‘ชวลิต’ เสนอที่ประชุมเชิงปฏิบัติการ ป.ป.ช. กำจัด ‘งูเห่า’ พร้อมเชิญทุกพรรคต่อต้านการทุจริต
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ แนวทางต่อต้านการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลสำหรับนักการเมืองไทย จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
โดย นายชวลิต กล่าวว่า ต้องขอชื่นชมสำนักงาน ป.ป.ช.ที่จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว เชิญผู้แทนพรรคการเมืองและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยมีการถอดบทเรียนการต่อต้านการทุจริตในต่างประเทศ และการรับฟังความเห็นจากนักการเมืองไทยต่อแนวทางการต่อต้านการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล
นายชวลิต กล่าวอีกว่า ได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุม โดยยกเหตุการณ์ที่สร้างทั้งความตระหนก และตระหนักร่วมกันว่า ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร คือกรณีตึก สตง.ถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา โดยถล่มเพียงตึกเดียวในประเทศไทย ซึ่งแสดงว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ที่สำคัญกว่านั้น การทุจริตเกิดกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตเสียเอง แสดงว่า การทุจริตได้แทรกซึมไปในทุกอณูของส่วนราชการและองค์กรในการตรวจสอบอย่างคาดไม่ถึง
นายชวลิต กล่าวอีกว่า การทุจริตไม่ใช่มีเพียงการทุจริตงบประมาณของทางราชการเท่านั้น ที่สำคัญยิ่งและเป็นปัญหาสำคัญที่แก้ไขได้ยากอย่างยิ่ง เป็นการทุจริตทางการเมืองคือ "การทุจริตเลือกตั้ง"
เป็นที่ประจักษ์ว่ามีการใช้เงินในการเลือกตั้งอย่างมโหฬาร ยกตัวอย่างการเลือกตั้งซ่อมจังหวัดหนึ่งในภาคใต้เมื่อเร็วๆ นี้ เมื่อได้รับเลือกตั้ง ก็ย่อมเข้ามาถอนทุน และสะสมทุนเพื่อใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป การเมืองเมืองไทยจึงวนเวียนเป็นวัฏจักรอยู่อย่างนี้ ไม่อาจแก้ไขปัญหาประเทศชาติและความเดือดร้อนของประชาชนได้ หากไม่แก้ไขปัญหาการทุจริตการเลือกตั้งอย่างจริงจัง จะส่งผลให้งบประมาณในการพัฒนาประเทศและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนประชาชน ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้จ่ายไป เสียหายไปกับการทุจริต คอร์รัปชั่นมหาศาล
นายชวลิต กล่าวอีกว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้นำการเมืองในระดับชาติ เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ซึ่งก็คือ นายกรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ใช้งบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนในการบริหารราชการแผ่นดิน การจะปราบปรามการทุจริตเพื่อสร้างความเชื่อมั่นประเทศให้ได้ผล
นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ควรแสดงเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริตอย่างจริงจัง เพื่อส่งสัญญาณไปยังทุกภาคส่วนว่ารัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริต ผู้นำทางการเมืองจำเป็นต้องแสดงเจตจำนงทางการเมืองตั้งแต่ช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งไปจนถึงช่วงแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ขณะเดียวกันการลงโทษต่อผู้ทุจริตต้องเหมาะสมกับโทษานุโทษ เพื่อให้หลาบจำและเป็นการป้องปรามมิให้เอาเป็นเยี่ยงอย่าง
นายชวลิต กล่าวอีกว่า มีประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่นายชวลิต เสนอต่อที่ประชุมว่า ป.ป.ช.ควรมีส่วนสำคัญในการสร้างบรรทัดฐานใหม่ทางการเมืองด้วยการกำจัดงูเห่า ไม่ให้นำความเสื่อมเสียมาสู่สภา ในข้อหาขัดหรือฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง การไม่ซื่อสัตย์ต่อประชาชน ไม่ซื่อสัตย์ต่อพรรคที่ตนเองสังกัด เข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์
นายชวลิต กล่าวอีกว่า จริงอยู่ การลงมติในสภาเป็นเอกสิทธิ์ของ สส.ตามรัฐธรรมนูญ แต่การไม่ร่วมกิจกรรมใดๆ กับพรรคซึ่งดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายพรรคการเมืองและข้อบังค้บพรรค ยกตัวอย่าง การไม่เข้าร่วมประชุมพรรคประจำสัปดาห์ ประจำเดือน ประชุมใหญ่สาม้ญประจำปี หรือประชุมวิสามัญ การสัมมนาพรรค นับเป็นการปฏิบัติที่เป็นปฏิปักษ์กับพรรค ไม่ร่วมกันสร้างพรรคให้มีความเข้มแข็งเป็นสถาบันทางการเมืองในฐานะที่เป็นสมาชิกพรรค และการเป็น สส.ของพรรค แต่ไม่ร่วมกิจกรรมใดๆ กับพรรคโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ย่อมเป็นการไม่ซื่อสัตย์ต่อประชาชน ไม่ซื่อสัตย์ต่อพรรคที่ตนเองสังกัด
นายชวลิต กล่าวอีกว่า จึงหวังที่จะเห็น ป.ป.ช.ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ทางการเมืองด้วยการกำจัดงูเห่า ให้พ้นจากสภา ในข้อหาขัดหรือฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อสภา ว่าต่อไปในสภาจะมี สส.ที่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ต่อประชาชน ต่อพรรค และต่อประเทศชาติ ทั้งนี้ พรรคจะประสานงานกับ ป.ป.ช. อย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเอกสาร ข้อมูลประกอบการพิจารณาของ ป.ป.ช. เพิ่มเติมต่อไป