มธ.ร่วมกับ กทปส.ปั้น “AD Creator” หนุนคนพิการทางการเห็นเข้าถึงสื่ออย่างเท่าเทียม
สำนักข่าวไทย Online
อัพเดต 7 กรกฎาคม 2568 เวลา 20.49 น. • เผยแพร่ 3 ชั่วโมงที่ผ่านมา • สำนักข่าวไทย อสมท7 ก.ค. – คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินหน้าโครงการ “ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการผลิตบริการเสียงบรรยายภาพเพื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนพิการ” (Audio Description: AD) ด้วยทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มุ่งเป้าปั้น “นักเล่าภาพ” มืออาชีพ และ “ผู้ตรวจสอบคุณภาพ” เสียงบรรยายภาพ เพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเสียงบรรยายภาพที่จะขยายผลต่อยอดความรู้สู่เครือข่ายและขยายโอกาสในการเข้าถึงสื่ออย่างเท่าเทียม
ปัจจุบันการเข้าถึงเสียงบรรยายภาพ (Audio Description) สำหรับคนพิการทางการเห็นยังคงมีจำกัด เนื่องจากผู้ผลิตมีจำนวนไม่มาก ต้นทุนการผลิตสูง และจากผลสำรวจพบว่า ผู้ผลิตกระจุกตัวอยู่เฉพาะส่วนกลางส่งผลให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสื่อต่าง ๆ ของคนพิการทางการเห็นเป็นไปอย่างยากลำบาก
โครงการนี้จึงเน้นพัฒนาทักษะการผลิต AD เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรม นำความรู้ไปขยายผลให้กับผู้สนใจงานด้านเสียงบรรยายภาพต่อไปได้ ภายใต้แนวคิดสำคัญคือ”Training for Trainer” โดยรับสมัครและคัดเลือก แกนนำผู้ผลิตเสียงบรรยายภาพและแกนนำคนพิการทางการเห็นผู้ตรวจคุณภาพ
รองศาสตราจารย์ ดร.กุลนารี เสือโรจน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและงานสร้างสรรค์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า เสียงบรรยายภาพทางโทรทัศน์ ยังคงมีข้อจำกัดหลายประการในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ ทั้งข้อจำกัดด้านปริมาณรายการที่มีบริการ และอยู่ในรายการที่ไม่หลากหลาย รวมถึงเวลาการออกอากาศที่ไม่เอื้อต่อการเข้าถึง ซึ่งการขยายองค์ความรู้ ในการผลิตและตรวจสอบคุณภาพเสียงบรรยายภาพ จะเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งในการยกระดับสิทธิ ให้คนพิการทางการเห็น ได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารทั้งสาระและบันเทิงในสื่อได้มากขึ้น
โครงการนี้จึงเน้นสร้างเครือข่ายแกนนำทั้งผู้ผลิตและคนพิการทางการเห็น เพื่อให้เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ และขับเคลื่อนการพัฒนาให้กับผู้ที่สนใจ ตลอดจนวางรากฐานสำคัญให้คนพิการทางการเห็น เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างทั่วถึง พร้อม ๆ กับการส่งเสริมให้สังคมตระหนักรู้ในสิทธิในการเข้าถึงสื่ออย่างเท่าเทียมของทุกคน
โดยหลักสูตรการอบรมจะเน้นอบรมเพื่อเป็นผู้ผลิต เขียนบท ลงเสียง ตัดต่อ เเละใช้เทคโนโลยีในการผลิตเสียงบรรยายภาพ ส่วนอีกกลุ่มคือกลุ่มแกนนำตรวจคุณภาพ ผู้สนใจส่วนใหญ่จากสมาคมตาบอดแห่งประเทศไทย กลุ่มองค์กรเพื่อคนพิการ มูลนิธิ รวมถึงคนพิการทางการเห็นที่มีประสบการณ์ใช้บริการเสียงบรรยายภาพอย่างต่อเนื่องและต้องการขยับบทบาทเข้ามาเป็นเเกนนำตรวจคุณภาพประเมินผลอย่างมีหลักการ ทั้งสองกลุ่มจะเข้ารับการอบรมระหว่างเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2568. -416-สำนักข่าวไทย