สุดาวรรณแถลงนโยบายกระทรวง อว. เปิดโครงการ ‘1 มหาวิทยาลัย 1 ภารกิจ เพื่อท้องถิ่น’ เดินหน้าพัฒนากำลังคน
วันนี้ (9 กรกฎาคม) สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้แถลงนโยบายการขับเคลื่อนกระทรวง โดยมี ศ.ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. และผู้บริหารกระทรวง อว. เข้าร่วม
สุดาวรรณ กล่าวว่า ตั้งใจที่จะทำให้งาน อว. เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำให้ประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางและเปลี่ยนโครงสร้างไปสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่และมีมูลค่าสูง ซึ่งต้องอาศัยกำลังคนทักษะสูง การวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ การสร้างผู้ประกอบการ หรือ Tech Start-up ให้กับประเทศ ซึ่งต้องอาศัยมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยต่างๆ เข้ามาช่วยสนับสนุนเตรียมคน พัฒนาทักษะกำลังคน และการใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยีใหม่ๆ
สุดาวรรณ กล่าวว่า นโยบายการทำงานของกระทรวง อว. จะแบ่งเป็น 2 ด้าน
ด้านแรก คือ การพัฒนากำลังคน ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอุดมศึกษาของคนในประเทศ ได้แก่
ส่งเสริมทุนเพื่อการเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา เช่น การอุดหนุนค่าสมัครการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS) เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา คาดว่าจะมีนักเรียนและผู้ปกครองได้รับประโยชน์กว่า 733,750 คน ทุนเพื่อเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ทุน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และทุนอื่นๆ อีกจำนวน 7,900 ทุน
ทุนเพื่อให้โอกาสเรียนปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก สำหรับเด็กเรียนดี จำนวน 2,800 ทุน โดยปรับเงื่อนไขการรับทุนการชดใช้ทุน เพื่อให้ผู้รับทุนสามารถสร้างประโยชน์ในภาคเอกชนนอกเหนือจากภาครัฐอย่างเดียว
ทุนเพื่อพัฒนากำลังคนเฉพาะทางในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศอย่างเร่งด่วน เช่น ด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ด้าน AI ด้าน EV รวมถึง Soft Power เป็นต้น
ด้านที่สอง คือ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ซึ่งกระทรวง อว. มีกองทุนส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม ที่ได้รับงบประมาณ 19,828 ล้านบาท โดยขอให้เน้นประสิทธิภาพในการบริหารกองทุน การจัดสรรทุน การจัดสรรงบประมาณไปยังหน่วยให้ทุน และจากหน่วยให้ทุนไปยังมหาวิทยาลัยและนักวิจัย ต้องมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมในทุกมิติ
“ที่สำคัญ ดิฉันและทั้งองคาพยพของกระทรวง อว. จะร่วมกันสร้าง ‘1 มหาวิทยาลัย 1 ภารกิจ เพื่อท้องถิ่น’ เป็นการดึงศักยภาพทั้งกำลังของคนและวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของกระทรวง มาสร้างการพัฒนาในระดับพื้นที่ หลังจากนี้แต่ละหน่วยงาน จะเข้าไปดูว่าในแต่ละพื้นที่ที่ดูแลมีปัญหาอะไรที่ควรจะเข้าไปดูแลจัดการ และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น ปัญหาผลผลิตเกษตรตกต่ำ ปัญหาสภาพดิน ปัญหาโรคพืช ปัญหาแปรรูปสินค้า ปัญหา PM 2.5 ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง คุณภาพน้ำ ปัญหาขยะ เป็นต้น” สุดาวรรณ กล่าว