โบรกชี้สัญญาณเศรษฐกิจอ่อนตัว-กำลังซื้อหด หลังเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 3 เดือน
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากข้อมูลล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2568 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยลดลง 0.57%
ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 6 จาก 137 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข อีกทั้งยังต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม สปป.ลาว
โดยอัตราเงินเฟ้อติดต่อกันต่อเนื่อง 3 เดือน แม้ยังไม่มีสัญญาณเงินฝืด แต่แนวโน้มเดือนกรกฎาคม คาดว่าเงินเฟ้อลดลงอีก อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ ยังคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2568 อยู่ระหว่าง 0.0-1.0 (ค่ากลาง 0.5%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันนั้น
มองว่าอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบอย่างต่อเนื่อง 3 เดือนต่อกัน อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มอ่อนกำลังลงแล้ว ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ในหลายปัจจัย ไม่ว่าจะทั้งด้วยราคาสินค้าที่ลดลง การบริการที่ชะลอตัว หรือเพราะกำลังซื้อที่แย่ลง
สะท้อนถึงสัญญาณความต้องการในประเทศที่กำลังชะลอตัวลง เป็นเหตุให้ในช่วงที่ผ่านมาภาคเอกชนมีการเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกของปี 68 นี้ กนง. มีการปรับลดดอกเบี้ยมาแล้วถึง 2 ครั้ง เหลือ 1.75% ในปัจจุบัน
โดยกว่าที่จะเห็นผลจากการลดดอกเบี้ยลงนั้นก็อาจจะต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 4-6 เดือน เป็นผลให้การประชุมรอบล่าสุด กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.75% ต่อไป เพื่อรอดูผลในช่วงไตรมาสที่ 3/68 และ 4/68 นี้ จึงจะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง
"อีกปัจจัยที่อาจมีผลต่อการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยลงในช่วงที่เหลือของปี 68 นี้ คือ ความชัดเจนการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ หากว่าไทยถูกคิดภาษีนำเข้าในระดับที่สูง จะส่งผลสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศแน่นอน ดังนั้น กนง. ก็อาจต้องใช้ยาแรงเข้ามาช่วย"
ในแง่ของผลกระทบต่อตลาดหุ้นและบริษัทจดทะเบียน (บจ.) นั้น การอ่อนกำลังลงของเศรษฐกิจย่อมมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยร่วมด้วย และจากแนวโน้มกำลังซื้อที่ชะลอตัว ทำให้หลายอุตสาหกรรมมีความเสี่ยง อาทิ คำสั่งซื้อที่ลดลง ยอดการผลิตน้อย และความต้องการใช้ไฟฟ้าในอุตสาหกรรมลดลง เป็นต้น
ส่งผลให้มองว่าทั้งหุ้น GPSC และ BGRIM ที่มีสัดส่วนการขายไฟฟ้าให้กับภาคเอกชนอยู่มากอาจต้องเหนื่อยหนักกว่าหุ้นโรงไฟฟ้าตัวอื่นๆ หน่อย ในทางกลับกันหุ้นดรงไฟฟ้าที่มีการขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้กับหน่วยงานรับซื้อไฟฟ้าของรัฐ (สัญญา IPP) มีความน่าสนใจ และสามารถเป็นที่พักเงินได้ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ RATCH มีความน่าสนใจ
ขณะที่กำลังซื้อที่ชะลอตัวลงนั้น อาจส่งผลกระทบต่อหุ้นค้าปลีกโดยเฉพาะสินค้าฟุ้มเฟือย การใช้จ่ายสินค้าแฟชั่นต่างๆ ที่ลดลง เพราะคนมีเงินน้อยก็ใช้จ่ายน้อยลง และให้ความระมัดระวังในการจัจ่ายมากขึ้น ทำให้ผลการดำเนินงาน CRC ไม่ดีตามไปด้วย
ทั้งนี้ กลยุทธ์การลงทุนอาจต้องกลับไปมองหุ้นที่มีความทนทานในทุกสภาพตลาด ทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง (Defensive Stock) เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าอัตราการเติบโตรวมถึงผลตอบแทนอาจไม่ได้หวือหวานัก แต่ก็มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ ปลอดภัยกว่า
โดย 3 กลุ่มหุ้น "Defensive Stock" ที่มีความน่าสนใจ ได้แก่
- กลุ่มสื่อสาร : แนะนำ ADVANC และ TRUE โดย ADVANC มีกระแสเงินสดที่ค่อนข้างดีกว่าเมื่อเทียบกับ TRUE แต่ TRUE ก็มีจุดเด่นจาก Synergy กับ DTAC อีกทั้งด้วยหนี้สินที่มีค่อนข้างมากในปัจจุบัน มองว่าด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาลง จะหนุนให้ภาระหนี้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลงตามไปด้วย
- กลุ่มค้าปลีกสินค้าอุปโภค-บริโภค : ซึ่งยังคงเป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน แนะนำ CPALL CPAXT และ COM7 แม้ว่าจะเป็นสินค้า IT แต่ก็ไม่ใช่สินค้าฟุ้มเฟือยแบบแฟชั่น อีกทั้งอุปกรณ์ IT โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ยังเป็นเครื่องมือช่วยในการต่อยอดทำมาหากินได้ในปัจจุบัน ทำให้ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง
- กลุ่มโรงพยายาบาล : มองว่ายังน่าจะถือได้อีกหลายตัว ราคาหุ้นที่ผ่านมาได้สะท้อนปัจจัยเชิงลบไปค่อนข้างมากแล้ว จึงเชื่อว่าได้พ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยค่อนข้างมีมุมมองเชิงบวกต่อ BDMS ด้วยมีผลิตภัณฑ์การรักษาโรถที่ครอลคลุมและหลายระดับราคา เหมาะกับช่วงที่เศรษฐกิจกำลังลดลง และ BCH ที่มีจำนวนโรงพยาบาลหลายแห่ง
อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังไม่มีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้เร็ว อีกทั้งยังมีปัจจัยการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีความชัดเจนเข้ามากดดัน ทำให้มองว่าความผันผวนทางเศรษฐกิจ รวมถึงตลาดหุ้นไทยยังคงมีอยู่ ดังนั้นทางฝ่ายแนะนำคงเงินสดไว้ 50% และพอร์ตหุ้น 50%