“อิ๊งค์” ไม่ง่าย ฝ่ามรสุม “ลาออก” หรือ “ยุบสภา”
ศึกใหญ่ "อิ๊งค์" ยุบสภาหรือลาออก ชี้ชะตาทิศทางประเทศ
ไม่ง่ายเลยจริง ๆ สำหรับเส้นทางการเมืองในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ "น.ส.แพทองธาร ชินวัตร" บุตรสาวของ "อดีตนายกฯทักษิณ" ที่ในวันนี้กำลังเผชิญกับบททดสอบครั้งใหญ่ "วิกฤตศรัทธา" จากกรณีคลิปเสียงสมเด็จฮุนเซน นำไปสู่กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้อง สว. ปมคลิปเสียงดังกล่าว พร้อมมีมติ 7:2 สั่ง นายกฯแพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่
ขณะเดียวกัน เรื่องของเสถียรภาพรัฐบาลก็ดูจะมีความเสี่ยงมากขึ้นตามลำดับ หลังการถอนตัวร่วมรัฐบาล ของพรรคภูมิใจไทย เพราะถูกมองว่า นี่คือรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ
ดังนั้นการบริหารประเทศภายใต้สมการ "วิกฤตศรัทธา" ของรัฐบาลชุดนี้จะเป็นอย่างไร สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ถาม "รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธพร อิสรชัย" อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในเรื่องนี้ โดย "อ.ยุทธพร" กล่าวว่า ถือเป็นโจทย์ใหญ่มากของรัฐบาล ในการเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนให้กลับมาจากกรณีคลิปเสียง ขณะเดียวกัน การบริหารงานของรัฐบาล ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่จะต้องเร่งแก้ไข แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ากังวลสำหรับรัฐบาลชุดนี้ ก็คือ "นิติสงคราม" ที่ถูกนำมาใช้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
"ณ วันนี้ผมคิดว่า ก็คงเป็นโจทก์ใหญ่มากสำหรับรัฐบาล เพราะว่า ต้องเผชิญกับหลายๆเรื่องพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทั้งความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชนที่ต้องเรียกกลับคืนมา เรื่องของการเผชิญกับแรงต้านรัฐบาล จะเป็นม็อบ หรือว่าจะเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอะไรต่าง ๆ ก็ตามแต่ แล้วก็ยังต้องเผชิญกับเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ แล้วก็เรื่องที่สำคัญที่สุดก็คือนิติสงคราม"
"นิติสงครามก็น่ากังวล เพราะว่าท้ายที่สุดแล้วจะส่งผลอย่างไรต่อรัฐบาล และยังรวมไปถึงสถานการณ์ ในพรรคร่วมรัฐบาล สถานการณ์ของฝ่ายค้าน ต่างๆเหล่านี้ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นต้องบอกว่า ณ วันนี้ ทางรัฐบาล ก็ไม่ง่ายเลยกับการที่จะฝ่ามรสุมตรงนี้ไป"
และเมื่อถาม "อ.ยุทธพร" ถึงความเป็นไปได้ที่นายกรัฐมนตรีจะ "ลาออก" หรือ "ยุบสภา" จะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ ตามที่หลายฝ่ายมีการเรียกร้องกัน เรื่องนี้ "อ.ยุทธพร" มองว่า ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร สุดท้ายก็อาจนำไปสู่เดดล็อกทางการเมือง และรัฐประหารในที่สุด
"คือผมว่า ไม่ว่าจะออกมาในทางใด ประเทศได้รับผลกระทบทั้งสิ้น ถ้านายกฯลาออกและนำไปสู่การเลือกนายกฯใหม่ แล้วไม่ได้ สุดท้ายก็อาจนำไปสู่เดดล็อกทางการเมือง ซึ่งก็เป็นไปได้ที่จะเลือกนายกฯใหม่ไม่ได้ แม้ว่าวันนี้เงื่อนไขของพรรคประชาชนจะเพิ่มเติมเข้ามาจากเดิม คือเดิมบอกว่าจะยุบสภาอย่างเดียว แต่ตอนนี้คือพร้อมที่จะสนับสนุนยกมือให้ใครก็ได้ที่เป็นนายกฯ โดยที่ยอมรับเงื่อนไขอย่างเช่น การแก้ไขธรรมนูญ การทำประชามติ เรื่องนิรโทษต่าง ๆ เหล่านี้เป็นต้น"
"ซึ่งประเด็นตรงนี้ก็ต้องบอกว่าโอกาสที่ ทางพรรคประชาชนจะยกมือให้ใคร ผมว่าก็ยังไม่ง่าย ที่จะมีใครยอมรับเงื่อนไขเหล่านี้ หรือถ้ายอมรับก็ต้องอาศัยเสียงในสภาจากอีกฝากฝั่งหนึ่ง หรือถ้าเป็นทางรัฐบาลอาจจะยกมือคุณชัยเกษม ซึ่งเป็นแคนดิเดตอีกคนของพรรคเพื่อไทย ก็ต้องบอกว่า ไม่ง่ายเหมือนกัน เพราะว่าสถานการณ์ในพรรคร่วมวันนี้ ในบางพรรค ก็ยังไม่นิ่ง เช่นรวมไทยสร้างชาติ ที่อาจจะมีบางกลุ่มที่จะเข้า จะออก อะไรกันอยู่ เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องบอกว่าการลาออก ก็มีโอกาสที่จะนำไปสู่เดดล็อกอยู่ ในขณะที่ยุบสภามองว่าถ้ายุบสภาไปแล้วเลือกตั้งได้ก็ดี แต่ถ้าสุดท้ายแล้วเลือกตั้งไม่ได้ เราก็อาจจะเหมือนกับปี 2557 คือเป็นการเลือกตั้งที่ถูกขัดขวาง และสุดท้ายก็จบลงด้วยรัฐประหาร ซึ่งการรัฐประหาร ณ วันนี้ ไม่ได้จำเป็นต้องบอกว่า
มาในรูปแบบของกายภาพ หรือการใช้กำลังทหาร ใช้รถถัง แต่การรัฐประหารในรูปแบบอื่น ก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น ดังนั้นยุบสภา ก็ยังคงอยู่ในกติกาเดิม คือรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งอาจทำให้รูปโฉมการเมืองไม่ได้เปลี่ยนอะไรมากนัก เพราะกติกายังเหมือนเดิม ดังนั้นไม่ว่าจะไปในทางไหน ผมว่ามีผลกระทบต่อประเทศชาติบ้านเมืองด้วยกันทั้งสิ้น"
จากนี้ต่อไปจะต้องจับตาประเด็นการเมืองซึ่งอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนสูงอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเอพภาพของพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งการเดินหน้าทำงานของ ครม. ชุดใหม่ การบริหารประเทศของผู้รักษาการแทนนายกฯ ที่จะต้องลุยแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้อง การเจรจาภาษี สหรัฐฯ รวมถึงปมชายแดนและความมั่นคง เพราะทุกสถานการณ์ดังกล่าว ย่อมส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook: https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews