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการผลักดัน “แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน” และขับเคลื่อนมาตรการแก้หนี้ต่าง ๆ เช่น โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” และยังผลักดันการยกระดับมาตรฐานในการดูแลภัยทุจริตทางการเงินและกวาดล้างบัญชีม้า
ดร.รุ่ง ยังมีบทบาทในภาคการเงินผ่านการดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันชีวิต (กปช.) คณะกรรมการบริหารกองทุนประกันวินาศภัย (กปว) คณะกรรมการกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) คณะกรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) กรรมการบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Global Business and Strategy บมจ. ธนาคารกรุงไทยในช่วงปี 2560-2562
ดร.รุ่ง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา และระดับปริญญาเอก ด้านเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT)